Stop Sexual Harassment สร้างสังคมปลอดการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน
เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : งานแถลงข่าวเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจการป้องกันการคุกคามทางเพศ
และ ประกาศเจตนารมณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงละเมิด หรือคุกคามทางเพศในการทำงาน 4 มิ.ย. 2567
ภาพโดย Team Content www.thaihealth.or.th และ แฟ้มภาพ
จากการสำรวจสถานการณ์ด้านการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงาน สสส. ร่วมกับ นิด้าโพล พบว่า มี 23.5% หรือเกือบ 1 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คน ในกลุ่มอาชีพข้าราชการ ลูกจ้างรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจและเอกชน เคยเจอกับตัว กอด-จูบ-ลูบ-คลำ มีครบ
มากสุด คือ สายตาแทะโลม 86.21% คุกคามด้วยคำพูด ถึงรูปร่าง-สัดส่วน 50% ขั้นชักชวนมี sex 2.88% หนักสุดใช้กำลัง และ อีก 6.3% หรือ 126 คน เคยถูกคุกคามในที่ทำงาน แต่เหยื่อ-ผู้พบเห็น ส่วนใหญ่เลือกนิ่งเฉย
ผู้คุกคามทางเพศอันดับหนึ่ง คือ เพื่อนร่วมงาน 81.75% หัวหน้า/ผู้บังคับบัญชา 16.67% ลูกค้า/ผู้รับบริการ 8.73% ลูกน้อง/ผู้ใต้บังคับบัญชา 5.56% ผู้บริหาร/เจ้าของบริษัท 3.17% ตามลำดับ โดยมีผู้ที่ถูกคุกคาม 38.10% ที่ไม่ทำอะไรเลย และมีเพียงไม่ถึง 3% เท่านั้นที่ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกหรือแจ้งความ
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ผู้ที่เคยพบเห็นการคุกคามทางเพศ อีก 55.32% ที่ไม่ทำอะไรเลย จึงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศภายในที่ทำงานกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ ทุกคนต้องให้ความสำคัญและไม่เพิกเฉยต่อการคุกคามในทุกเหตุการณ์ อันเป็นต้นเหตุของปัญหาความรุนแรงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจต่อไป
จึงเป็นที่มาของการเรียกร้อง เชิญชวนทุกภาคส่วน ร่วมสร้าง สานพลัง ภาคีเครือข่าย “สังคมปลอดจากการคุกคามทางเพศ” พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ แนวทางยกระดับตามมาตรฐานสากล การอบรมให้ทุกองค์กร จาก นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เมื่อ วันที่ 4 มิ.ย. 2567 ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ แสดงเจตนารมณ์การป้องกันการคุกคามทางเพศ ชัดเจน ที่ว่า…
…ในที่ทำงานจะมีทั้งเจ้านาย-ลูกน้อง ในบางครั้งผู้มีอำนาจก็อาจจะใช้อำนาจในการเอาเปรียบหรือคุกคามผู้มียศตำแหน่งต่ำกว่า เราอาจจะมองปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงานเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ว่าจะด้วยวาจา สายตาท่าทาง ซึ่งในการละเมิดหลาย ๆ ครั้ง อาจทำให้คนอื่นอึดอัด ไม่พึงพอใจและมีความเสี่ยงที่ส่งผลต่อจิตอีกด้วย
“เรา สสส. มีเจตนารมณ์ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างบุคคล และสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ดี มีความปลอดภัย เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ปราศจากการล่วงละเมิด โดยให้เกียรติซึ่งกันและกันและการทำงานพร้อมสร้างกลไกกระบวนการป้องกันและแก้ไขเพื่อไม่ให้มีการล่วงละเมิดคุกคามทางเพศในการทำงานด้วย” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
สอดรับกับ นางสาวจิตติมา ภาณุเตชะ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวเสริมถึงช่องโหว่สำคัญของปัญหาการคุกคามทางเพศว่า หลายคนผู้พบเห็นมองว่า ปัจจุบันสังคมมีความตื่นตัวในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น องค์กรจำเป็นต้องมีแนวทางและกระบวนการรับมือการคุกคามทางเพศ คือ เพิ่มทักษะความรู้ และแนวทางรับมือป้องกันให้กับพนักงาน ทั้งช่องทางตรวจสอบ ร้องเรียนที่เป็นธรรม เพื่อให้เกิดสังคมการทำงานที่เป็นมิตรมากขึ้น ซึ่งการเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ในองค์กร จะสามารถทำให้สังคมรับรู้และต่อต้านการคุกคามทางเพศอย่างเป็นวงกว้างด้วยเช่นกัน
ขานรับจาก รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงลักษณะการคุกคามทางเพศว่า การร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมคุกคามทางเพศนั้นเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาผู้ถูกกระทำเลือกที่จะเพิกเฉยต่อการถูกคุกคามจากคำพูด และอาจไม่ต้องการรับรู้ แต่เราต้องทำให้ เรื่องการต่อต้านคุกคามทางเพศ ในองค์กรมีความเข้มแข็ง เพื่อให้ผู้ถูกกระทำมีความกล้าที่จะเรียกร้องความยุติธรรมด้วย
“ ผู้นำองค์กรต้องมีวิสัยทัศน์ต่อต้านการคุกคามทางเพศที่ชัดเจน และเป็นแบบอย่างที่ดี มีการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และใช้ข้อมูลสถานการณ์ภายในองค์กรมาออกแบบระบบเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นด้วย” รศ.ดร.สุชาดา กล่าว
ขณะเดียวกัน นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย นายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ ได้เผยประสบการณ์เคยถูกคุกคามทางเพศว่า “เคยถูกชาวต่างชาติ ละเมิดด้วยการเอามือมาลูบ จับร่างกาย โดยผู้ที่กระทำคิดว่าเขาทำได้ และภรรยาของเขาก็ยิ้มเหมือนรู้สึกชอบใจด้วย ในสังคมอื่นอาจจะมองเป็นเรื่องปกติ เช่น ทักทายว่าอ้วนจัง เซ็กซี่จัง ก็ไม่ควร” เธอกล่าวเสริม
สำหรับกลไกและกระบวนการในการป้องกันการคุกคามทางเพศ ของ สสส. ในองค์กรตามมาตรฐานสากล
- ตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนภายนอกคุ้มครองเหยื่อ
- มีแนวปฏิบัติการรักษาความลับ
- สสส.จัดอบรม เรื่องการปกป้อง คุ้มครองการคุกคามทางเพศ ให้ความรู้แก่บุคลากร และ จะขยายผลไปถึงภาคีเครือข่ายกว่า 2,000 องค์กร ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานการตรวจสอบ โดยจะไม่สนับสนุน หรือร่วมดำเนินงาน
ทั้งนี้ สสส. มีภาคีเครือข่ายที่ทำงานป้องกันการคุกคามทางเพศ พร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทั้งองค์ความรู้ ชุดข้อมูลวิชาการ กระบวนการเรียนรู้ และจัดอบรมเกี่ยวกับการป้องกันการคุกคามทางเพศในทุกรูปแบบ ติดต่อที่ 02 343 1500 Facebook : สสส. หรือ Facebook นับเราด้วยคน
สสส. พร้อมเดินหน้าสร้างความเข้าใจเรื่องการคุกคามทางเพศ และเพศวิถีต่อไป ไม่สนับสนุนการคุกคามทางเพศทุกรูปแบบและมุ่งกระจายความรู้สู่สังคม