“กองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์”
เครื่องมือหนุนอนาคตชาติ
ถูกจับตามองมาโดยตลอด หลังผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 53 “พ.ร.บ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์” ซึ่งขณะนี้ก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกาในการพัฒนาตัวบทกฎหมาย
และเมื่อปลายเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ก็ได้มีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็กและเยาวชนในแขนงต่างๆ ราชการ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนทั่วไป เพื่อให้กองทุนสื่อที่จะเกิดขึ้น เป็นไปตามความต้องการของประชาชนโดยแท้จริง
ผลสรุปจากการระดมความคิดเห็น เกี่ยวกับข้อเสนอในการจัดตั้งกองทุนสื่อจากภาคประชาชนมีด้วยกัน 4 ประเด็น
ประเด็นแรก เป็นเรื่องของการเข้าถึงเจตนารมณ์และฐานะของกองทุนสื่อฯ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า กองทุนสื่อฯ จะไม่ใช่กองทุนในความหมายแบบเดิมๆ ที่เข้าใจกันว่าทำหน้าที่เพียงแจกเงินหรือแจกทุน แต่จะต้องเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับกระบวนการสื่อสร้างสรรค์ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม นำไปสู่สิ่งใหม่ๆ ในสังคม หรือการนำพาสังคมไปสู่ช่องทางใหม่สร้างประสบการณ์ใหม่ในการรับรู้ สร้างสื่อทางปัญญาที่ดี
สถานะของกองทุน จะไม่ใช่เป็นเพียงแค่หน่วยงานที่คัดเลือกหรือจัดสรรสื่ออีกต่อไป แต่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ทำงานเชิงรุก ในลักษณะหลายอย่าง เช่น สำรวจสื่อทุกประเภท การบริโภคสื่อ การรับสื่อต่างๆ และสร้างสรรค์ให้เกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและแม้แต่ในเชิงของการพัฒนานโยบาย ไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องสื่อสร้างสรรค์
ประเด็นที่สอง เป้าหมายของกองทุนสื่อทุกฝ่ายมองร่วมกันว่า กองทุนสื่อฯ จะทำให้เกิดกระบวนการสื่อสร้างสรรค์ยั่งยืนและต่อเนื่อง อาทิ สร้างชุมชนเข้มแข็ง เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยน เกิดความภาคภูมิใจ อัตลักษณ์ตัวตน
นอกจากนี้ยังจะทำให้เกิดความรู้ สร้างนวัตกรรม ในฐานะที่เป็นศูนย์รวบรวมความรู้งานวิจัย มีจัดการความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้และยังทำให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ขึ้น เกิดการกระจายสื่อในราคาถูก สร้างโอกาสการเข้าถึงสื่อทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสื่อพื้นบ้านหรือสื่อทางเลือก และยังก่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เช่น ผู้ผลิตสื่อสามารถอบรมร่วมกับเยาวชน ร่วมเรียนรู้การทำงานและสุดท้ายกองทุนนี้จะทำให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อซึ่งเป็นหัวใจสำคัญยิ่ง
ประเด็นที่สาม การเข้าถึงและการมีส่วนร่วมหากเกิดกองทุนสื่อฯ ทุกฝ่ายก็อยากให้เกิดการกระจายการสนับสนุนอย่างสร้างสรรค์ มีการกำหนดสัดส่วนให้พอเหมาะ โดยเฉพาะให้กับกลุ่มที่อาจไม่เคยมีโอกาสและเข้าไม่ถึง รวมไปถึงการออกแบบเงื่อนไขการเข้าถึงเอกสารสัญญาต่างๆ เช่น ออกแบบเอกสารสัญญาตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มเพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ยังต้องคำนึงความหลากหลายและการเป็นตัวแทนของทุกกลุ่ม ต้องให้กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นผู้กำหนดเงื่อนไข
กำหนดหลักเกณฑ์ของกองทุน ที่ขาดไม่ได้คือ ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดด้วย รวมทั้งการทำงานต่าง ๆ ต้องเปิดเผย โปร่งใสตรวจสอบได้ มีการประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนรู้ทั่วถึงว่ามีกองทุนสื่อฯ และจะเข้าถึงกองทุนสื่อได้อย่างไรบ้าง
ประเด็นสุดท้าย เรื่องความมีอิสระของกองทุนมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะทำให้กองทุนนี้มีอิสระได้อย่างไร ในเมื่อโครงสร้างกองทุนฯ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หลายฝ่ายเป็นกังวลว่าการให้นายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานอาจทำให้กองทุนฯขาดความเป็นอิสระ จึงอยากให้มีการปรับโครงสร้างกรรมการ และกลไก พ.ร.บ.ให้คล่องตัวมากขึ้น และอยากให้มีตัวแทนสื่อเข้าไปมีส่วนในโครงสร้างกรรมการด้วย ไม่ใช่มีแต่ภาคราชการและนักวิชาการเท่านั้น
สำหรับเรื่อง การบริหารจัดการกองทุนฯ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่ายังมีประเด็นที่ต้องแก้ไขพอสมควร ทั้งเรื่องวัตถุประสงค์ การบริหารจัดการกองทุน แหล่งที่มาของกองทุน วิธีจัดสรรกองทุนให้มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์โดยรวมต่อสังคมมากที่สุด
“สำหรับ พ.ร.บ.กองทุนสื่อฯ ขั้นตอนที่จะไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ไม่ชะงักงันนานเกินไป ต้องทำสองอย่างคือ เร่งรัดให้ร่างกฎหมายนี้ไปออกจากคณะกรรมการกฤษฎีกากลับมาที่คณะรัฐมนตรีโดยเร็ว และให้ ครม. นำเสนอต่อสภาผู้แทนฯ รับหลักการไว้เลยกับอีกอย่าง คือ มีการนำเสนอร่างกฎหมายใหม่เข้าสภาผู้แทนฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป
การทำรายการเพื่อเด็กและเยาวชนสามารถคู่ไปกับการพาณิชย์ได้ โดยสามารถทำโฆษณาดี ๆ สำหรับเด็กซึ่งก็น่าจะไปกันได้ และสื่อกระแสหลักทีวีบางช่องก็เริ่มมีให้เห็น นอกจากนี้อยากให้มองไปที่เคเบิลทีวีและวิทยุชุมชนซึ่งมีอยู่จำนวนมากทั่วประเทศและถูกมองว่ามีแต่รายการ “เน่า” นั้น ความจริงแล้วเป็นเพราะเขาไม่มีรายการดี ๆไปออก นี่จึงเป็นโอกาสหากกองทุนทำให้เกิดรายการดีๆ ก็สามารถไปเผยแพร่ในช่องทางเหล่านี้ได้” ศ.เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาโครงการจับตากองทุนสื่อฯ และ อดีตคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. กล่าวสรุป
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update : 06-01-54
อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก