องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
ความหวังของภาคประชาชน!!
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2552 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ มีการประชุมนัดสำคัญว่าด้วยเรื่องขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ในวันนั้นมีผู้เข้าประชุมทั้งสิ้นจำนวน 700 คน ผู้เข้าประชุมประกอบด้วยผู้แทนเครือข่ายผู้บริโภค ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคคีเครือข่ายนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และประชาชนผู้สนใจ ผู้เข้าประชุมได้ร่วมกันพิจารณาความสำคัญ และเหตุผลของการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามมาตรา 61 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
โดยเห็นร่วมกันว่า กฎหมายนี้มีความสำคัญทั้งตามเหตุผลที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และรัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้ดำเนินการภายในหนึ่งปี หลังรัฐบาลชุดแรกภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศนโยบายตลอดจนเป็นนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาที่จะดำเนินการให้สำเร็จ
การประชุมครั้งนี้ คุณสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) และผู้รับผิดชอบกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้เสนอให้เร่งรัดการดำเนินการในเรื่องนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาความแตกต่างของบทบัญญัติจากร่างกฎหมายฉบับรัฐบาลที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และร่างกฎหมายฉบับประชาชนที่ได้นำเสนอต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 โดยบทบัญญัติมีความแตกต่างที่สำคัญอยู่หลายประการซึ่งมีประเด็นสำคัญ เช่น
– เรื่องความเป็นอิสระในการดำเนินการขององค์การอิสระผู้บริโภค เช่น ผู้รักษาการตามกฎหมายแหล่งที่มาของงบประมาณ หรือรายได้ของสำนักงาน ฯลฯ
– อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ตามมาตรา 10 ซึ่งร่างกฎหมายฉบับรัฐบาลให้อำนาจเฉพาะตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะที่ร่างกฎหมายฉบับประชาชนให้ความสำคัญกับอำนาจหน้าที่ที่จำเป็นในการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และให้บทบาทรองรับการทำหน้าที่ในการให้ความเห็น เช่น การทำงานวิจัยศึกษาปัญหา รวมทั้งมีบทบาทในการทำงานแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบันร่วมกับองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนและเครือข่ายในระดับจังหวัด
– หน่วยงานรับผิดชอบก่อนจะจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ยังมีความแตกต่างกันโดยร่างของภาคประชาชนได้เสนอให้สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภคทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ จัดกระบวนการและให้มีการเลือกกันเองเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการองค์การอิสระ
ขณะที่ร่างของรัฐบาลให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทำหน้าที่เป็นองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคชั่วคราว และมีคณะกรรมการสรรหาจำนวน 7 ท่านทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และตรวจสอบคุณสมบัติองค์กร และให้ผู้แทนองค์กรผู้บริโภคคัดเลือกกันเอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update 09-06-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก