สสส.-ภาคีฯ เดินหน้า “สร้างสุขในไซต์งานสู่เมืองยั่งยืน” ลดความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงความเป็นธรรมทางสุขภาพ
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
คนงานแคมป์ก่อสร้าง อ่วม สุขอนามัยต่ำ-เสี่ยงโรคร้าย ซ้ำ เข้าไม่ถึงความเป็นธรรม-บริการด้านสุขภาพ สสส.-กทม.-มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก-ภาคี สานพลังเดินหน้า “สร้างสุขในไซต์งานสู่เมืองยั่งยืนสำหรับทุกคน” มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพกลุ่มประชากรข้ามชาติ รองปลัด กทม. แนะจัดตั้งทีมแก้ปัญหา ร่วมสร้าง Healthy City เมืองสุขภาพดีสำหรับทุกคน
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับทุกคนบนแผ่นดินไทยให้มีวิถีชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม และมีสุขภาวะที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิและการบริการสุขภาพ จึงร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมนำเสนอนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานข้ามชาติในแคมป์พักก่อสร้าง “สร้างสุขในไซต์งานสู่เมืองยั่งยืนสำหรับทุกคน (From Construction Camps to Sustainable Cities For All)” สอดรับเป้าหมายการสร้างเสริมสุขภาพประชากรข้ามชาติ ปี 2566-2570 มุ่งเน้นการสนับสนุนให้ประชากรข้ามชาติเข้าถึงความเป็นธรรมทางสุขภาพ โดยมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชนเข้าร่วม 11 บริษัท
“สสส. มีบทบาทในการสนับสนุนสุขภาวะประชากรข้ามชาติ 5 ประเด็น 1.สนับสนุนองค์ความรู้ ร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย สำรวจสถานการณ์สุขภาพแรงงาน 4 สัญชาติ นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ 2.ผลักดันนโยบาย 1 อาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ 1 โรงงาน 3.สนับสนุนเครือข่ายขับเคลื่อนผ่านคณะทำงานสุขภาพผู้โยกย้ายถิ่นฐาน (Migration Health sub-Working Group – MHWG) มากกว่า 18 องค์กรทั้งหน่วยงานในไทยและระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดเอกภาพในการดำเนินงาน 4.พัฒนาศักยภาพแกนนำ อาทิ อาสาสมัครแรงงานต่างด้าว (อสต.) อาสาสมัครชาติพันธุ์ เป็นแกนนำสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพ กว่า 2,000 คน ในพื้นที่ 21 จังหวัด 5.จัดการพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความปลอดภัย รวมถึงลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ ทั้งในสถานประกอบการ ชุมชน แคมป์ก่อสร้าง ตลาด ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
นายสุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นย้ำให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี และให้ความสำคัญในเรื่องของสาธารณสุขและการศึกษาของทุกคนในพื้นที่ กทม. ซึ่งแรงงานข้ามชาติในแคมป์ก่อสร้างเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยในเมืองเพิ่มมากขึ้น จึงต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการดูแลด้านสุขภาพ กทม. มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน และเสนอให้ควรจัดตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ เพื่อติดตามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงติดตามข้อมูลการสำรวจตรวจสุขภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติในแคมป์ก่อสร้าง เพื่อทำให้ กทม. เป็นเมือง Healthy City เมืองสุขภาพดีสำหรับทุกคนต่อไป
นายธณดล ฉันทะธาดาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลลัพธ์ทางสังคมเชิงระบบ มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก กล่าวถึง การสำรวจแรงงานข้ามชาติ เดือน เม.ย. 2568 จำนวน 4,152,886 คน เป็นแรงงานภาคการก่อสร้าง 1,026,150 คน และในจำนวนนี้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ 943,357 คน พบมีอัตราการเสียชีวิตของแรงงานก่อสร้างสูงที่สุด เฉลี่ย 15-20 รายต่อปี ที่สำคัญพบว่าแคมป์ก่อสร้างประเภทแคมป์ชั่วคราวในไซต์งาน 60% สุขอนามัยไม่ดี พื้นที่แออัด ไม่มีระบบระบายน้ำทิ้ง ไม่มีถังขยะแยกประเภท ห้องน้ำไม่ถูกสุขอนามัย ไม่แยกชายหญิง เกิดโรคที่พบบ่อยในกลุ่มของแรงงานข้ามชาติ คือ โรคมือเท้าปาก วัณโรค และท้องร่วง ซึ่งกลุ่มแรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ทำให้เข้าไม่ถึงระบบบริการทางสุขภาพ หากได้รับการคุ้มครองสิทธิทางสุขภาวะ จะทำให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีสุขภาวะดีองค์รวม