Stop Fake News รู้ทัน ป้องกันข่าวลวง
เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก เวทีเสวนา “รู้จัก Cofact พื้นที่ตรวจสอบข่าวลวง” ในงาน Thailand International Health Expo 2022
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th แฟ้มภาพ เเละ สสส.
“ดื่มน้ำมะนาว ผสมน้ำส้มสายชู และโซดา ช่วยแก้โควิด-19 “
“วางก้อนน้ำแข็งบนท้ายทอย ช่วยรักษาโรคทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ และอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย”
หลายคนอาจเคยเห็นประโยคข้างต้นผ่านตามาบ้างตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ข้อมูลเหล่านี้ถูกเผยแพร่ และส่งต่อออกไปเรื่อย ๆ ในบางครั้งก็มีการสร้างเครดิต ความน่าเชื่อถือ ด้วยการอ้างว่าเป็นข้อมูลที่มีแหล่งที่มาจากบุคลากรทางการแพทย์ หรือหน่วยงานของภาครัฐ ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลเหล่านั้นเป็นข้อมูลเท็จ หรือ fake news
ในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย และรวดเร็ว ทุกคนต่างมีช่องทางในการผลิต เผยแพร่ และส่งต่อเป็นของตัวเอง ใคร ๆ ก็สามารถเป็นสื่อได้ ปัญหาที่ตามมา ก็คือ การเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง บิดเบือน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ยิ่งถ้าหากเป็นข้อมูลสำคัญทางสุขภาพ แล้วคนป่วย หรือคนที่มีอาการอยู่ หลงเชื่อ แล้วนำไปทำตาม นั่นอาจทำให้เกิดผลกระทบ หรือความเสียหายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นตามมาได้
จากเวทีเสวนา “รู้จัก Cofact พื้นที่ตรวจสอบข่าวลวง” ในงาน Thailand International Health Expo 2022 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย ได้เล่าถึงเครื่องมือสำคัญในการช่วยตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ว่า Cofact เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยในการตรวจสอบข่าวลวงด้วยตัวเอง ผ่านโปรแกรมการพูดคุยอัตโนมัติ (Chatbot) ไลน์ @cofact และฐานข้อมูลในเว็บไซต์ โดยรวบรวมข้อมูล ช่วยค้นหา และตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ซึ่งสามารถที่จะตรวจสอบข้อมูล ข่าวสาร ได้หลากหลายด้าน โดยเฉพาะข้อมูลทางด้านสุขภาพ ซึ่งมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ
“แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะอยู่กับเรามานานแล้ว แต่สถานการณ์ข่าวลวง หรือ Fake News นั้นยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลบางอย่างก็เป็นข้อมูลเก่าที่ถูกนำกลับมาแชร์ซ้ำ ๆ วิธีการตรวจสอบข่าวลวง ก็คือ เมื่อได้รับข่าวสารมา ให้ตั้งข้อสงสัย หรือข้อสังเกตไว้ก่อน อย่าเพิ่งรีบเชื่อ และแชร์ต่อ แล้วตรวจสอบหาแหล่งที่มาที่ถูกต้องของข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะสร้างความเสียหายและผลกระทบต่าง ๆ ตามมาได้ โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารทางด้านสุขภาพ ไม่ควรเชื่อ และทดลองทำตาม เพราะอาจเกิดอันตรายได้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง” นางสาวสุภิญญากล่าว
การสังเกตข่าวปลอม หรือ Fake News มีเทคนิค 10 ข้อ ดังนี้
1. สงสัยข้อความพาดหัว ข่าวปลอมมักมีข้อความพาดหัวที่ดึงดูดความสนใจโดยใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด และเครื่องหมายอัศเจรีย์
2. สังเกตที่ URL หาก URL หลอกลวงหรือดูคล้าย อาจเป็นสัญญาณของข่าวปลอมได้ เว็บไซด์ข่าวปลอมจำนวนมากมักเปลี่ยนแปลง URL เพียงเล็กน้อยเพื่อเลียนแบบแหล่งข่าวจริง
3. สังเกตแหล่งที่มา ตรวจดูให้แน่ใจว่าเรื่องราวเขียนขึ้นโดยแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ และมีชื่อเสียงด้านความถูกต้อง หากมีเรื่องราวมาจากองค์กรที่ชื่อไม่คุ้นเคย ให้ตรวจสอบที่ส่วน "เกี่ยวกับ" เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม
4. มองหาการจัดรูปแบบที่ไม่ปกติ เว็บไซต์ข่าวปลอมจำนวนมากมักมีการสะกดผิดหรือวางเลย์เอาต์ไม่ปกติ โปรดอ่านอย่างระมัดระวังหากคุณเห็นสัญญาณเหล่านี้
5. การพิจารณารูปภาพ ข่าวปลอมมักมีรูปภาพหรือวิดีโอที่ไม่เป็นความจริง บางครั้งรูปภาพอาจเป็นรูปจริงแต่ไม่เกี่ยวกับบริบทของเรื่องราว คุณสามารถค้นหาเพื่อตรวจสอบได้ว่ารูปภาพเหล่านั้นมาจากไหน
6. ตรวจสอบวันที่ เรื่องราวข่าวปลอมอาจมีลำดับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผล หรือมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ของเหตุการณ์
7. ตรวจสอบหลักฐาน ตรวจสอบแหล่งข้อมูลของผู้เขียนเพื่อยืนยันว่าถูกต้อง หากไม่มีหลักฐานหรือความน่าเชื่อถือของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีชื่อเสียง อาจจะระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม
8. ดูรายงานอื่น ๆ หากไม่มีแหล่งที่มาอื่นๆ ที่รายงานเรื่องราวเดียวกัน อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอมหากมีรายงานข่าวโดยหลายแหล่งข่าวที่คุณเชื่อถือได้มีแนวโน้มว่าข่าวดังกล่าวจะเป็นข่าวจริง
9. เรื่องราวนี้เป็นเรื่องตลกหรือไม่ บางครั้งอาจแยกข่าวปลอมจากเรื่องตลกหรือการล้อเลียนได้ยาก ตรวจสอบดูว่าแหล่งที่มาของข่าวขึ้นชื่อเรื่องการล้อเลียนหรือไม่ และรายละเอียดตลอดจนน้ำเสียงของข่าวฟังดูเป็นเรื่องตลกหรือไม่
10. เรื่องราวบางเรื่องอาจตั้งใจเป็นข่าวปลอม ใช้วิจารณญาณเพื่อคิดวิเคราะห์เรื่องราวที่คุณอ่าน และแชร์เฉพาะข่าวที่คุณแน่ใจว่าเชื่อถือได้เท่านั้น
นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ หัวหน้าทีมศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. กล่าวว่า ในโลกดิจิทัล ทุก ๆ อย่างสามารถสร้างและปลอมแปลงได้ ความรุนแรงของข่าวลวงหรือข่าวปลอม คือ ความจริงกลายเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ คนสนใจจะแชร์แต่ข้อมูลที่ตัวเองชอบ และอยากจะเชื่อ ทำให้เกิดการสรุปหรือตัดสินไปก่อน นำไปสู่ปัญหาการสร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech รวมทั้งปัญหาภัยไซเบอร์ ซึ่งทำให้เสียอนาคต และทรัพย์สินได้ ดังนั้น ประชาชนควรได้รับความช่วยเหลือให้มีความรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อข่าวลวงต่าง ๆ
“นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำให้เกิดกระบวนการทางกฎหมายที่ชัดเจนนำไปสู่ความรับผิดชอบที่สมเหตุสมผล เพิ่มบทลงโทษ เมื่อมีการทำผิดในการเผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลเท้จ ก็ให้ลงโทษตามยอด Follower ของผู้กระทำความผิด เพื่อสร้างความตระหนัก และความรับผิดชอบในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น” นายพีรพล กล่าว
ในยุคดิจิทัลที่มีข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็ว เราควรร่วมมือกันทำหน้าที่เผยแพร่และส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้อง มีประโยชน์ ไม่สร้างความเข้าใจผิด หรือความตื่นตระหนกให้กับสังคม Cofact เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ทุกคนจะได้แลกเปลี่ยน และตรวจสอบข้อมูลร่วมกัน เพื่อคัดสรรข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์มากที่สุดก่อนเผยแพร่ออกสู่สังคมต่อไป
โลกผ่านหน้าจอเป็นเรื่องที่เราต้องหมุนตามให้ทัน สสส. ทำหน้าที่จุดประกาย สาน เสริมพลัง กระตุ้นให้คนไทยรู้เท่าทันสื่อ ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและรวดเร็วในสังคมดิจิทัล เลือกรับและส่งต่อข้อมูลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อก้าวสู่สังคมแห่งสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน