ตั้งเป้าประกันสังคมปี62 คุ้มครองแรงงานทุกกลุ่ม

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


ตั้งเป้าประกันสังคมปี62 คุ้มครองแรงงานทุกกลุ่ม thaihealth


แฟ้มภาพ


กระทรวงแรงงานเดินหน้า "ประกันสังคมถ้วนหน้า" เร่งรัดขยายความคุ้มครองแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพ เข้าสู่การเป็น ผู้ประกันตนมาตรา 40 ภายในปี 62 เผยปี 61 เข้าระบบเพิ่มกว่า 3 แสนคน ตั้งเป้าขยับเพิ่มปีละ 1 ล้านคน


พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดงานวันคล้ายวันจัดตั้งสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ครบรอบ 28 ปีว่า กระทรวงแรงงาน มุ่งหวังให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนตามแนวคิดประกันสังคมถ้วนหน้า ปัจจุบันมีผู้ประกันตนในระบบกว่า 15 ล้านคน โดยในปี 2562 การดำเนินงานจะต้องเน้นหนักและเร่งรัดการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงาน นอกระบบทุกกลุ่มอาชีพ ให้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อการเข้าถึงหลักประกันทางสังคม สร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม ที่กำหนดให้มี สวัสดิการทางสังคมที่เหมาะสมกับคนทุกเพศ ทุกวัย ของรัฐบาล


"ขณะนี้มีแรงงานนอกระบบเข้ามาในกองทุนประกันสังคมแล้วกว่า 2.5 ล้านคน เฉพาะปี 2561 มีแรงงานนอกระบบเข้าระบบตามมาตรา 40 แล้วกว่า 3 แสนคนในทุกกลุ่มอาชีพ อาทิ แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้างประมาณ 113,777 คน จากเป้าหมาย 1 ล้านคน และในปีต่อๆ ไป ตั้งเป้าให้กลุ่มแรงงานนอกระบบเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 อีกปีละ 1 ล้านคน จนถึง 3-5 ล้านคน ในอนาคต"


พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า นโยบาย เร่งด่วน (Agenda Based) ของกระทรวงแรงงานประจำปีงบประมาณ 2562 ตามกลยุทธ์ก้าวกระโดด สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงสิทธิประโยชน์การประกันสังคม และปรับปรุงบริการทางการแพทย์เช่น เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีเข้ารับการผ่าตัดวันเดียวกลับ (One day Surgery) ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีรักษาโรคมะเร็ง ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีผู้ทุพพลภาพ ปรับปรุงมาตรฐานสถานพยาบาลที่ให้บริการพัฒนารูปแบบการให้บริการทางการแพทย์กับสถานพยาบาลต่างๆ ในรูปแบบใหม่เพื่อให้บริการผู้ประกันตนระดับพรีเมียมส่งเสริมและป้องกันโรคแก่ผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรให้ผู้ประกันตน ที่สิ้นสภาพได้รับสิทธิประโยชน์ไปอีก 6 เดือน (จากเดิมขาดสิทธิทันที)


ปฏิรูประบบประกันสังคม เพื่อรองรับเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปฏิรูประบบบำนาญ การปรับเพดานค่าจ้างปรับสูตรการคำนวณบำนาญ ประกันเงินบำนาญขั้นต่ำ (กรณีเสียชีวิตภายใน 5 ปี) ผู้รับบำนาญทำงานต่อได้สิทธิประโยชน์ 3 กรณี (เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย) ขยายอายุการรับบำนาญจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ขยายอายุผู้สมัครเป็นผู้ประกันตนในระบบจากเดิม 15-60 ปี เป็น 15 ปีขึ้นไป ขยายโอกาสในการรับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป การจ้างงาน ผู้สูงอายุเข้าทำงานกับสำนักงานประกันสังคมสำหรับบุคคลที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป บูรณาการภาคีเครือข่ายในการส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาแรงงานนอกระบบให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และในส่วนของการแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทนฉบับใหม่ จะส่งผลให้มีการขยายความคุ้มครองให้กับลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการทุกประเภทและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้างที่ประสบอันตรายอันเนื่องจากการทำงาน


ในส่วนของการให้บริการสำนักงานประกันสังคมได้มีการยกระดับการให้บริการผู้ประกันตน ในระบบ e-Service เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกันตนในรูปแบบที่หลากหลายทั้ง e-Service, Mobile Application, Social Media และ Web application ได้แก่ พัฒนาระบบ e-Service เพิ่มช่องทางการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ผ่านช่องทางต่างๆ เพิ่มขึ้น อาทิ ศูนย์บริการข้อมูล 1506 ร้านสะดวกซื้อ (7-11) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพิ่มช่องทางการชำระเงิน สมทบผ่านธนาคารและหน่วยบริการพัฒนารูปแบบการรับ-จ่าย เงินให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเงิน เพื่อก้าวสู่สังคมดิจิทัล โครงการ e-self Service สำหรับนายจ้างและผู้ประกันตน การบูรณาการ ระหว่างสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กับสำนักงานประกันสังคม การจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามนายจ้างมาขึ้นทะเบียนประกันสังคมโดยใช้ E-mail / SMS แทนการออกหนังสือ การยกเลิกการขอสำเนาเอกสารทางราชการ (Zerocopy)


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  กองทุนประกันสังคม ในปี 2534  มีผู้ประกันตน 2.92 ล้านคน เงิน 1,890 ล้านบาท  ในปี 2561 ผู้ประกันตน 15.59 ล้านคน เงิน 1.81 ล้านล้านบาท กองทุนเงินทดแทน ในปี 2534 ผู้ประกันตน 2.75 ล้านคน เงิน 4,610 ล้านบาท  ปี 2561 ผู้ประกันตน 10.38 ล้านคน เงิน 59,028 ล้านบาท


อนึ่ง สำหรับผู้ประกันตนตามาตรา 40 คือ บุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี บริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่เป็น ผู้ประกันตนมาตรา 33 ,มาตรา 39 ประกอบอาชีพอิสระ โดยมี 3 ทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 40  ประกอบด้วย ทางเลือกที่ 1 จ่าย 70 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนได้รับความคุ้มครอง 3 กรณี


คือ 1.กรณีประสบอันตรายหรือ เจ็บป่วยรับค่าทดแทนขาดรายได้  หากเป็นผู้ป่วยใน ชดเชยวันละ 300 บาท ผู้ป่วยนอก (แพทย์ระบุให้หยุดงาน 3 วันขึ้นไป) ชดเชยวันละ 200 บาท โดยการรับสิทธิผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกหยุดรวมกันไม่เกิน 30 วันต่อปี  ผู้ป่วยนอกหากหยุดไม่เกิน 2 วัน ได้ชดเชยวันละ 50 บาท (ไม่เกินปีละ 3 ครั้ง) 2.กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้รายเดือน 500-1,000 บาท (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาส่งเงินสมทบของ ผู้ประกันตน) ได้รับเป็นระยะเวลา 15 ปี เสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท 3.กรณีเสียชีวิต  ผู้จัดการศพ ได้รับเงินค่าทำศพ 20,000 บาท และกรณีจ่ายเงินสมทบครบ60 เดือนก่อนเสียชีวิต ได้เงินเพิ่มอีก 3,000 บาท


ทางเลือกที่ 2 จ่ายสมทบ 100 บาทต่อเดือน ทางเลือกนี้จะเพิ่มความคุ้มครองจากทางเลือกที่ 1 คือ ในกรณีชราภาพ ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกเบี้ย  โดยสะสมเงินออมเดือนละ 50 บาท(ได้รับเงินเมื่ออายุครบ 60 ปีและสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน) และผู้ประกันตนจ่ายเงินออมเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท


และ ทางเลือกที่ 3 จ่ายสมทบ 300 บาทต่อเดือน โดยคุ้มครอง 5 กรณี ได้แก่ 1.กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รับค่าทดแทนขาดรายได้  โดยหากเป็นผู้ป่วยใน รับ 300 บาทต่อวัน  ผู้ป่วยนอกที่แพทย์ให้หยุดเกิน 3 วัน ชดเชยวันละ 200 บาท โดยการรับสิทธิผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกหยุดรวมกัน ไม่เกิน 90 วันต่อปี  2.กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาทต่อเดือน โดยได้รับตลอดชีวิต (จำนวนเงินที่ได้รับจะขึ้นกับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบ) หากเสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท


3. กรณีเสียชีวิต ได้รับเงินค่าทำศพ 40,000 บาท 4.กรณีชราภาพได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล (ได้รับเงินเมื่ออายุครบ 60 ปีและสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน) โดยสะสมเงินออกเดือนละ 150 บาท  หากจ่ายเงิน สมทบครบ 180 เดือนรับเงินเพิ่ม 10,000 บาท  ซึ่งผู้ประกันตนจ่ายเงินออมเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท และ 5. กรณีสงเคราะห์บุตร ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรแรกเกิด- 6 ปี บริบูรณ์  200 บาทต่อเดือน ต่อบุตร 1 คน (ใช้สิทธิได้คราวละไม่เกิน 2 คน)

Shares:
QR Code :
QR Code