“ค่ายเปลี่ยนคน คนเปลี่ยนความคิด”

โครงการปฐมบทใหม่ค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ

 

“ค่ายเปลี่ยนคน คนเปลี่ยนความคิด”

          โครงการปฐมบทใหม่ค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพเดิมทีคือ โครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ หรือ “ค่ายสร้างสุข” (Health@camp) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิโกมลคีมทอง โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนกิจกรรม การเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับนิสิต นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ และเพื่อสร้างมิติใหม่ของการทำค่ายที่ปลอดเหล้า บุหรี่ให้เกิดขึ้นแพร่หลาย โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันปี 2552 รวมแล้วเป็นระยะเวลาถึง 4 ปี

 

          ปีที่ 1 ก่อเกิด เป็นปีแห่งการก่อเกิดโครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรม การเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับนิสิต นักศึกษา เปิดพื้นที่ทางเลือกให้คนหนุ่มสาว ได้มีโอกาสออกไปรับรู้สังคมภายนอกรั้วมหาวิทยาลัยมากขึ้น เพราะเชื่อใน “พลังบริสุทธิ์ของคนหนุ่มสาว ยังคงมีอยู่ไม่ได้หายไปจากสังคม” อีกทั้งยังเป็นการเปิดมิติใหม่ของการทำค่ายแบบปลอดเหล้า บุหรี่ โดยเริ่มแรกกำหนดให้การสนับสนุนไม่เกิน 30 ค่าย แต่ปรากฏว่ามีนิสิต นักศึกษาให้ความสนใจส่งโครงการเข้ามาเป็นจำนวนมากจนต้องขยายการสนับสนุนเป็น 60 ค่าย และจากการติดตามประเมินผลในปีแรกพบว่ากระบวนการเรียนรู้ของนิสิต นักศึกษา อยู่ในระดับปัจเจก คือ สามารถบ่มเพาะจิตสำนึกสาธารณะ หรือแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาในการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นและชุมชนได้โดยไม่หวังผลตอบแทน และยังเป็นโอกาสในการฝึกฝนหรือขัดเกลาตนเองให้มีความอดทน เสียสละ มีน้ำใจ สามารถปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกัน ได้พบเพื่อนใหม่ได้ลองทำอะไรที่ยังไม่เคยทำ ได้เที่ยว ได้ประสบการณ์ เป็นต้น แต่ยังไม่ยกระดับไปถึงขั้นเพื่อส่วนรวมได้

 

          ปีที่ 2 สะสมปริมาณสู่คุณภาพ ผลจากการที่มีนิสิตนักศึกษาให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ในปีที่ 2 จึงมีการขยายผลการสนับสนุนจากเดิมแค่ 30 ค่าย เป็น 100 ค่าย เพื่อกระจายให้ครอบคลุมในแต่ละภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อเป็นการค้นหาค่ายที่จะสามารถเป็นค่ายต้นแบบในอนาคตได้ และเพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้นิสิต นักศึกษาที่มีแนวคิดในเรื่องการทำงานด้านอาสาพัฒนาได้มีโอกาสมาพบปะ แลกเปลี่ยนแนวคิดการทำงานซึ่งกันและกันเพื่อในอนาคตจะสามารถก่อร่างเป็นเครือข่ายค่ายอาสาในปีต่อไปได้ในปีนี้เป้าหมายหลักจึงอยู่ที่การขยายผลการสนับสนุนเพื่อค้นหาค่ายต้นแบบ

 

          ปีที่ 3 สะสมองค์ความรู้ จากการติดตามการทำงานค่ายของนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศมาเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่ายสร้างสุขในปีที่ 3 จึงก่อเกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมข้อมูลขั้นตอนการทำงานค่าย ตลอดจนข้อเรียนรู้ที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาประมวลผลเป็นองค์ความรู้ว่าด้วยเรื่องของการทำงานค่ายอาสาพัฒนา จนสามารถรวบรวมเป็นคู่มือ “เคล็ด (ไม่) ลับ เพื่อความสุขและความสำเร็จในงานค่ายอาสาพัฒนา” ตอน “เมื่อดอกไม้บานที่งานค่าย” บอกเล่าเคล็ดลับการทำค่าย ตั้งแต่ขั้นเตรียมค่ายไปจนถึงขั้นสรุปค่ายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ว่า “คนสร้างค่าย ค่ายสร้างคน” นอกจากนี้ยังมีการขยายขอบเขตของการทำค่ายโดยไม่ยึดติดในรูปแบบเดิมๆ ที่ว่าค่ายต้องไปในที่กันดารหรือไปค้างคืน ดังนั้นในปีที่ 3 จึงก่อเกิดค่ายลักษณะจิตอาสา โดยทำต่อเนื่องตลอดทั้งปีว่างเมื่อไหร่ก็สามารถรวบรวมคนออกไปทำได้

 

          ปีที่ 4 พัฒนาให้เกิดค่ายต้นแบบ เพื่อค้นหาค่ายอาสาพัฒนาฯ ที่จะสามารถสร้างการเรียนรู้ให้กับนิสิต นักศึกษาอย่างแท้จริง และชุมชนเองก็ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงด้วย ค่ายในปีที่ 4 จึงเน้นให้นิสิต นักศึกษา หันมาให้ความสนใจประเด็นทางสังคมมากขึ้น นอกเหนือไปจากการเรียนรู้ในระดับปัจเจกแล้วนั้นจะต้องทำค่ายโดยเน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชนให้มากที่สุด โดยต้องศึกษาปัญหาของชุมชน และร่วมกันหาทางออกกับชุมชนยึดความต้องการของชุมชนเป็นหลัก และร่วมกันหาทางออกกับชุมชนยึดความต้องการของชุมชนเป็นหลัก อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายเด็กค่ายอาสาสร้างสุขขึ้น

 

          โครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพได้มีการเติบโตและมีการทำงานอย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนงานค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพให้ขยายผลและเกิดพื้นที่การเรียนรู้ต่างๆ ในวงกว้างทั้งในกลุ่ม ชมรม คณะ มหาวิทยาลัย รวมถึงพื้นที่ที่นักศึกษาลงไปทำกิจกรรมในชุมชน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลอันเนื่องมาจากการเติบโตทางด้านความคิด และกระบวนการทำงานสิ่งที่ปรากฏเห็นได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม คือ การสร้างเครือข่ายสร้างสุขโดยการรวมตัวของแกนนำและ กลุ่มเยาวชนที่มีความมุ่งมั่นในการขยายการทำงานค่ายสู่คนที่มีจิตอาสาอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสนับสนุนโครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมามุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายการทำงานค่ายและการพัฒนาศักยภาพของแกนนำค่าย

 

          โครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพปีนี้ จึงตอกย้ำแนวคิดการทำค่ายโดยเน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชน และให้ความสำคัญของพลังกลุ่มคนเหล่านี้ที่จะสามารถเข้ามามีบทบาทในการทำประโยชน์เพื่อสังคม และยังเป็นอีกพื้นที่หนึ่งในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์ดีๆ ในการทำกิจกรรม เพื่อให้เกิดพื้นที่เครือข่ายเด็กค่ายในแต่ละภูมิภาค อีกทั้งยังมีการติดตามเพื่อเก็บข้อมูลเด็กค่ายที่ได้รับทุนจากโครงการว่ามีการพัฒนาและนำประสบการณ์จากทำงานค่ายไปใช้ในชีวิต และการทำงานเพื่อให้เป็นปฐมบทใหม่ค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ “ค่ายเปลี่ยนคน คนเปลี่ยนความคิด” อย่างแท้จริง

 

          สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-2298-0500 ต่อ 1222

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

 

Update: 26-01-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code