สสส.-ภาคีเครือข่าย ย้ำ แนวคิด “อิ่ม..และ..ดี 2030” สร้างเส้นทางพัฒนาต้นแบบระบบอาหารยั่งยืน 5 ด้าน

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

ปกข่าว สสส.-ภาคีเครือข่าย ย้ำ แนวคิด “อิ่ม..และ..ดี 2030” สร้างเส้นทางพัฒนาต้นแบบระบบอาหารยั่งยืน 5 ด้าน

                    วิกฤติสภาพอากาศสุดขั้ว ‘Extreme Weather’ ภัยแล้ง ไฟไหม้ น้ำท่วม ซ้ำ สภาวะโลกเดือด ส่งผลระบบเกษตรและอาหารหยุดชะงัก ก.เกษตรฯ-สสส.-FAO สานพลัง จัดเวที “พลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารไทย สู่อนาคตที่ยั่งยืน” ย้ำ แนวคิด “อิ่ม..และ..ดี 2030” 5 ด้าน มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมวางแผนตั้งแต่ต้นทาง ลดผลกระทบระบบเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาวะ เตรียมนำเสนอจุดแข็งและนวัตกรรมของไทยต่อเวทีโลก 27-29 ก.ค. นี้

                    เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 21 ก.ค. 2568 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “พลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารไทย สู่อนาคตที่ยั่งยืน (Thailand Pathway for Food and Agriculture Systems Transformation) : อิ่ม..และ..ดี..2030” เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลการดำเนินงานระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน พร้อมแนวทางปฏิบัติการเชิงพื้นที่ขับเคลื่อนระบบเกษตรและอาหารตลอดห่วงโซ่ เพื่อนำไปเป็นแนวทางกำหนดมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร สร้างความมั่นคงทางอาหารของประชาชน และเสริมศักยภาพของประเทศ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เข้าร่วมกว่า 30 หน่วยงาน

นายถาวร ทันใจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

                    นายถาวร ทันใจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การพลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารของประเทศสู่ความยั่งยืน ถือเป็นความท้าทายและโอกาสที่สำคัญในช่วงเวลาที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติที่เกิดจากสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ทั้งภัยแล้งรุนแรง ขาดแคลนน้ำ ไฟไหม้ น้ำท่วม วาตภัย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตพืชผลทางการเกษตร นำไปสู่การหยุดชะงักหรือทำให้มีผลผลิตในห่วงโซ่อุปทานอาหารน้อยลง ส่งผลให้ราคาอาหารปรับเพิ่มสูงขึ้น หากไม่เร่งแก้ไขอาจทำให้เด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ การจัดงาน ครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พัฒนาองค์ความรู้เชิงระบบ และข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีคุณค่า ต่อยอดผลลัพธ์จากงานวิจัย และกระบวนการวิจัยที่มีระบบและขั้นตอนที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อใช้ข้อมูลเป็นฐานจัดทำแผน “Thailand National Pathway” เชื่อมโยงแนวทางจาก UN Food Systems Summit (UNFSS) สู่การนำไปใช้ขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ ในการนี้ ก.เกษตรฯ ในฐานะผู้ประสานงานระดับชาติ (National Convenor) จะนำเสนอและรายงานความก้าวหน้าในการประชุม UNFSS+4 ในวันที่27–29 ก.ค. 2568 ณ เมืองแอดดิสอาบาบา เอธิโอเปีย เพื่อทบทวนความก้าวหน้าในการดำเนินงานระดับชาติ และสื่อสารจุดแข็งและนวัตกรรมของไทยต่อเวทีโลก

ภาพข่าว เวที “พลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารไทย สู่อนาคตที่ยั่งยืน”

                    นายถาวร กล่าวต่อว่า เส้นทางสู่การพัฒนาต้นแบบระบบอาหารที่ยั่งยืนของไทย “อิ่มและดี 2030” 5 ด้าน 1. “อิ่ม ดี ถ้วนหน้า” เข้าถึงอาหารปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ 2. “อิ่ม ดี มีสุข” ปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อความยั่งยืน 3. “อิ่ม ดี รักษ์โลก” ส่งเสริมระบบการผลิตที่เพียงพอและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4. “อิ่ม ดี ทั่วถึง” ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่เสมอภาค เท่าเทียม 5. “อิ่ม ดี ทุกเมื่อ” สร้างระบบที่มีความยืดหยุ่นปรับตัวได้ในทุกวิกฤติ กษ. มุ่งยกระดับระบบเกษตรและอาหารไทยให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามกรอบนโยบาย 5 ข้อ 1. พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ ทำงานเชิงรุก สร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ 2. จัดการทรัพยากรและความเสี่ยง ดูแลที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร ทั้งบริหารจัดการน้ำ และเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติ 3. ยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง จัดหาตลาด สร้างมูลค่าตราสินค้าชุมชน 4. เสริมศักยภาพเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เสริมวินัยทางการเงิน และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 5. ปกป้องตลาดและสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการค้า รวมถึงส่งเสริมการขายออนไลน์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

                    ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต้นแบบระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยสานพลังภาคีเครือข่ายร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเพิ่มการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุลให้กับประชาชน ภายใต้วัตถุประสงค์ 3 ข้อ 1. ส่งเสริมให้เกิดความรอบรู้และบูรณาการความร่วมมือหนุนเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะด้วยระบบอาหารที่ยั่งยืน ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ 2. ส่งเสริมระบบตลาดอาหารปลอดภัยในชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน ชุมชน 3. ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ สื่อสารรณรงค์สังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพ

                    ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากความร่วมมือของ สสส. และภาคีเครือข่าย คือ การผลักดันกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศห้ามขึ้นทะเบียนพาราควอต คลอไพรีฟอส และจำกัดการใช้ไกรโฟเซต ร่วมกับ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2563 ซึ่งนอกจากจะทำให้สารเคมีตกค้างในพืชผลลดลงเกือบเป็นศูนย์ ยังส่งผลให้อัตราผู้เจ็บป่วยจากสารเคมีลดลง จาก 22.75 คนต่อแสนประชากร ในปี 2560 เหลือ 8.72 คนต่อแสนประชากรในปี 2566 หรือ 2.6 เท่า ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขจากโรคที่เกิดจากสารเคมีทางการเกษตรกว่า 9 พันล้านบาท ซึ่งการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมเทคนิคการผลิตในกลุ่มเกษตรกรเป็นสิ่งสำคัญ หากเกษตรกรทั่วโลกมีความสามารถในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยได้เพิ่มขึ้น 9% ต่อปี หรือ 50–150% ภายในปี 2583 จะช่วยให้ประชากร 1 หมื่นล้านคนสามารถเข้าถึงและบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้อย่างยั่งยืน

เวที “พลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารไทย สู่อนาคตที่ยั่งยืน”

                    “ความสำเร็จที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องสานพลังทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับชาติ ถึงระดับท้องถิ่น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านอาหารในระยะยาว ส่งต่อผลผลิตที่มีคุณภาพและความปลอดภัยจากเกษตรกรในชุมชนไปสู่การบริโภคของประชาชนเพื่อสุขภาวะที่ดี รวมถึงการสื่อสารสร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีพฤติกรรมใส่ใจสิ่งแวดล้อม บริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะอย่างสมดุล นำไปสู่การลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารได้ในอนาคต” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ภาพข่าวเวที “พลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารไทย สู่อนาคตที่ยั่งยืน”

Shares:
QR Code :
QR Code