‘เหล้า-บุหรี่-อ้วน’ ปัจจัยเสี่ยง เสียสุขภาพดี
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
พบคนไทยสูญเสียปีสุขภาพดีร่วมกัน 15.3 ล้านปี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ โรคอ้วน นับเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการ "เปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์ภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย" ซึ่ง ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หน.แผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบาย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้เปิดเผยผลศึกษาภาระโรคของประชากรไทยในปี 56ว่า จากการประเมินภาระโรคซึ่งเป็นตัววัดการสูญเสียด้านสุขภาพหรือ "ปีสุขภาวะที่สูญเสีย" อันเป็นดัชนีชี้วัดสถานะสุขภาพที่เป็นมาตรฐานของประชากร ประกอบด้วย วัดความสูญเสียจากการตายก่อนวัยอันควร และความสูญเสียจากการมีชีวิตอยู่ด้วยความพิการหรือบกพร่องทางสุขภาพ
จากการศึกษาความสูญเสียปีสุขภาวะของประชากรไทยล่าสุดปี 56 และวิเคราะห์เพื่อแปลผลในปี 59 พบคนไทยสูญเสียปีสุขภาพดีร่วมกัน 15.3 ล้านปี โดยตายก่อนวัยอันควร 10 ล้านปี ต้องอยู่อย่างเจ็บป่วยพิการ 5.3 ล้านปี ซึ่งมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจะสูงถึง 930,053 ล้านบาท หรือ7.2% ของจีดีพีประเทศ โดยมีโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดโรคเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ อ้วน
สำหรับสาเหตุหลักของการสูญเสียจำนวนปีแห่งการมีสุขภาพที่ดีในเพศชาย 3 อันดับแรกคือ อุบัติเหตุถนน, ดื่มแอลกอฮอล์,โรคหลอดเลือดสมอง เพศหญิง 3 อันดับแรกคือ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานโรคซึมเศร้า