เช็กอาการ! ปวด “ข้อเท้า” แบบไหนควรรีบพบแพทย์

ที่มา : พญ.พีรดา เอื้อเชิดกุล ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ปกข่าว เช็กอาการ! ปวด "ข้อเท้า" แบบไหนควรรีบพบแพทย์

                    ปัจจุบันอาชีพนักเต้นกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งการเต้นเป็นงานอดิเรกหรือการเต้นระดับมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นักเต้นโคฟเวอแดนซ์ นักเต้นแบ็กอัพศิลปิน ศิลปิน ไปจนถึงครูสอนเต้น และหนึ่งในอาการที่นักเต้นเหล่านี้มักพบเจออยู่บ่อยครั้งนั่นก็คืออาการ “ปวดข้อเท้า” และหากปล่อยปละละเลยไม่มีการรักษาหรือปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมด้วยท่วงท่าที่ถูกต้องหรือการวอร์มร่างกายที่เหมาะสม ก็อาจจะลามไปยังร่างกายส่วนอื่นจนทำให้เกิดอาการที่รุนแรงได้

                    สาเหตุหลัก ๆ ของอาการเกิดจากรูปแบบหรือธรรมชาติของ “การเต้น” ที่มีลักษณะการปรับท่าทางของร่างกายแตกต่างจากการที่เรายืนหรือเดินตามปกติ มีการเปลี่ยนท่วงท่าของร่างกายที่หลากหลายมากขึ้นอีกทั้งยังมีการปรับจังหวะให้รวดเร็วตามจังหวะเพลงอีกด้วย

                    ด้วยธรรมชาติของการเต้นเหล่านี้ทำให้ร่างกายต้องรับน้ำหนักและแรงกระแทกที่มากกว่าปกติ และส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ “ข้อเท้า” เพราะเป็นเหมือนฐานที่ช่วยรักษาสมดุลของร่างกาย และเมื่อเราเต้นเป็นเวลานาน ๆ ข้อเท้าของเราก็จะมีอาการปวดเมื่อยสะสมมากขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว จนเกิดเป็นอาการที่รุนแรงได้ในที่สุด

  • ไม่ปรับพฤติกรรมจะเกิดอะไร?

                    ถ้ามีอาการปวดเมื่อยข้อเท้าแต่ก็ยังคิดว่าเป็นอาการปวดเมื่อยธรรมดาแล้วฝืนเต้นต่อไป ความอ่อนล้าที่เกิดขึ้นกับข้อเท้าอาจจะส่งผลทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ข้อเท้าพลิก ซึ่งก็จะมีโอกาสทำให้เกิดอาการบาดเจ็บของเอ็นกล้ามเนื้อรอบข้อเท้าได้

                    ถ้าหากอาการปวดเมื่อยเรื้อรังไม่ได้รับการรักษาก็จะส่งผลให้มีโอกาสเกิดอาการข้อเท้าพลิกง่ายขึ้น ข้อเท้าไม่มั่นคง ทำให้ข้อเท้าอักเสบหรือว่าข้อเท้าเสื่อมเร็วกว่าอายุเราได้นั่นเอง

  • เจ็บข้อเท้าในลักษณะไหน ควรปรึกษาแพทย์

                    หากการเจ็บข้อเท้าเกิดขึ้นจากการใช้งานตามธรรมดา ไม่ได้เกิดจากการใช้งานหนัก หรือมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุหรือกระดูกหัก โดยปกติแล้วหากดูแลตัวเองด้วยการประคบเย็นอยู่เสมอ อาการเจ็บข้อเท้าควรจะค่อยๆ บรรเทาลงภายในเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่หากมีอาการต่างๆ เหล่านี้ร่วมด้วย แนะนำว่าควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

  • รู้สึกปวดข้อเท้ามากจนไม่สามารถลงน้ำหนักได้เป็นเวลานานกว่า 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป
  • ไม่สามารถขยับหรือกระดกข้อเท้าขึ้นหรือลงได้
  • ข้อเท้าบวมมากในช่วงเริ่มแรก และเมื่อเวลาผ่านไปก็ดูเหมือนยังไม่ดีขึ้น
Shares:
QR Code :
QR Code