Relearn 2025 ลดช่องว่างระหว่างวัย เชื่อมใจให้ใกล้กัน

เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : งานแถลงข่าว เทศกาล Relearn Festival 2025
ภาพโดย พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคดิจิทัล ส่งผลให้เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นความหวังอนาคตของชาติต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านพัฒนาการและคุณภาพชีวิตของเด็กไทยที่ต้องเผชิญกับช่องว่างระหว่างวัยและความเปราะบางของสถาบันครอบครัว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพิ่มขึ้น


                    ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลัง MAPPA – มิวเซียมสยาม และ ภาคีเครือข่าย จัดงาน “มหกรรม Relearn Festival 2025” ภายใต้แนวคิด “Intergeneration ลดช่องว่างระหว่างวัย สร้างความเข้าใจระหว่างกัน” ระหว่างวันที่ 11 มกราคม – 9 กุมภาพันธ์ 2568 ณ มิวเซียมสยาม มีกิจกรรมทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ตลอดทั้งเดือน

                    และที่สำคัญ Relearn Festival เดินทางมาถึงครั้งที่ 3 แล้ว นับเป็นเทศกาลสุดสร้างสรรค์สำหรับเด็ก พ่อแม่ และครอบครัว ในการเรียนรู้ทักษะการเลี้ยงดู และสร้างทักษะเด็กยุคใหม่ ที่อยากให้ทุกท่านได้มาร่วมสำรวจตัวตน และการสร้างสายสัมพันธ์หลายรูปแบบด้วยมุมมองที่เปิดกว้างโอบรับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ

                    ซึ่งสำหรับปีนี้ ว่าด้วยเรื่องราว ตัวตน และความสัมพันธ์ของผู้คน ในสภาพแวดล้อมของช่วงวัยที่แตกต่างกัน แม้จะเติบโตในบริบทที่ต่างกัน เราเชื่อมต่อกันได้ด้วยการเรียนรู้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่อีกด้วย

                    เห็นได้จากคำที่ว่า “One Root, Endless Bloom.” เพราะรากเพียงหนึ่งราก จะงอกงามออกเป็นดอกไม้บานไม่รู้จบ” จากคำกล่าวของ นางสาวมิรา เวฬุภาค ผู้ก่อตั้ง Mappa ดังก้องในงาน Relearn Festival 2025 ซึ่งได้เสียงตอบรับที่ดีจากครอบครัวที่เข้าร่วมงานในปีที่ผ่านมา อาทิ การเสวนา, นิทรรศการ, ดนตรี,งานศิลปะ และสนามเด็กเล่นที่เล่นร่วมกันได้ทุกวัย

                    ขณะที่ น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ระบุถึงจากรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2566 โดย สสส. และศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว พบว่า
                    …เด็กเยาวชนไทยเติบโตในครอบครัวเปราะบางที่มีปัญหาทับซ้อนและยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจ มีเด็ก 1.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 26.5% ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ต้องอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ในครอบครัวรายได้น้อย มีความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในรอบ 7 ปี จาก 1,001 ราย ในปี 2559 เป็น 2,347 ราย ในปี 2565

                    อีกทั้ง เด็กและเยาวชนรู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่อยู่พร้อมหน้า เกิดเป็นปัญหาช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ที่ส่งผลให้เกิดความตึงเครียด นำไปสู่การเกิดปัญหาทางด้านจิตใจและอารมณ์

                    ดังนั้น ปัญหาเหล่านี้สะท้อนความจำเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องเพิ่มความเอาใจใส่ในนิเวศการเติบโตของเด็ก เพื่อให้พวกเขามีสุขภาวะดีและเติบโตอย่างมีคุณภาพ


                    และหากจะย้อนกลับไปที่พื้นฐานของครอบครัวเอเชีย หรือครอบครัวไทย จะพบว่า รูปแบบครอบครัวไทยเริ่มปรับเปลี่ยนจากครอบครัวขยายที่มีคนอยู่ร่วมหลายเจเนอเรชั่นมาเป็นครอบครัวเดี่ยว ในสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างมีนัย ส่งผลให้ความอบอุ่นตามสไตล์ครอบครัวใหญ่ที่เคยมีเริ่มจางหาย มีระยะห่างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างปู่ย่าตายายกับหลานๆ ที่ไม่ได้อยู่ร่วมชายคา นานๆทีจะได้เจอกัน ทำให้จากญาติสนิทกลายเป็นเหมือนคนแปลกหน้า
                    จากข้อมูลของสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พบว่า… 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทย มีความเปราะบางทางจิตใจ เนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งความเสื่อมถอยของร่างกายจนทำกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ภาวะการพึ่งพาตัวเองลดลง
                    จากเคยเป็นผู้นำครอบครัว กลับกลายเป็นเพียงสมาชิกในบ้านที่ต้องพึ่งลูกหลาน รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระจึงนำมาซึ่งความวิตกกังวลต่างๆ เริ่มมองว่าตัวเองด้อยค่า โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตเพียงลำพัง เป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยว ขาดหลักประกันในชีวิต
                    “เพราะฉะนั้น การอยู่ร่วมกันแบบหลากหลายช่วงวัย หรือ Intergeneration Family ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกพูดถึงไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทยที่ต้องอาศัยการทำความเข้าใจหรือการปรับตัว แต่เป็นการคืนสู่ รากเหง้าแห่งความสุขที่แท้จริงของคำว่า “ครอบครัว” ที่คนไทยคุ้นชินอีกครั้ง” น.ส.ณัฐยา กล่าว


                    น.ส.สุขุมาล ผดุงศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า… “มิวเซียมสยามมีความตั้งใจที่จะเปิดพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ด้านวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ประเพณี และความเป็นไทย และเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมสร้างสรรค์อย่าง Relearn Festival ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ด้านการพัฒนาศักยภาพทั้งในตัวเด็ก พ่อ แม่ และครอบครัวด้วย”

                    ทั้งนี้มิวเซียมสยาม ได้จัดงาน Relearn Festival 2025 ให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรม 9 โซน ได้แก่ โซน Reignite Stage เวลากลางสร้างบทสนทนาร่วมกัน โซน Inter-Gen Playground สนามเด็กเล่นของคนหลากหลายวัย โซน Museum of Generation เชื่อมโยงคนต่างวัยเข้าด้วยกัน One Root Endless Bloom พบกับTIMOOT มาสคอตประจำเทศกาล


                    ตามด้วย โซน Mappa Land เทคโนโลยีสำหรับการเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชัน โซน Papa Project ชวนพ่อแม่พาลูกๆ มาสร้างเมืองในฝัน โซน The Tunnel of Echo Chambre Storytelling ร่วมสำรวจห้องแห่งเสียงสะท้อนผ่านนิทาน โซน Relearn Market การออกร้านจำหน่ายสินค้า และ เวิร์กช็อป โซน REFILL our belly ร้านอาหารที่จะเสิร์ฟบทสนทนาพร้อมกับเมนูแสนอร่อย กิจกรรมดังกล่าว จะดำเนินกิจกรรม ตั้งแต่ 11 มกราคม อย่างต่อเนื่องไปจนถึงช่วง 9 กุมภาพันธ์ เลยทีเดียว

                    สสส. มุ่งมั่นสร้างสะพานเชื่อมระหว่างรุ่นต่างๆ ในสังคม เพื่อลดช่องว่างและส่งเสริมความเข้าใจระหว่างกันในหลากหลายวิธีที่จะนำแนวคิดนี้ไปใช้ เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพื่อให้เยาวชนสามารถปรับตัวและเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีประสิทธิภาพ.

Shares:
QR Code :
QR Code