NCDs กลุ่มโรคเรื้อรัง ที่ป้องกันได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


NCDs กลุ่มโรคเรื้อรัง ที่ป้องกันได้ thaihealth


แฟ้มภาพ


กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs กลุ่มของโรคที่มักจะเป็นเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น สามารถป้องกันได้โดยการปรับพฤติกรรมสุขภาพ และมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ


พลอากาศโท นายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในขณะที่โควิด-19 กำลังคร่าชีวิตประชากรทั่วโลกไปแล้วกว่า 8 แสนคน แต่ยังห่างไกลจากการเสียชีวิต ที่เกิดจากกลุ่มโรคที่เป็นแชมป์ในการคร่าชีวิต ประชากรโลกปีละกว่า 41 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั้งหมด และเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของคนไทยกว่า 3.9 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 74 กลุ่มโรคที่เป็นแชมป์ของ การคร่าชีวิตก็คือ “กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ที่มักจะเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ว่า “เอ็นซีดี” ซึ่งย่อมากจาก Non Communicable Disease หมายถึงโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อและไม่ติดต่อกันจากคนสู่คน หรือสัตว์สู่คน โรคกลุ่มนี้จะมีลักษณะเรื้อรัง ไม่หายเอง และโอกาสหายขาดเป็นไปได้ยาก


หากเปรียบเอ็นซีดีเหมือนกับต้นไม้ รากของเอ็นซีดีก็คือ ปัจจัยเสี่ยง ต้นก็คือปัจจัยเสี่ยงทางเมตาโบลิกซ์ และดอกใบของเอ็นซีดีก็คือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ถ้าเราไม่ให้มีรากเกิดขึ้น ต้นไม้ก็ไม่อาจเติบโต ผลิดอกออกผล แผ่กิ่งก้านสาขาได้ ดังนั้นถ้าเราลดปัจจัยเสี่ยง (ราก) ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ คือการปรับเปลี่ยนได้ คือการไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และการรับประทานอาหารที่มีผลเสียต่อสุขภาพ ก็เหมือนเราถอนรากถอนโคนเอ็นซีดี ทำให้ไม่เกิดเป็นลำต้น คือ ปัจจัยเสี่ยงทางเมตาโบลิกซ์ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง น้ำตาลในเลือดสูง และน้ำหนักเกินหรืออ้วน เมื่อไม่มีลำต้นก็จะป้องกันไม่ให้เกิดใบเกิดดอกของเอ็นซีดี ได้แก่ โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคปอดเรื้อรังตามมาได้


จึงสำคัญที่ต้องดูแลรากเหง้าของเอ็นซีดี คือปัจจัยเสี่ยงทั้ง 4 ประการ เราออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ เพราะการไม่ออกกำลังกายทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคเบาหวาน มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และตายก่อนวัยอันสมควร การออกกำลังกายอย่างน้อย 5 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30-60 นาที ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อเอ็นซีดีได้


การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดเอ็นซีดี ได้แก่ มะเร็งหลายชนิดโรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมองส่วนปลาย และโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากทำให้เกิดความเสี่ยงกับผู้สูบแล้ว ผู้สูบบุหรี่ ยังเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ใกล้ชิดด้วย การงดสูบบุหรี่จึงเป็นการป้องกันการเกิดเอ็นซีดีที่คุ้มค่าที่สุด เช่นเดียวกับการหยุดดื่มสุรา ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อเอ็นซีดี โดยเฉพาะโรคตับ โรคมะเร็ง และความดันโลหิตสูง


การรับประทานอาหารที่มีผลเสียต่อสุขภาพ ได้แก่ อาหารปริมาณมากเกินความต้องการ อาหารหวาน อาหารไขมันสูง อาหารเค็ม ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอ้วน เป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดเอ็นซีดี ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพด้วยปริมาณที่เหมาะกับความต้องการของร่างกาย การงดอาหารหวาน อาหารมัน งดของเค็ม จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเอ็นซีดีได้

Shares:
QR Code :
QR Code