ตรวจเข้มรถพยาบาล สร้างมาตรฐานแพทย์ฉุกเฉิน
ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการ
กรุงเทพมหานคร เปิดโครงการตรวจรับรองรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ.2561 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดโครงการตรวจรับรองรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ.2561 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่กำหนดไว้ โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารสำนักการแพทย์ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ลานเมือง ศาลาว่าการ กทม.
กรุงเทพมหานครเปิดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2550 เพื่อให้บริการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ผ่านระบบเครือข่ายหน่วยปฏิบัติการ ซึ่งประกอบด้วย โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลภาครัฐ โรงพยาบาลเอกชน และองค์กรสาธารณะประโยชน์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจรับรองมาตรฐานรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ขึ้นทะเบียนในระบบ เพื่อควบคุม กำกับ ติดตามด้านคุณภาพและมาตรฐานของรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ให้สามารถปฏิบัติงานตามภารกิจด้านการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประกอบการพิจารณาการขึ้นทะเบียนหน่วยปฏิบัติการในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานครเป็นประจำทุกปี โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีหน่วยปฏิบัติการเครือข่ายที่ขึ้นทะเบียนหน่วยปฏิบัติการในระบบ รวมทั้งสิ้น 60 หน่วยปฏิบัติการ มีรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินในระบบร่วมปฏิบัติการ 215 คัน
ทั้งนี้ ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ เป็นผู้ดำเนินโครงการตรวจรับรองรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินในระบบ เป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ได้ตรวจรับรองรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินระดับสูง (ALS) เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีหน่วยงานเครือข่ายที่นำรถเข้ารับการตรวจจำนวน 141 คัน ซึ่งผลการตรวจรับรองอุปกรณ์ เครื่องมือ รวมถึงตัวรถ ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว สามารถออกปฏิบัติการให้การช่วยเหลือประชาชนได้ สำหรับวันนี้เป็นการตรวจรับรองรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินระดับพื้นฐาน (BLS) อีกกว่า 80 คัน ซึ่งประกอบด้วย การตรวจลักษณะรถ อุปกรณ์ช่วยชีวิต อุปกรณ์ในการให้ O2 อุปกรณ์ในการทำแผลและห้ามเลือด อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และอุปกรณ์สำหรับการช่วยคลอดฉุกเฉิน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การแพทย์ฉุกเฉินถือเป็นงานที่มีความสำคัญ เนื่องจากมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ดังนั้น การเตรียมความพร้อมทั้งอุปกรณ์และผู้ปฏิบัติงานจะเป็นการยกระดับประสิทธิภาพในการให้บริการให้สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลา 8 เดือนของปีนี้ มีผู้ใช้บริการรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินแล้วกว่า 7 หมื่นราย ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แสดงให้เห็นว่าสมาชิกเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินยังสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินคือสภาพการจราจรในกรุงเทพมหานคร ดังนั้น จึงขอความร่วมมือประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน หากพบเห็นรถการแพทย์ฉุกเฉินเปิดสัญญาณไฟขอให้หลีกทางให้รถดังกล่าวก่อน เนื่องจากทุกนาทีมีค่า ท่านอาจสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อีกหลายชีวิต ในส่วนของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้ตรวจสอบรถบริการการแพทย์ที่กรุงเทพมหานครรับผิดชอบอย่างต่อเนื่องทุกปี รถที่เก่าไม่มี่คุณภาพก็ควรจะเปลี่ยนใหม่ และอุปกรณ์ภายในรถทั้งหมดต้องมีมาตรฐาน สามารถใช้งานได้
อย่างไรก็ดี หากประชาชนได้รับอุบัติเหตุ บาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้งได้ที่ศูนย์เอราวัณ 1669 เพื่อประสานรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพมหานครเข้าให้การช่วยเหลือพร้อมนำส่งโรงพยาบาลได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย