‘SME มีความสุข’ ดูแลพนักงาน-ส่งผลการผลิต
ที่มา : ข่าวสด
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนิน โครงการส่งเสริมผลิตภาพและสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Happy and Productive Workplace : SHAP) เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตควบคู่กับการสร้างความสุขให้กับบุคลากรในสถานประกอบการ
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวถึงความเป็นห่วงว่าองค์กรและบริษัทเอกชนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องจิตใจและสังคมความเป็นอยู่ของพนักงานมากพอ รวมทั้งไม่สามารถทำให้เกิดจินตปัญญาได้ หรือเรียกว่าไม่ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ทั้งที่ปัจจุบันการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องมี "สุขภาวะองค์กร" ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ ร่างกาย จิตใจ สังคม และจินตปัญญา
สสส.และ กสอ.จึงจัดฝึกอบรมความรู้และแนวทางให้บุคลากรของสถานประกอบการ จัดทำแผนงาน ส่งเสริมการสร้างสุขภาวะองค์กรให้คำปรึกษาแนะนำการจัดกิจกรรมสร้างความสุข เพื่อให้เกิดสุขภาวะองค์กรและสร้างความสุขในมิติต่างๆ ที่เหมาะสมกับพนักงานในแต่ละสถานประกอบการ พร้อมทั้งติดตามประเมินผล
โครงการ SHAP นี้ใช้เงินจำนวนไม่มาก แต่ได้ผลตอบแทนกลับมาอย่างมหาศาลเกือบ 20 เท่า ยิ่งหากขยายการดำเนินโครงการออกไปยังเอสเอ็มอีทั่วประเทศให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจ จะช่วยให้เอสเอ็มอีมีความแข็งแกร่ง สามารถดูแลบุคลากรภายในองค์กรได้ดียิ่งขึ้น บุคลากรก็จะมีความผูกพัน เกิดความจงรักภักดีและอยู่ทำงานกับองค์กรได้เป็นระยะเวลานานอย่างมีความสุข
"ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีของไทยอาจมุ่งเน้นเรื่องความสามารถในการทำงานเป็นสำคัญ แต่ในความเป็นจริงนั้นความสามารถในการใช้ชีวิตก็สำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน แม้กระทั่งบุคลากรภายใน กสอ. และสสส. เองก็ต้องสร้างบุคลากรที่มีความรู้เรื่องนี้ เพื่อออกไปสร้างความเปลี่ยน แปลงวัฒนธรรมขององค์กรหรือบริษัทต่างๆ มีทัศนคติที่ดี ตระหนักถึงสุขภาวะที่ดีนำพาองค์กรให้ก้าวหน้า ที่สำคัญยังเป็นส่วนหนึ่งที่ตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 ได้" นพ.ชาญวิทย์กล่าว
ด้าน นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดี กสอ. กล่าวว่า จากการติดตามประมวลผลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ร่วมโครงการ SHAP ประจำปี 2560 นำร่อง 159 แห่ง พบว่าการสร้างสุขภาวะในองค์กรให้คนงานมีความสุขในการทำงาน สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ 95 เปอร์เซ็นต์ โดย ปี 2561-2563 ตั้งเป้าหมายดึงเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอีก 114 แห่ง
"ยกตัวอย่างการลดความสูญเสียของพนักงาน ซึ่งหลายบริษัทประสบปัญหาพนักงานเข้าใหม่-ลาออกจำนวนมากคิดเป็นสัดส่วนถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้บริษัทเสียเวลา เสียเงินในการฝึกพนักงานใหม่ กว่าจะมีความชำนาญจนสามารถทดแทนพนักงานเดิมได้ นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ แต่หากบริษัทสร้างสุขภาวะองค์กรที่ดี ทำให้พนักงานอยู่ทำงานกับบริษัทยาวนานขึ้น โดยบริษัทไม่ต้องเสียเงินเสียเวลาฝึกพนักงานใหม่ ความสูญเสียก็น้อยลง การทำงานก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น" อธิบดี กสอ.กล่าว
ข้อมูลสถิติจากที่ปรึกษาโครงการศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศ ไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ติดตามและประเมินผลจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยพบค่าเฉลี่ยความสุข HAPPINOMETER เพิ่มขึ้นทุกมิติจาก 59.84 เป็น 62 เปอร์เซ็นต์
เมื่อพนักงานมีขวัญกำลังใจและมีส่วนร่วมพัฒนาองค์กรมากขึ้น มีบรรยากาศ ในการทำงานที่ดีขึ้น พนักงานในองค์กรทุ่มเทในการทำงานมากขึ้น มีการขาดงาน การลาป่วย การลากิจ และการลาออกลดน้อยลง ส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถึง 7.8 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าผลตอบแทน ที่คิดเป็นเงินได้กว่า 240 ล้านบาท ภายใต้วงเงินดำเนินการ 14 ล้านบาท
สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาพนักงาน ลาออกนับเป็นการลงทุนมหาศาล หากบริษัทลดปัญหาดังกล่าวลงได้ 10 เปอร์เซ็นต์ จะช่วยทุ่นงบประมาณที่ต้องสูญเสียในการรอจนกว่าพนักงานใหม่จะทำงานแทนพนักงานเก่าได้มากกว่า
ดังนั้น การทำให้พนักงานมีความพร้อม และมีทัศนคติใหม่ในการทำงาน มีผลต่อการทำงานให้องค์กรก้าวหน้า จึงจำเป็นต้องหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและจิตใจเป็นลำดับแรกๆ เพราะอนาคตมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจมีนโยบายขยายอายุเกษียณที่ 65 ปี
สสส.จึงต้องวางรากฐานการดูแลบุคลากรตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้คนพร้อมทำงานและมีขีดความสามารถในการแข่งขัน