สานพลังพัฒนาวิสาหกิจสังคม ขับเคลื่อนรากฐานสังคมไทย
เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : “งาน เสวนาทางนโยบาย “การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย” ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ
ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
ปัจจัยที่จะทำให้ วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ดำเนินการอยู่ได้อย่างมีประสิทธิผลและยั่งยืน จำเป็นต้องมีทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในด้านเงินทุน ถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทักษะ สร้างกลไก สู่การสร้างงาน-สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยและยกระดับคุณภาพชีวิต
ที่ รร.แมนดารินกรุงเทพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) และภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จัดเวที เสวนาเชิงนโยบาย (Policy Dialogue) “การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมไทย” เพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอด และกำหนดทิศทางของวิสาหกิจเพื่อสังคมไทย
“…ไทยประสบกับปัญหาต่าง ๆ อาทิ ผู้สูงอายุ สิ่งแวดล้อม คนจนเมือง การระดมเงินบริจาคอาจไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงต้องมีการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม Social Enterprise (SE) ที่เข้ามาแก้ปัญหาตั้งแต่ฐานราก ช่วยผลักดันให้มีตลาดในการกระจายสินค้าและบริการจากชุมชน ให้คนภายนอกสามารถเขาถึงได้ เพื่อเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน…”
เป็นคำกล่าวในงาน ของ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในการปาฐกถาพิเศษ “เป้าหมายการขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคมให้เป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากในประเทศไทย” ที่ สสส. จัดขึ้น เพื่อกำหนดทิศทางของวิสาหกิจร่วมกัน ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพ
“กล่าวอีกว่า…ปัจจัยที่จะทำให้ วิสาหกิจเพื่อสังคมจำเป็นต้องนำแนวคิดหลักการบริหารจัดการทางธุรกิจมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม การใช้กลไกการบริหารของภาคธุรกิจ ผนวกความรู้ นวัตกรรมสังคม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสังคมให้ยั่งยืนจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยไม่ต้องพึ่งพาการบริจาค และนำผลกำไรไปลงทุนซ้ำเพื่อขยายผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้ยั่งยืนต่อไป” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
นางนภา เศรษฐกร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) กล่าวว่า “เป้าหมายของเวทีเสวนาเชิงนโยบาย (Policy Dialogue) ในวันนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก สสส. รวมไปถึงองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ทุกภาคส่วน ทำให้เกิดเวทีเสวนา แลกเปลี่ยน ร่วมกำหนดแนวทางและสร้างความร่วมมือให้ครอบคลุมทุกมิติ สามารถนำไปปรับใช้ต่อการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศต่อไป
“…อีก 10 ปี ข้างหน้า สวส. จะต้องทำให้ Social Enterprise เป็นกระแสหลักของไทย เพื่อสังคมที่ดีขึ้นในปี 2566 ที่ผ่านมาได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่สอดรับกับการพัฒนาศักยภาพองค์กรให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่สำคัญ อาทิ การทำประชาสัมพันธ์ให้รู้จัก Social Enterprise ของ สวส. มากขึ้น และยังทำงานร่วมกับพันธมิตรจากสถาบันการศึกษา ทั้งหมดนี้จะช่วยให้สังคมดีขึ้นภายใต้ธุรกิจที่มีกำไร รวมถึงเศรษฐกิจที่ยั่งยืน…” นางนภา กล่าว
ขานรับจาก ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. ได้กล่าวถึงการร่วมสานพลังธุรกิจเพื่อสังคมว่า “…สสส เน้นการทำงานเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพประชากรทุกวัย โดยการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม วิถีชีวิต และการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมและสภาพแวดล้อม รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพตามเป้าหมายระยะ 10 ปี ของ สสส. เพื่อให้การทำงานสร้างเสริมสุขภาพสามารถขยายฐานสร้างความครอบคลุมได้มากขึ้น”
“สสส. จึงมีแนวทางการทำงานสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน เพื่อให้เกิดการขยายทรัพยากรในการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยการร่วมสร้างระบบนิเวศเชิงนโยบายใหม่ เพื่อพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม และกลุ่มกิจการเพื่อสังคม โดยเฉพาะด้านสุขภาพและการสร้างเสริมสุขภาพจึงเป็นอีกหนึ่งบทบาทของ สสส.” ดร.ประกาศิต กล่าว
ยกตัวอย่างงานหรือบริการในลักษณะ “วิสาหกิจสังคม” อาทิ ด้านการบริการสุขภาพ เช่น บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์, การให้บริการดูแลผู้สูงอายุ, ตลาดเขียว Greenery Market, เครื่องวัดฝุ่นอย่างง่าย, บริการ หรือในด้านสังคม เช่น ThaiHealth Academy, กลุ่มวิสาหกิจชุมชน “อาสาคืนถิ่น” การจ้างงานคนพิการ เป็นต้น
“ในระยะต่อไป สสส. และ สวส. มีแผนความร่วมมือในลักษณะ “Innovative partnership” เพื่อพัฒนากลไกการทำงานร่วมในรูปแบบของ Health Promotion Grooming Platform เพื่อการบ่มเพาะพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม และกลุ่มกิจการเพื่อสังคมด้านสุขภาพ…
…โดยแพลตฟอร์มนี้จะประกอบด้วย ระบบกลไกพี่เลี้ยง ระบบประเมินความพร้อมและรับรองมาตรฐาน รวมทั้งเครื่องมือประเมินผลกระทบทางสังคมที่สะท้อนการเป็นกลไกทางสังคมของวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านสังคมและสุขภาพของประชาชน และผู้ให้บริการหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพในประเทศไทยได้” ดร.ประกาศิต กล่าวย้ำ
จึงอาจสรุปได้ว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นแนวทางการดำเนินงานที่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับสังคมได้ ด้วยการเสริมสร้างความรู้ และรูปแบบการทำธุรกิจ จากองค์กรต่าง ๆ เพื่อผนวกรวมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระดับชุมชน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก จนกระจายได้ เป็นลำดับถัดไป
ซึ่งความท้าทายนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากหลากหลายภาคส่วนเพื่อให้ SE สามารถก้าวข้ามอุปสรรคไปได้
สสส. มีความมุ่งเน้นในการเสริมสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสานพลังสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับทุกคนบนแผ่นดินไทยต่อไป.