WHO ดึงภาคี เปิดเวที ป้องภัยจมน้ำระดับโลก

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


ภาพโดย สสส.


WHO ดึงภาคี เปิดเวที ป้องภัยจมน้ำระดับโลก thaihealth


'จมน้ำ' ภัยสาธารณะที่ทุกคนไม่ควรละเลยและลอยอยู่เหนือปัญหา แต่ดูเหมือนจะเป็นโศกนาฏกรรมที่หลายคนมองเป็นเรื่องธรรมดา และไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก


รู้หรือไม่ว่า ในปีหนึ่ง ๆ ทั่วโลก ต้องสูญเสียชีวิตผู้คนไปกว่า 3 แสนคน จากอุบัติเหตุจมน้ำ โดยกว่าร้อยละ 90 ในจำนวนนี้เป็นประชากรในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ซึ่งครึ่งหนึ่งนั้นยังเป็นเด็กและเยาวชนอนาคตของชาติ โดยเฉพาะเด็กเล็กในวัย 1-4 ปี ถือเป็นวัยที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ที่สำคัญ "การจมน้ำ" เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย


จากตัวเลขสถิติการเสียชีวิตที่ไม่น้อย ทำให้ "การจมน้ำ" จึงถูกองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเป็นหนึ่งในภัยเร่งด่วนต่อสุขภาพของสาธารณชน โดยในทางปฏิบัติ WHO และประเทศสมาชิกทั่วโลก ต่างพยายามสร้างความตระหนักและส่งเสริมการดำเนินงานขับเคลื่อนที่สอดประสานกันเพื่อป้องกันภัยจากการจมน้ำร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง


ล่าสุดในการจัดงานประชุมภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออกว่าด้วยเรื่องการป้องกันการจมน้ำ (SEA Regional Meeting  on Drowning Prevention) จึงถูกจัดขึ้นครั้งแรกโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การอนามัยโลก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันเรือชูชีพแห่งชาติ (RNLI) โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก WHO South-East Asia และองค์กรนานาชาติ เข้าร่วมกว่า 16 ประเทศ ทำให้ในเวทีการประชุมครั้งนี้ จึงมีหลากหลายประสบการณ์และทัศนะผ่านการแลกเปลี่ยนหาแนวทางและพัฒนากลไกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน เสริมสร้างความเข้มแข็งของการดำเนินงานเพื่อป้องกันโศกนาฏกรรมทางสังคม เพื่อไม่ให้ประชากรภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกสูญเสียชีวิตจากการจมน้ำ


WHO ดึงภาคี เปิดเวที ป้องภัยจมน้ำระดับโลก thaihealth


ดร. อไมเนอร์ ราห์มาน (Aminur Rahman) จาก Centre for Injury Prevention and Research ประเทศบังคลาเทศ ได้ถ่ายทอดถึงแนวทางการป้องกันการจมน้ำในกลุ่มประเทศรายได้น้อยถึงปานกลาง โดยมีบังคลาเทศเป็นกรณีศึกษาว่า จากการที่ประเทศรายได้น้อยถึงปานกลางมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำมากถึง ร้อยละ 90 สาเหตุสำคัญเกิดจากประชากรในประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตและการทำมาหากินใกล้แหล่งน้ำ จึงมีความเสี่ยงกอรปกับที่ผ่านมาปัญหาดังกล่าวถูกละเลยจากทั้งภาครัฐและสังคม โดยไม่ได้มีมาตรการใด ๆ รองรับและขาดอุปกรณ์เครื่องมือป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว ขณะเดียวกันความยากจนทำให้ผู้ปกครองมักวุ่นอยู่กับการทำมาหากิน จนขาดความใส่ใจบุตรหลาน


เช่นเดียวกับ บังคลาเทศ ที่มีวิถีชีวิตอยู่กับสายน้ำ ซึ่งจากการวิจัยข้อมูลในปี 2548 พบว่า บังคลาเทศมีสถิติประชากรอายุต่ำกว่า 18 ปี เสียชีวิตเพราะการจมน้ำถึง 17,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 50 ราย เมื่อเกิดความตื่นตัวในการแก้ปัญหา มีการนำบทเรียนในประเทศพัฒนาแล้วที่ประสบความสำเร็จมาใช้แต่กลับไม่เหมาะสมกับบริบทของประเทศเหล่านี้ ดร.อไมเนอร์ ยืนยันว่าแต่ละประเทศควรสร้างแนวทางการดำเนินการที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง โดยยกตัวอย่าง บังคลาเทศ มีการออกแบบนวัตกรรมเพื่อรับมือปัญหาเด็กจมน้ำ ได้แก่


หนึ่ง "Anchal" การจัดตั้งศูนย์เดย์แคร์ ในชุมชนเพื่อดูแลเด็กวัย 1-5 ปี ที่พ่อแม่ต้องทำงานที่ไม่มีเวลาดูแล ในช่วงเวลากลางวัน โดยเจ้าหน้าที่อาสาสมัครจะได้รับการอบรมเรื่องการระวังภัยทางน้ำในเด็ก และการเฝ้าระวังไม่ให้เด็กเล็กจะอยู่ใน พื้นที่เสี่ยง (ใกล้น้ำ) ป้องกันหรือลดโอกาสเสี่ยงได้ถึงร้อยละ 80


สอง การจัดตั้ง SwimSafe ศูนย์ฝึกสอนทักษะการว่ายน้ำเด็กและเยาวชนที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป โดยเด็กที่ผ่านการอบรมต้องสามารถว่ายน้ำได้ระยะไม่ต่ำกว่า  25 เมตร และลอยตัวในน้ำได้เองไม่ต่ำกว่า 30 วินาที รวมถึงฝึกทักษะการช่วยเหลือเมื่อประสบผู้ที่กำลังจมน้ำที่ถูกวิธี แนวทางดังกล่าวสามารถป้องกันหรือลดโอกาสเสี่ยงได้ถึงร้อยละ 90


ปัจจุบัน SwimSafe สอนเด็กและเยาวชนให้ว่ายน้ำแล้วถึง 530,000 คน ทั่วประเทศ ส่วนศูนย์ Anchal สามารถป้องกันเด็กไม่ให้จมน้ำครอบคลุมกว่า 50,000 คน อย่างไรก็ตาม บังคลาเทศ ไม่หยุดที่จะดำเนินโครงการ และยังตั้งเป้าที่จะให้เด็กของตนเองกว่า 34 ล้านคน สามารถว่ายน้ำเป็น และพัฒนาศูนย์ Anchal ให้ครบ 600,000 แห่งเพื่อดูแลเด็กเล็กกว่า 15 ล้านคน รวมถึงพัฒนาประชากรที่มีทักษะการช่วยเหลือผู้จมน้ำ ทุก 1 ต่อ 10 ราย


ดร.อไมเนอร์ กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จของการดำเนินโครงการป้องกันปัญหาเด็กจมน้ำในบังคลาเทศนั้นเกิดจากการวิจัยข้อมูล และการที่ภาคนโยบายยอมรับว่าการจมน้ำเป็นปัญหาสำคัญของการเสียชีวิตในเด็กบังคลาเทศ พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะลดสถิติดังกล่าว


WHO ดึงภาคี เปิดเวที ป้องภัยจมน้ำระดับโลก thaihealth


ขณะที่ในประเทศไทย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า "การจมน้ำ" เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเป็นอันดับ 1 ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่กระทบต่อคุณภาพชีวิต จึงกำหนดมาตรการป้องกันอย่างจริงจังในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา กระทั่งลดเด็กจมน้ำเสียชีวิตจากปีละ 1,500 คน เหลือ 681  ในปี 2561 ผลการลดอัตราการตายลงได้ร้อยละ 50


WHO ดึงภาคี เปิดเวที ป้องภัยจมน้ำระดับโลก thaihealth


ความสำเร็จดังกล่าว ดร.สุปรีดา  อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า ในการแก้ปัญหาให้ได้ผล ทุกภาคส่วนของสังคมต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดการแหล่งน้ำในชุมชนที่พบว่าเป็นจุดเสี่ยงที่เด็กเสียชีวิตมากที่สุด ต้องทำให้ปลอดภัย โดยเครือข่ายในชุมชนร่วมมือกัน


"แต่ละโรงเรียนควรรู้ว่าแม่น้ำ ในชุมชน มีจุดเสี่ยงอย่างไรบ้าง สอง คือเสื้อชูชีพควรพกเป็นวิสัย และสามคือทักษะการช่วยเหลือตะโกนโยนยื่นเป็นทักษะที่ดี และเด็กควรลอยตัวในน้ำได้อย่างน้อย 30 วินาที เพื่อรอเวลาช่วยเหลือ ซึ่งแนวทางดังกล่าวเรามีตัวอย่างความสำเร็จ เช่น โรงเรียนที่พิษณุโลกได้นำไปปฏิบัติและเห็นผลชัดเจน"


สำหรับ สสส. มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนแนวราบ ในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานการทำงานระหว่างภาคราชการกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรม อาทิ การออกกำลังกายเพื่อรอดชีวิตทางน้ำ เปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงเป็นพื้นที่เล่นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อทำให้แหล่งน้ำในชุมชนปลอดภัย พร้อมผลักดันให้เกิดมาตรการสนับสนุนป้องกันการจมน้ำของเด็กในระดับจังหวัด โดยยังได้สนับสนุนให้ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี พัฒนาพัฒนากล่องชุดความรู้ 5 ทักษะ ความปลอดภัยทางน้ำ เป็นเครื่องมือสนับสนุนให้ครูช่วยเรื่องการเรียนการสอน 5 ทักษะ ความปลอดภัยทางน้ำที่สามารถสอนผ่านกิจกรรมเกม ที่ทั้งเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือแม้แต่ชุมชนเอง ก็สามารถนำไปต่อยอดได้


"ชัดเจนว่าสิบปีที่ผ่านมาเราลดอัตราการตายได้ชัดเจน แต่สถานการณ์ก็ยังน่าเป็นห่วง จึงยังต้องการความร่วมมือทุกฝ่าย โดยเฉพาะท้องถิ่น" ดร.สุปรีดา กล่าว


WHO ดึงภาคี เปิดเวที ป้องภัยจมน้ำระดับโลก thaihealth


ด้าน ดร.เดวิด เมดดิ้ง (David Meddings) ผู้แทนจาก WHO ได้นำเสนอคู่มือปฏิบัติการ: การจมน้ำ (Preventing Drowning: an Implementing Guide)  ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากรายงานการจมน้ำระดับโลกปี 2557 ซึ่งจะเป็นแนวทางการดำเนินงานในแต่ละชั้นตอนที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง


โดยคู่มือดังกล่าว นอกจากจะเป็นการรวบรวมกรณีศึกษาของแต่ละประเทศแล้ว ยังประกอบด้วย 6 มาตรการป้องกันการจมน้ำ และ 4 กลยุทธ์ ที่เป็นการออกแบบจากการรวบรวมและวิเคราะห์กรณีศึกษาของแต่ละประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตามการนำไปใช้แต่ละประเทศควรมีการศึกษาและพัฒนาแนวทางให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งคู่มือนี้สามารถใช้ได้ทั้งผู้ที่เป็นระดับปฏิบัติการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับ การรณรงค์ป้องกันปัญหา และทั้งในระดับภาคนโยบายที่ควรเป็นผู้ผลักดันแผนพัฒนาความปลอดภัยทางน้ำแห่งชาติ และควรใช้กฎหมายช่วยสนับสนุนมาตรการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการกำหนดและบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับในการเดินเรือ การขนส่งทางน้ำและการโดยสารเรือข้ามฟาก เพื่อที่จะทำให้การคมนาคมทางน้ำปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

Shares:
QR Code :
QR Code