‘Spark U’ ใต้ลมหายใจคนรุ่นใหม่ปลุกใจเมือง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
อนาคตอยู่ในมือคนรุ่นใหม่คงไม่ใช่คำกล่าวเกินจริง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) จึงริเริ่มโครงการ Spark U ปลุกใจเมือง ให้เยาวชนพลเมืองทั่วประเทศแสดงเจตจำนงในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย
สำหรับภาคใต้ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ร่วมกับ สงขลาฟอรั่ม กลุ่มมานีมานะ และ สโมสรพื้นที่นี้..ดีจัง ระดมกลุ่มพลังเยาวชนพลเมืองจากจังหวัดต่างๆ ร่วมเดินทางเพื่อเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง Lesson Journey for Change ตลอดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนรวมพลกันจัดงานมหกรรมเยาวชนสร้างสรรค์ภาคใต้ "ใต้ลมหายใจ" ณ ย่านเมืองเก่าสงขลา ในวันที่ 13 สิงหาคม 2560 นี้
ห้องเรียนเชิงปฏิบัติการที่เยาวชนใต้ ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีด้วยกัน 3 หัวข้อหลักคือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อัตลักษณ์และพหุวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและนวัตกรรม
ห้องเรียนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดที่หาดชลาทัศน์ แหลมสมิหลา จังหวัดสงขลา โดยกลุ่ม Beach for Life และ Law Long Beach สงขลาฟอรั่ม กลุ่มนักศึกษาที่อาสาขึ้นมาปกป้องชายหาดของเมืองสงขลา พาเพื่อนเยาวชนไปทดลองวัดขนาดหาดทรายว่าลดน้อยเพิ่มขึ้นอย่างไร ชมการเติมทรายธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้โครงสร้างแข็ง เช่น คอนกรีต มาทำเขื่อน เยือนป่าสนชายหาดซึ่ง ชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ และพูดคุยถึงสิทธิในการปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น
"เริ่มจากมีเพื่อนที่เรียนด้วยกันเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่มมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการอนุรักษ์ชายหาด เรานั่งฟังแต่ก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก จนวันหนึ่งเพื่อนคนนั้นเอาแบบ สอบถามมาให้ทำ หนูจำคำถามได้แม่นเลย เขาถามว่า คุณรู้จักโครงสร้างแข็งไหม แล้วคิดว่าชายหาดพังทลายเพราะอะไร แล้วเขามีข้อมูลแนบมากับแบบสอบถามด้วย ตอนนั้นมันเกิดคำถามในใจกับตัวเองว่าที่ผ่านมาเราละเลยปัญหาที่อยู่หน้าบ้านได้อย่างไร ด้วยความที่ชายหาดกับโรงเรียนอยู่ไม่ไกลกัน เลยตัดสินใจสมัครเข้ากลุ่ม Beach for Life" เพรซเชิซ เอเบเล อีเลชุคกู หรือ น้องเกรซสมาชิกกลุ่ม Beach for Life นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหาวชิราวุธ เล่าจุดเริ่มต้นของการร่วมรักษาชายหาด
ห้องเรียนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 2 ที่เยาวชนใต้ได้ไปเรียนรู้คือ หาดสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งกำลังมีปัญหาการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่จะทำให้วิถีชุมชนประมงที่นี่ได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างหนัก กลุ่มเยาวชนร่วมกัน ลงมือทำ อูหยำ หรือบ้านปลา ภูมิปัญญาชาวบ้านในการอนุรักษ์พันธุ์ปลาให้คงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลที่เป็นเหมือนชีวิตของทุกคน
"ดีใจที่เพื่อนคนอื่นได้มาสัมผัสที่นี่ ได้ไปสร้างบ้านปลาด้วยกัน รู้ประวัติของการสร้างบ้านปลาเป็นมาอย่างไร ทะเลของเรากว่าจะอุดมสมบูรณ์เป็นมาอย่างไร เราเกิดแรงบันดาลใจจากข่าวที่ว่าเขาจะมาสร้างท่าเรือน้ำลึกตรงนี้ ความรู้สึกที่ว่าเราอยู่ทะเลมานาน กลับจากโรงเรียนก็มาเล่นทะเล ไม่อยากเสียทะเลผืนนี้ไป เราอยากขึ้นมาปกป้องบ้านตัวเอง รวมเป็นกลุ่มเด็กรักหาดสวนกง พอเพื่อนๆ จากสงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี และสามจังหวัดมาเห็นเนินทรายชายหาดอายุหกพันกว่าปีนี้ เรายิ่งรู้สึกภูมิใจ มีกำลังใจ" ยะ กล่าวจากนั้นกลุ่มเยาวชนหลายสิบชีวิตได้ไปเรียนรู้อัตลักษณ์และพหุวัฒนธรรมสามจังหวัด ชายแดนใต้ โดยแบ่งสายไปเรียนรู้กิจกรรมเก็บขยะของกลุ่ม Trash Hero ม.อ.ปัตตานี และเยือนป่าฮาลาบาลา บ้านของนกเงือกที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส อีกกลุ่มไปเรียนรู้สังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติที่เมืองเก่าสายบุรี จังหวัดปัตตานี กลุ่มสุดท้ายไปเยือนกลุ่มดอกไม้ยิ้ม จังหวัดยะลา และบ้านพิราบขาว ที่อำเภอยะหริ่ง
"กลุ่มดอกไม้ยิ้มจะทำผ้าบาติกมัดย้อมกับขนมพื้นบ้านในชุมชน ปกติก็จะมีเด็กๆ ในชุมชนมาเรียนรู้ทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป พอมีเพื่อนๆ จากจังหวัดอื่นๆ มาแลกเปลี่ยนหรือเราได้ไปดูงานบ้านพิราบขาว เราก็ได้ใช้ประโยชน์ อย่างของบ้านพิราบขาวเขาทำงานศิลปะ เช่น แกะสลักกะลามะพร้าว แล้วเขาขายได้จริงๆ เป็นผลิตภัณฑ์ มีการสร้าง Story ให้เนื้อหากับผลิตภัณฑ์ของเขาให้เป็นที่สนใจ เรียนรู้วิถีคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู เราก็เอามาคิดต่อว่าเราจะพัฒนาของเราให้เป็นผลิตภัณฑ์ได้บ้างไหม ก็เป็นภูมิปัญญาและนวัตกรรมของคนใต้ได้นะคะ" ซาห์ บอกเล่า
จบห้องเรียนสุดท้ายที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่นี่มีการสืบค้นพบเมืองโบราณที่มีซากสถานให้เห็นอยู่ มีภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น หมอผี ตีมีด การทำอาหารพื้นบ้านให้ตรงกับธาตุดินน้ำลมไฟ กลุ่มเยาวชนใต้ได้มาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันและกัน ท่ามกลางไมตรีจิตมิตรภาพและความอุดมสมบูรณ์ของผลหมากรากไม้ เข้าใจในรากเหง้าของท้องถิ่น ใช้เป็นฐานไปสู่อนาคต
"เห็นถึงความตื่นตัวของคนในชุมชนที่ช่วยกันจัดกิจกรรม ช่วยกันอนุรักษ์ความเป็นเวียงสระ คนในชุมชนไม่มองข้ามต้นทุนที่ตัวเองมี บ้านหลังเดียวที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ได้หลายอย่าง ทั้งเรื่องอาหาร วิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญา การใช้ความรักปรับเปลี่ยนพฤติกรรม" ไหม ชุติมณฑน์ ติกแก้ว กลุ่มเขาเจียกเรียกยิ้ม เครือข่ายพัทลุงติดยิ้ม แสดงความเห็นหลังได้มาเยี่ยมเยือนเวียงสระ
หลังร่วมหัวจมท้ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมาตลอดเดือนกรกฎาคม เยาวชนใต้เครือข่าย Spark U ปลุกใจเมือง จะมาร่วมกันนำเสนอสิ่งที่พวกเขาอยากพูดถึงหัวใจของภาคใต้ อะไรทำให้หัวใจภาคใต้ไหวเต้นอย่างมีความสุข ทั้งในรูปแบบเวิร์กช็อป สนทนา และกิจกรรมศิลปะ วัฒนธรรมหลากหลายมากมาย ในงานมหกรรมเยาวชนสร้างสรรค์ "ใต้ลมหายใจ" วันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคมนี้ ที่ถนนยะหริ่ง ย่านเมืองเก่าสงขลา
ร่วมสัมผัสหัวใจคนใต้รุ่นใหม่ แล้วจะรู้ว่าแง่งาม คุณค่า แรงบันดาลใจของภาคใต้เป็นอย่างไร