"YOUNG สุข YOUNG ไม่เสี่ยง" เสริมภูมิคุ้มกันเด็กภาคอีสาน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
เเฟ้มภาพ
ขอนแก่น เป็นหนึ่งในจังหวัดเป้าหมาย ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีพบเห็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับเยาวชน เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาการพนัน ปัญหาติดเหล้าบุหรี่ และปัญหาท้องก่อนวัยอันควร ที่ดูเหมือนว่าจะทวีความรุนแรงต่อเนื่อง
ค่ายกิจกรรม "YOUNG สุข YOUNG ไม่เสี่ยง" จึงถือกำเนิดขึ้น โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นส่วนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชน ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกมีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 40 ชีวิต จาก 6 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนแวงใหญ่วิทยาคม โรงเรียนพลพิทยาคม โรงเรียนกัลยาณวัตร โรงเรียนบ้านคูขาด (สถิตย์อุปถัมภ์) และ โรงเรียนอุบลรัตน์วิทยาคม ทั้งหมดเป็นเด็กนักเรียนที่อยู่ในช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 – มัธยมศึกษาปีที่ 5
พญ.ทานทิพย์ ธำรงวรากูร เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี จ.ขอนแก่น อธิบายว่า เป้าหมายที่เลือกกลุ่มเด็กในช่วงนี้เข้าร่วมทำกิจกรรม เนื่องจากเป็นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อในการใช้ชีวิต หากพวกเขาเดินไปในเส้นทางที่ผิด อาจเป็นเรื่องยากที่จะชักจูงให้กลับมาเดินในเส้นทางที่ถูกต้อง หากพิจารณาจากข้อมูลในพื้นที่ พบว่าปัญหายาเสพติด ปัญหาการท้องไม่พร้อม ปัญหาเหล้าบุหรี่ และปัญหาการพนัน ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นยังเป็นที่น่าเป็นห่วง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องขอความร่วมมือจากหลายภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วม
"การจัดค่ายคงไม่ได้เป็นยาสามัญประจำบ้าน แต่เรามองว่าค่ายจะเป็นตัวช็อตไฟฟ้า ให้เด็กเห็นถึงมุมมองอื่นๆ ที่จะทำให้เขาเห็นถึงปัญหา และเดินหน้าไปได้ โดยหวังว่าในอนาคต เด็กเหล่านี้จะสามารถนำประโยชน์จากการเข้าค่าย ไปจุดประกายให้กับคนอื่นในสังคม" พญ.ทานทิพย์ ธำรงวรากูร กล่าว
ค่าย "YOUNG สุข YOUNG ไม่เสี่ยง" แบ่งกิจกรรมออกเป็น 5 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมละลายพฤติกรรม, กิจกรรมค้นหาตัวตน, กิจกรรมสแกนความเสี่ยงรอบทิศ, กิจกรรมสร้างสื่ออย่างไรให้ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง และกิจกรรมสร้างสุขแบบยั่งยืนเรียนรู้ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ทั้งหมดต่างมีเป้าหมายให้เด็กได้รู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะ เข้าใจปัญหา และพร้อมจะนำความรู้ออกไปสู่ชุมชนที่ตัวเองอยู่ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเซียลมีเดียที่เด็กสนใจ โดยมุ่งหวังให้กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และต่อยอดแพร่กระจายชุดความคิดไปยังสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวเสริมว่า การเสริมสร้างสุขภาวะที่ดี ในมุมมองของ สสส. ไม่ได้มีเพียงสุขภาพทางกายเท่านั้น แต่รวมถึงสุขภาพทางใจด้วย ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการเสริมสร้างให้เยาวชนมีศักยภาพในการลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ สร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคม สสส. เชื่อว่าเยาวชนถือเป็นพลังสำคัญของประเทศที่จะขับเคลื่อนต่อไป หากกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับประสบการณ์ที่ดีแล้ว จะสามารถเสริมสร้างศักยภาพที่ดีต่อไปในอนาคตได้
"สำหรับการเข้าค่ายที่ขอนแก่นจริงๆ แล้ว เราเชื่อมั่นว่าเยาวชนจะสามารถพูดคุยกับเยาวชนด้วยกันเองรู้เรื่อง เพราะฉะนั้นการที่ สสส. จะไปบอกเยาวชนว่า การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้าไม่ดี อาจจะไม่เพียงพอ เราต้องทำให้เยาวชนที่เข้าใจในภาษาเดียวกันให้เขาสื่อสารกันเอง นี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราคิดว่าต้องเพิ่มมิติให้กับเยาวชนที่เป็นแกนนำ ให้เขาได้นำไปสื่อสารต่อ การบอกต่อจะมีพลังและมีคุณภาพ และจะทำให้เขามีจิตสำนึกที่ดี และมีภูมิคุ้มกันในการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ" นส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ กล่าว
หนึ่งในเด็กนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ คือ นายกนิษฐ์พณ เกษดี หรือ โฮมมี่ จากโรงเรียนเมืองพลพิทยาคม เล่าให้ฟังว่าในชุมชนที่ตัวเองอยู่ มีปัญหาหลายอย่าง แต่ที่รุนแรงและเป็นปัญหาสำหรับเยาวชน คือ ยาเสพติด การติดเหล้าบุหรี่ รวมถึงการทะเลาะวิวาทของกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นผลมาจาก การที่คนในชุมชนไม่ได้ให้ความสำคัญ ปล่อยปละละเลย และไม่เข้าใจต่อการแก้ไขปัญหาที่ถูกวิธี
"ความเสี่ยงในพื้นที่มีทั้งวัยรุ่นที่ชักชวนเพื่อนไปในทางที่ผิด เช่นชวนไปใช้ยาเสพติด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การทะเลาะวิวาทในงานคอนเสิร์ต และที่สำคัญสถานบันเทิงก็ละเลย ให้เด็กอายุต่ำกว่า18 เข้าไปใช้บริการ และเป็นที่มาทำให้เกิดปัญหาการใช้ยาเสพติดตามมา" นายกนิษฐ์พณ กล่าว
เช่นเดียวกับ ครีมมี่ นางสาวกุสุมา ดอนน้อย และ แพรวา นางสาวกัญญารัตน์ จำปา จากโรงเรียนอุบลรัตน์พิทยาคม ที่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ในพื้นที่ชุมชนของตัวเองมีปัญหาไม่ต่างกัน หลังจากที่ได้เข้าร่วมค่ายกิจกรรมครั้งนี้ ยืนยันว่าจะนำประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ไปวางแผนปรับใช้ต่อการดำเนินชีวิตให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงในชุมชน รวมถึงจะนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ทำเป็นสื่อผ่านช่องทางออนไลน์รณรงค์ให้คนในชุมชนห่างไกลจากปัญหาต่าง ๆ ด้วย
สำหรับกิจกรรมค่าย "YOUNG สุข YOUNG ไม่เสี่ยง" สสส. และ มูลนิธิพัฒนาชุมชนฯ ตั้งเป้าเดินหน้าต่อในพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ และ นครราชสีมาซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบข้อมูลว่ามีอัตราการเกิดปัญหาในกลุ่มเด็กสูงขึ้น และเตรียมจะจัดค่ายให้ความรู้ลดปัจจัยเสี่ยงครั้งต่อไปในช่วงเดือนกันยายนที่จะถึงนี้slot938สล็อตออนไลน์