New Normal การศึกษาไทย วิชาการควบคู่สุขภาพกายใจ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


New Normal การศึกษาไทย วิชาการควบคู่สุขภาพกายใจ thaihealth


เเฟ้มภาพ


ความจำเป็นในการเลื่อนเปิดเทอมไปวันที่ 1 ก.ค.63 ทำให้เกิด New Normal ของการศึกษาไทย ทั้งรูปแบบการเรียนออนไลน์ ออฟไลน์ การเรียนรู้ที่บ้าน ดังนั้น ครู ผู้ปกครอง ต้องทำการบ้านให้มาก เพื่อจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสม เน้นฐานสมรรถนะของเด็กเป็นสำคัญ


ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กำหนดให้เปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.ค.2563 ระยะแรกให้ทยอยผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อจัดการศึกษา รูปแบบการเรียนการสอน ให้มีการดำเนินการทั้งแบบออนแอร์ผ่าน DLTV ออนไลน์ และออฟไลน์ในชั้นเรียน ซึ่งจะใช้วิธีผสมผสาน หรืออาจจะเป็นการเรียนรู้ที่บ้านกับครอบครัว อย่าง Home School แล้วแต่ความเหมาะสม บริบทของสถานศึกษาแต่ละแห่ง


ขณะที่ “กระทรวงสาธารณสุข” ได้ออกมาตรการหลักในการป้องกันโรคของสาธารณสุข ต้องมีมาตรการคัดกรองวัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าโรงเรียน สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา จัดให้มีจุดล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลอย่างเพียงพอ จัดให้มีการเว้นระยะห่าง ทำให้นักเรียนจะเหลือประมาณ 20-25 คนต่อห้อง ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย เช่น โรงอาหาร และลดความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน เป็นต้น


ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อธิบายถึง “New Normal” ที่จะทำให้ภาคการศึกษาต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ว่าเมื่อมีการปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย ส่งผลให้ทั้งภาคนโยบาย โรงเรียน ครู และนักเรียนนักศึกษา ต้องหันมาใช้การเรียนการสอนทางไกลอย่างเร่งด่วน ชวนให้หลายคนคิดว่า เมื่อโควิด-19 ผ่านไป การเรียนรู้ทางไกลและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้จะกลายเป็นความปกติใหม่ของการศึกษาไทยหรือไม่


ทว่าเมื่อมองการเรียนทางไกลและการเรียนออนไลน์ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ ดูท่าจะไม่ใช่ “ความปกติใหม่” เพียงแต่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของครู การจัดการเรียนทางไกลและการเรียนออนไลน์ที่ทั่วถึงและมีประสิทธิผลสูงสำหรับผู้เรียนทุกคน ต้องพึ่งพาหลายปัจจัย ทั้งความพร้อมด้านเทคโนโลยี ความพร้อมของครูในการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ และความพร้อมของครอบครัวและนักเรียนในการเรียนรู้จากที่บ้าน 


ปัจจัยเหล่านี้มีต้นทุนมหาศาลไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนอุปกรณ์ที่ภาครัฐต้องลงทุน ต้นทุนที่ครอบครัวนักเรียนต้องจ่าย ทั้งค่าอินเทอร์เน็ต ค่าอาหารกลางวัน ต้นทุนค่าเสียโอกาสของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องใช้เวลาดูแลการเรียนของลูกแทนการทำงานหารายได้ ที่งานวิจัยจำนวนไม่น้อยบ่งชี้ว่า ก่อให้เกิดผลลัพธ์ต่ำกว่าการเรียนตามปกติกับครูในห้องเรียน


New Normal  ของภาคการศึกษาไทย ควรเป็นการให้น้ำหนักแบบใหม่เพื่อจัดการปัญหาเดิม เช่น ให้น้ำหนักกับปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างครูและนักเรียนมากกว่าจำนวนชั่วโมงที่นักเรียนอยู่ในห้องเรียนหรือเรียนผ่านสื่อโทรทัศน์หรือสื่อออนไลน์ หรือ ให้น้ำหนักกับการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับความสนใจของนักเรียน เชื่อมโยงกับชุมชนและบริบทที่นักเรียนอยู่มากกว่าการเรียนรู้อิงตามมาตรฐานแบบเดียวกันทั้งประเทศ และให้น้ำหนักกับการเรียนรู้เพื่อสุขภาพกายและใจควบคู่กับการเรียนรู้ด้านวิชาการ เป็นต้น


สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า ปี 2563 นี้ เชื่อว่าการจัดการศึกษาแบบ Home School จะต้องมีมากขึ้น ดังนั้น บทบาทหน้าที่ของผู้ปกครองจึงมีความสำคัญมากขึ้น โดยพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องเป็นเสมือนผู้ช่วยครู ที่ต้องทำงานร่วมกับครูในการดูแลการศึกษาของเด็ก ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยสนับสนุนการจัดการศึกษาที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การสร้างความเข้าใจทั้งกับเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันและกัน


ประเทศไทยมีการจัดการศึกษาในรูปแบบทางไกล โดยมีทั้งแบบสดกับแบบแห้งที่สามารถเรียนย้อนหลังได้ อย่างตอนนี้ มีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม(DLTV)ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยการเรียนการสอน


ส่วนระดับอุดมศึกษามีการเรียนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต สื่อออนไลน์ โซเซียลมีเดีย โปรแกรมต่างๆ มากมาย ทำให้สะดวกและเชื่อมโยงการศึกษาถึงตัวเด็กได้ง่ายมากขึ้น และเป็นการสื่อสารทั้งทางเดียวและสองทาง ฉะนั้น การเรียนผ่านออนไลน์ ออนแอร์ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ นอกจากเรียนตามหลักสูตรการเรียนการสอนแล้ว ต้องมีการจัดกิจกรรมกระตุ้นให้เด็กคิดตาม


การเรียน New Normal ครูต้องทำการบ้านให้มาก และต้องประสานกับพ่อ แม่ ผู้ปกครองให้ช่วยดูแล และจัดกิจกรรม อาจต้องจัดตารางเรียนแบบเดียวกันทั้งประเทศ ที่สำคัญการเรียนรู้ต้องเน้นฐานสมรรถนะแก่เด็ก ให้เด็กมีทักษะเหล่านั้นจริงๆ เพราะตามแผนการศึกษาแห่งชาติ การเรียนการสอนต้องเป็นการเน้นสมรรถนะที่ไม่ใช่เพียงเด็กคิดเป็นเท่านั้น แต่ต้องมีทักษะ ปฎิบัติ และเข้าใจ คิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ในเรื่องนั้นๆ ได้ ซึ่งจะถือเป็นบทท้าทายให้แก่ครู และการจัดการศึกษาแบบ New Normal ผู้เรียนยังคงความสำคัญ


อย่างไรก็ตาม 1 ก.ค.2563 เป็นการเปิดภาคเรียนวันแรกในช่วงยุคโควิด-19 คงต้องมาติดตามว่าการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ และมาตรการที่ออกโดยหน่วยรัฐบาล กระทรวงจะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และนักเรียน นักศึกษา ครู ผู้ปกครอง สถานศึกษาจะปรับตัวรับมือกับการเรียนการสอนแบบ New Normal ได้มากน้อยเพียงใด 

Shares:
QR Code :
QR Code