มือปราบหน้าใส หัวใจไร้แอลกอฮอล์

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้กลายเป็นเสมือนหนึ่งในเครื่องดื่มแก้กระหายที่พบเห็นและหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าทั่วไป  และมีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่พึงพอใจในรสชาดของมัน  แม้จะรู้ว่าเมื่อบริโภคเป็นจำนวนมากจะเกิดผลเสียต่อร่างกาย  ทั้งจากอาการมึนเมาจนควบคุมสติและร่างกายของตัวเองไม่ได้  หรืออาจเสียชีวิตหากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดมากเกินไป  และจะต้องเสียชีวิตจากโรคตับแข็งเมื่อดื่มสะสมเป็นระยะเวลานานหลายปี  แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้นักดื่มเกรงกลัวแต่อย่างใด 

 

มือปราบหน้าใส  หัวใจไร้แอลกอฮอล์

รัฐบาลไทยโดยการผลักดันและกดดันจากคนหลายกลุ่ม   ที่เห็นว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น่าจะจัดอยู่ในหมวดหมู่ของสิ่งเสพติดชนิดหนึ่ง  เพราะเมื่อเสพแล้วให้ผลคล้ายกัน  การจำหน่าย และการเสพน่าจะเป็นสิ่งผิดกฎหมายเหมือนยาเสพติดประเภทอื่นๆ  ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551  มีข้อห้ามหลายอย่างเกี่ยวกับการจำหน่าย  และจำกัดสถานที่ดื่ม  และก็ได้ผลในระดับหนึ่ง  มาถึงวันนี้นับเป็นเวลากว่า 2 ปีที่ พรบ.มีผลบังคับใช้  ซึ่งหากพูดกันแบบตรงไปตรงมาเรียกได้ว่า  กฎหมายอาจสร้างความลำบากในการดื่มมากขึ้น  แต่ไม่ได้ลดจำนวนของนักดื่มลงเลย  นั่นแสดงให้เห็นว่าหยาดเหงื่อและความทุ่มเทของคนที่ทำงานผลักดันกฎหมายฉบับนี้  ยังไปไม่ถึงดวงดาวเพราะยังไม่บรรลุเจตนารมณ์ขั้นสูงสุดคือ การเลิกเหล้า

 

คนชนบทหลายคนได้ยึดถือการดื่มสุราให้เป็นวิถีหนึ่งในชีวิตของตัวเอง  ชาวบ้านบางคนขายแรงงานได้วันละไม่กี่สิบบาท  เพื่อนำมาเป็นค่าเหล้า  หลายครอบครัวต้องสูญเสียช้างเท้าหน้าและบุตรหลานของพวกเขาไป  จากการดื่มสุราจนนำไปสู่การเสียชีวิตในหลายๆสาเหตุ  นี่คือความจริงที่ยังเกิดขึ้นกับสังคมไทย

 

มือปราบหน้าใส  หัวใจไร้แอลกอฮอล์

การทำให้คนเลิกเหล้าได้เองน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด  หากคิดจะลดจำนวนนักดื่มลง  แนวคิดนี้มีคนหลายกลุ่มหลายองค์กร  พยายามที่จะทำให้เป็นจริง  แต่ก็ต้องยอมจำนนให้กับดีกรีที่อยู่ในขวด  ทำให้ วิทยา  บุญฉวี  ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดอุบลราชธานี  ต้องหาวิธีการใหม่ที่จะต่อสู้กับน้ำเพชฌฆาต  เขาต้องลงไปฝังตัวที่บ้านนาห้าง  ชุมชนเล็กๆ เรียบลุ่มน้ำโขง  อำเภอโพธิ์ไทร  จ.อุบลฯ  นานแรมปี  เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย   หากแต่กลุ่มที่ว่ากลับไม่ใช่นักดื่มที่คนทำงานด้านนี้น่าจะต้องจู่โจมเป็นอันดับแรก  แต่กลุ่มเป้าหมายของเขาก็คือ  เด็กๆในชุมชน 

 

            วิธีการของวิทยาไม่ได้ไปพูดเรื่องการงดเหล้าแม้แต่น้อย  เขาใช้วิธีการมีส่วนร่วมในชุมชน  เริ่มจากเด็กๆที่ต้องศึกษาเรียนรู้รากเหง้าของตัวเอง  รื้อฟื้นสื่อชุมชนอย่างการร้องสรภัญญะคืนกลับมา  หรืออะไรก็ตามที่จะทำให้พวกเด็กๆได้ค้นพบตัวตนของตัวเอง  ทำให้ไม่ยากเลยที่จะชักชวนผู้ใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย  หรือแม้กระทั่งผู้นำชุมชนเองก็ยังอยากที่จะเข้ามาดูว่าลูกหลานทำอะไรกัน  นั่นจะเข้าทางของวิทยาทันที  เขาใช้โอกาสนี้ค่อยๆเติมเรื่องพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านลูกหลานของชาวบ้านเอง  มันเป็นวิธีที่แสนคลาสสิก  ง่ายๆแต่ได้ผล  ผู้ใหญ่อายเด็ก  หลายคนเลิกเหล้าได้เอง  ทำให้ปัจจุบันชุมชนแห่งนี้กลายเป็นชุมชนปลอดเหล้าและได้รับการยกย่องจากองค์กรอื่นว่าเป็นโครงการที่ทำได้จริง

 

มือปราบหน้าใส  หัวใจไร้แอลกอฮอล์

            การรณรงค์งดเหล้าผ่านเด็กๆจึงเป็นยุทธวิธีที่ วิทยา  บุญฉวี  ใช้มาจนถึงทุกวันนี้  ซึ่งเขาพยายามหาแนวทางใหม่ๆเข้ามาประยุกต์เพื่อขยายผลการทำงาน  เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา  เขาได้ร่วมกับ เครือข่ายละครรณรงค์งดเหล้า(ดีดี๊ดี) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)เปิดอบรมหลักสูตรทักษะการแสดงละครให้กับเยาวชนจากหลายพื้นที่ของจังหวัดอุบลฯประมาณ 50 คน ที่อิงนภารีสอร์ทแอนด์สปา  อำเภอเมืองอุบลราชธานี น้องๆทั้งหมดเป็นแกนนำกลุ่มกิจกรรมขับเคลื่อนงานด้านงดเหล้าในโรงเรียน  ซึ่งหลังจากผ่านการอบรมครั้งนี้แล้ว  เด็กๆกลุ่มนี้จะกลับไปที่โรงเรียนและชุมชน  แล้วจะนำทักษะด้านละครไปประยุกต์ใช้ในงานการรณรงค์งดเหล้าของพวกเขาต่อไป

 

            วิทยา  บอกว่าตอนนี้มองเด็กและครูในโรงเรียนเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการเคลื่อนงานงดเหล้า  เพราะจากการวิเคราะห์ที่ผ่านมาพบว่าครอบครัวของเด็กไม่สามารถบอกหรือสอนลูกหลานได้แล้ว  เพราะส่วนใหญ่มัวยุ่งอยู่กับการทำมาหากิน  จึงไม่มีเวลาให้เด็กได้อย่างเต็มที่  จึงเกิดปัญหาขึ้นมากมาย  โดยเฉพาะการดื่มสุราในเด็กและเยาวชนที่เป็นนักดื่มหน้าใหม่นั้นมีเพิ่มขึ้น  ฉะนั้นโรงเรียนจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยดูแลเด็กได้  แต่หากไปบอกแบบบีบบังคับมากเกินไปเด็กก็ไม่ทำตาม  เราจึงต้องหากิจกรรมที่เหมาะสมกับเขามาเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  และต้องเป็นเชิงบวกด้วย  กิจกรรมละครก็เป็นเครื่องมือเหมือนกัน  วันนี้เรานำเด็กมาจาก 2 กลุ่มหลักๆ คือจากพื้นที่ ต.สำโรงซึ่งเป็นพื้นที่เดิมที่เราทำงานอยู่แต่เรื่องละครเป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขา  และอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มเยาวชนจาก ต.กาบิน  อ.กุดข้าวปุ้นและกลุ่มที่อยู่ในเมืองอันนี้เป็นกลุ่มใหม่ที่เราทำงานด้วย  คือเราอยากให้เด็กมีความหลากหลายมากขึ้น  ที่มาทั้งหมดนี้เป็นแกนนำทั้งนั้นพอกลับไปพื้นที่พวกเขาก็จะได้เอาตรงนี้ไปประยุกต์ใช้ต่อได้  ซึ่งนอกจากพวกเขาจะได้ในเรื่องของทักษะการเล่นละครแล้วสิ่งที่ได้โดยไม่รู้ตัวคือการฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์  สิ่งนี้สามารถนำไปใช้ทั้งในการดำเนินชีวิตและการเรียนได้

 มือปราบหน้าใส  หัวใจไร้แอลกอฮอล์

การขยายผลการทำงานของเครือข่ายองค์กรงดเหล้ายังไม่หยุดอยู่แค่นี้  วิทยา  บอกว่าหากจะให้ได้ผลดีต้องทำให้ยั่งยืนด้วย  เขาจึงสร้างทายาทในการทำงานขึ้นมาอีกในนาม เครือข่ายพลังเยาวชนรณรงค์เฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ จ.อุบลราชธานี  ด้วยเหตุผลที่ว่าเยาวชนคือวัยสร้างสรรค์สังคม เปี่ยมด้วยจินตนาการ และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  ซึ่งได้ศุกวสันต์  วงศ์ธนู  หรือบอม  เยาวชนผู้เคยร่วมอุดมการณ์ต่อต้านการดื่มสุราจากอำเภอพิบูลมังสาหาร มาเป็นผู้ประสานงานเครือข่าย ซึ่งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมาพวกเขาชักชวนเพื่อนๆ  น้องๆเยาวชนจากหลายๆที่มาได้กว่า 100 คน  จนแน่นห้องประชุมเล็กๆของวัดทุ่งศรีเมือง  พวกเขาคือสมาชิกของเครือข่ายที่จะกลับไปเฝ้าระวังภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ของตน  วันนี้พวกเด็กๆได้รับการติดอาวุธทางปัญญาโดยให้ความรู้ทั้งพิษภัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยังได้ฝึกฝนวิธีการทำสื่อหลายอย่าง  เช่น  การเขียนข่าว  การอ่านข่าว  การเป็นผู้ประกาศ  สิ่งเหล่านี้พวกเขาจะต้องใช้ในการทำงานเฝ้าระวัง

 

กิจกรรมทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในวิถีแห่งการต่อสู้กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนที่เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างและได้ผลงานเป็นรูปธรรมมากขึ้น  และมากกว่างานของผู้ใหญ่  ที่จัดขึ้นในวันเดียวกัน  โดยได้ออกมาประกาศเจตนารมณ์เรื่องการงดเหล้าบนเวทีใหญ่ยักษ์กลางทุ่งศรีเมือง  ท่ามกลางผู้เข้าร่วมจำนวนมากกว่าเด็กๆในห้องเล็กๆนี้หลายสิบเท่า  แต่หลังจากนี้ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 

การผลักดันนโยบายสาธารณะในการบังคับใช้ พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 กรณีสถานศึกษาเป็นเขตปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสร้างกระแสในพื้นที่ให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นภารกิจหลักที่เด็กๆจะต้องกลับไปทำงานหลังจากวันนี้ 

 

ที่มา:ทีมข่าว ศสอ.

 

 

update: 30-06-53

อัพเดตเนื้อหาโดย: คีตฌาณ์ ลอยเลิศ

Shares:
QR Code :
QR Code