ใช้เวลาบนโลกออนไลน์ “มากเกินไป” ส่งผลอย่างไรกับตัวเรา

ที่มา : SOOK Magazine No.65


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ใช้เวลาบนโลกออนไลน์


ผลสำรวจจาก BBC Future 2018 ระบุว่า จำนวนชั่วโมงการใช้งานบนโลกออนไลน์มากเกินไป ไม่สามารถชี้วัดเป็นตัวเลขได้ เนื่องจาก ผลที่ได้แตกต่างกันในแต่ละบุคคล การใช้งาน 2-3 ชั่วโมงต่อวันอาจมากสำหรับบางคน แต่อาจเป็นเรื่องปกติของคนที่ต้องใช้งานออนไลน์ตลอดทั้งวัน


ดังนั้นคำว่ามากเกินไปจึงพิจารณาจากผลเสียที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาที่เกิดกับร่างกายด้านต่าง ๆ หรือปัญหาต่ออารมณ์และกระบวนการคิด อย่างไรก็ตามสำหรับการใช้งานสื่อโซเชียลในวัยรุ่น มีผลวิจัยของ แซมปาซา แคนยิงกา จาก Department of Epidemiology, Ottawa Public Health ประเทศแคนาดา ระบุว่าการใช้งานออนไลน์อย่างต่อเนื่องนาน 2 ชั่วโมง มีผลต่อสุขภาพของผู้ใช้งาน


ด้านร่างกาย


1. ปัญหาด้านสายตา


ทั้งการใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ล้วนทำให้เกิดปัญหาตาล้าเนื่องจากใช้สายตาในการเพ่งมองหน้าจอมากเกินไป นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดปัญหาตาแห้งเป็นต้อลม และนัยน์ตาแพ้แสงได้ รวมถึงปัญหาสายตาสั้นในเด็ก


2. ปวดศีรษะ


ไม่เพียงแต่ปัญหาด้านสายตา แต่การเพ่งมองหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป ยังทำให้เกิดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ ที่เกี่ยวกับประสาทสัมผัสในส่วนต่าง ๆ จนนำไปสู่อาการปวดศีรษะ รวมถึงกระตุ้นการเกิดโรคไมเกรน


3. ปัญหากล้ามเนื้อคอและหลัง


การนั่งในท่าทางเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดปัญหาปวดกล้ามเนื้อบริเวณหลัง ซึ่งอาจลามไปถึงปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง และการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณลำคอและไหล่


4. อาการนิ้วล็อก


ปัญหานิ้วล็อกเป็นภัยใกล้ตัวที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้งานนิ้วหัวแม่มือ หรือข้อมือในลักษณะซ้ำเดิมมากเกินไป ส่งผลให้เส้นเอ็นทับเส้นประสาท ข้อมือ ซึ่งจะทำให้มีอาการมือชาและนิ้วล็อก หรืออาจทำให้เกิดการอักเสบของข้อมือและนิ้วมือ


5. การทำงานของสมอง


ผลการศึกษาที่ได้จากการตรวจวัดไฟฟ้าคลื่นสมองของคนที่มีการใช้งาน โดยการเพ่งมองอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป จะส่งผลต่อการทำงานของสมองกลีบหน้า (Frontal lobe) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว การออกเสียง ความคิด ความจำ สติปัญญา


6. ปัญหาในการนอนหลับ


การใช้งานอุปกรณ์สื่อสารภายในห้องที่มีดหรือช่วงเวลาก่อนเข้านอน ส่งผลต่อระบบการนอนหลับ เนื่องจากแสงสีฟ้าจากหน้าจอที่ส่งออกมา จะขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนินที่เปรียบเหมือนนาฬิกาชีวภาพ ทั้งยังกระตุ้นให้ร่างกายเข้าใจว่าเป็นเวลาของการตื่นนอน ผลที่ตามมาจึงทำให้เกิดอาการนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ โรคปอด โรคไต หรือแม้แต่ปัญหาด้านการควบคุมน้ำหนัก


ด้านจิตใจ


1. โรคซึมเศร้า


ผลการวิจัยของศาสตราจารย์อีธาน ครอส ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา จาก University of Michigan ที่สำรวจพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ระบุว่าแม้ยอด Like หรือฟีดแบ็ก ที่เป็นบวกในโลกออนไลน์ จะช่วยเพิ่มสารโดพามีนที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ก็จริง แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ความรู้สึกดีดังกล่าวนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งในระยะยาวกลับทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้าแทนได้ หากไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงผู้ใช้งานยังเกิดความคาดหวังที่จะได้รับการตอบสนองจากผู้อื่นอย่างทันทีทันใดมากจนเกินไป (โดพามีน คือสารเคมีในสมองที่หลั่งออกมาในยามที่เรารู้สึกดี มีความสุข ช่วยส่งผลต่ออารมณ์ให้รู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิมากขึ้น)


2. ขาดความมั่นใจในตนเอง


การเสพข้อมูลข่าวสารหรือรับรู้เรื่องราวของคนอื่นในโลกโซเชียลมีเดีย มากเกินไปยังก่อให้เกิดพฤติกรรมการเปรียบเทียบ ส่งผลให้มีความมั่นใจในตนเองน้อยลง รู้สึกว่าชีวิตของตนเองด้อยกว่าผู้อื่น และอาจนำไปสู่อาการซึมเศร้าได้


3. สมาธิสั้น


มีผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ระบุว่า การใช้อุปกรณ์สื่อสารการใช้งานสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์การสื่อสารมากเกินไป ก่อให้เกิดอาการที่คล้ายคลึงกับคนเป็นโรคสมาธิสั้น คือ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน และส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการใช้สมาธิในการทำงาน ส่วนผลสำรวจจากบริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศ แคนาดา ยังรายงานว่า คนในปัจจุบันมีสมาธิในการจดจ่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เฉลี่ยราว 8-12 วินาที ซึ่งสั้นกว่าปลาทองที่มีสมาธิในการให้ความสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งราว 9 วินาที


ด้านการเข้าสังคม


1. ทักษะการเข้าสังคมต่ำ


ปัญหาด้านการมีทักษะในการเข้าสังคมต่ำเช่นนี้ มักเกิดกับผู้ใช้งานที่ยังเป็นเด็กหรืออยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งมีพฤติกรรมการสื่อสารกับบุคคลอื่น ๆ โดยผ่านการใช้งานสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์การสื่อสารเป็นหลัก คนกลุ่มนี้มักหลีกเลี่ยงการพูดคุยในรูปแบบการเผชิญหน้า หรือการอยู่ในสถานที่ที่จำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกับผู้คนเป็นจำนวนมาก และจะสบายใจกว่าหากการสื่อสารนั้นเป็นไปในรูปแบบของการส่งข้อความ


2. ภาวะโดดเดี่ยว


ผลที่เกิดตามมาจากการหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมคือ ภาวะที่รู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยก ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้สามารถนำไปสู่ภาวะของโรคซึมเศร้าได้ หากทิ้งไว้นานเกินไปน่าจะมีผลกระทบต่อครอบครัว รวมถึงแม่ที่ติดโซเชียล ซึ่งส่งผลต่อการเลี้ยงลูกโดยให้เด็กใช้อุปกรณ์ สื่อสาร ฯลฯ


ทุกสิ่งทุกอย่างมีทั้งคุณและโทษในตัวมันเอง โลกออนไลน์ก็เช่นกัน ถ้าใช้ให้พอดีก็จะเกิดคุณ ถ้าใช้อย่างไม่ประมาณตนก็จะเกิดโทษ

Shares:
QR Code :
QR Code