ความเชื่อผิดๆ ทางเพศของชาย

เปิดพื้นที่ช่วยเปลี่ยนทัศนคติได้

 

ความเชื่อผิดๆ ทางเพศของชาย 

 

          “ผู้ชายต้องเจ้าชู้ ต้องขึ้นครูมีประสบการณ์ทางเพศถึงเป็นประสบการณ์ที่สังคมยอมรับ การใช้ถุงยางอนามัยต้องใช้กับหญิงบริการเท่านั้น ใช้กับภรรยาจะทำให้หมดอารมณ์ทางเพศ

 

          ผู้ชายต้องมีอวัยวะเพศชายใหญ่ ยาว ถึงมีคุณค่า และการร่วมเพศที่นานคือที่ฝ่ายหญิงประทับใจและมีความสุข”

 

          ความเชื่อหลายอย่างที่ว่า ตัวเองรู้เรื่องเพศมากพอแล้ว เรื่องเอดส์เป็นเรื่องใกล้ตัว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยทางเพศ เท่ากับเรื่องความสนุกทางเพศ จุดนี้เองยิ่งทำให้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ยิ่งทวีความรุนแรงและเพิ่มสูงขึ้น

 

          ในการประชุมเรื่อง “เพศวิถีศึกษากับเพศวิถีปฏิบัติในสังคมไทย ครั้งที่ 2” จัดโดยศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เครื่อขายความหลากหลายทางเพศ และแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คุณอภิชัย ไออักรี ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงติดเชื้อได้นำเสนอข้อมูลงานวิจัยที่น่าสนใจ เรื่อง ความเชื่อและความเข้าใจเรื่องเพศวิถีของผู้ชายติดเชื้อเอดส์ในสังคมไทย

 

          ในฐานะนักวิจัยมองเรื่องนี้ว่า ผู้ชายถูกปล่อยให้เรียนรู้เรื่องเพศแบบผิดๆ ตามมีตามเกิด และยังถูกปลูกฝังความเชื่อผิดๆ ด้วยความเชื่อเหล่านี้ถูกปลูกฝังจากการเลี้ยงดูในครอบครัว เรียนรู้ความเชื่อและข้อมูลผิดๆ จากกลุ่มเพื่อน วงเหล้า และสื่อต่างๆ หรือจากการหล่อหลอมของสังคม อุดมคติ ความคาดหวัง ซึ่งขัดแย้งกับความจริง

 

          คุณอภิชัยได้จัดทำโครงการจัดกลุ่มพูดคุยแบบเข้มข้นในเรื่องความคิด ความเชื่อ เรื่องเพศ และบทบาททางเพศ ของผู้ชายมีเชื้อเอชไอวี จากการจัดเวที 4 ภาคของไทย ทั้งเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก 10 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ลำพูน เชียงใหม่ พัทลุง นครศรีธรรมราช อุดรธานี อุบลราชธานี ตราด จันทบุรี สระแก้ว เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยการเรียนรู้ร่วมกันเรื่องความทุกข์ สุขในชีวิตทางเพศของผู้ชายที่ติดเชื้อเอดส์

 

          ทำให้พบว่า “การจะช่วยผู้ชายให้หลุดพ้นจากการใช้ชีวิตเสี่ยงทางเพศ ทำได้โดยการให้ผู้ชายได้มีพื้นที่เรียนรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง”

 

          ภายหลังจากที่มีเวทีหรือพื้นที่ให้พวกเขาได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ถูกต้องด้านเพศ ทำให้ทัศนคติบางอย่างมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่คุณอภิชัยพบในการเปิดเวทีนี้ อาจไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อเดิมๆ ได้ทั้งหมดแต่ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะทำให้ฝ่ายที่ทำงานรณรงค์ด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้เข้าใจมากขึ้นคือ…

 

          “ทำให้ทราบว่า ผู้ชายติดเชื้อเอดส์ต้องการเวทีในการสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเพศเช่นกัน เพราะทำให้ทัศนคติเปลี่ยนไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การยอมรับการแบ่งงานกันทำโดยไม่แยกงานตามเพศ เช่น การทำงานบ้านไม่ได้เป็นของผู้หญิงอีกต่อไปชายหลายคนมีความสุขกับการทำงานบ้านและเป็นการส่งเสริมความสุขในครอบครัว

 

          นอกจากนี้มุมมองชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี ซึ่งพบได้จากการเปิดเวทีเช่นนี้ ตัวอย่างเช่นต้องการอยู่ดูแลครอบครัวอย่างเต็มที่เข้าใจซึ่งกันและกันและมีการวางแผนอนาคตร่วมกัน รวมถึงการมีคู่ครองใหม่เน้นความเข้าใจกันมากกว่ารูปร่างหน้าตาเหมือนในอดีต มีความหวังในการใช้ชีวิตและต้องการสร้างครอบครัวไม่แตกต่างจากคนทั่วไป และยังเข้าใจในเรื่องการดูแลสุขภาวะทางเพศมากขึ้น อย่างการสวมถุงยางอนามัยเพื่อสร้างความสุขและปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ใช่เน้นแต่การร่วมเพศอย่างเดียวเหมือนก่อน

 

          ขณะเดียวกันก็พบว่า มีทัศนคติที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย อาทิ การคิดว่าการหลั่งภายนอกเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100%, การคุมกำเนิดเป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิง, เพศสัมพันธ์คือการสอดใส่เท่านั้น จึงเป็นการทำให้ฝ่ายหญิงมีความสุขทางเพศ, หากมีภรรยาแล้วไม่สมควรสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง

 

          ทัศนคติที่ไม่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้นำสู่ปัญหาสังคมตามมา คือ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมของคู่ สู่การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ไม่ได้ผลต้องใช้สูตรยาอื่นที่ราคาแพงกว่า

 

          ดังนั้นสิ่งที่คุณอภิชัย เห็นได้ชัดจากการเปิดเวทีนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์กับการรณรงค์และทำงานเรื่องเพศกับผู้ติดเชื้อเอดส์ต่อไป คือ จำเป็นต้องดำเนินการทำงานเรื่องเพศ เพศวิถี และเรื่องบทบาททางเพศกับเพศชายด้วย

 

          “ด้วยเหตุที่ว่า เพศชายไม่ได้เข้าใจเรื่องเพศอย่างชัดเจนและถูกต้อง ซึ่งต้องการพื้นที่ในการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์เช่นเดียวกัน แต่ที่ผ่านมากระบวนการแก้ไขปัญหาเน้นกลุ่มเป้าหมายเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เช่น ผู้หญิงเด็กวัยรุ่น ฯลฯ เพราะมองว่าเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบและได้รับความรุนแรงทางเพศ จนละเลยการสอนแนวคิดการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ความเข้าใจเรื่องเพศที่ถูกต้องและรอบด้านให้กับเพศชายมาโดยตลอด”

 

          บทสรุปของการศึกษาเป็นเรื่องที่ชัดเจนที่ว่า ความไม่รู้เรื่องเพศยังคงเกิดขึ้นกับเพศชาย แม้ว่าใครบอกว่าทัศนคติความเชื่อเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่การเปิดใจ-รับฟัง ให้ข้อมูลเพศศึกษาที่ถูกต้อง ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากก็น้อย

 

          สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-2298-0500 ต่อ 1222

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update: 08-12-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่  

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code