‘Music Sharing’ ดนตรีเปลี่ยนชีวิต

ที่มา : เว็บไซต์ themomentum.co


ภาพประกอบจาก เว็บไซต์ themomentum.co


‘Music Sharing’ ดนตรีเปลี่ยนชีวิต thaihealth


อาร์ท ซี และโอ เป็นเด็กวัยรุ่นที่พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังหนึ่งไม่ไกลจากคลองเตยที่ซึ่งผมกำลังคุยกับแอ๋ม – ศิริพร พรมวงศ์


พวกเขากำลังเตรียมเครื่องดนตรีเพื่อที่จะไปเล่นในงานเย็นวันนี้ อาร์ทเป็นเด็กชุมชนคลองเตยอายุราวๆ 14-15 ปี เขามีพัฒนาการค่อนข้างช้า ความจำไม่ค่อยดี ในวงดนตรีเขาเป็นมือกลองที่ฝึกเล่นด้วยตัวเองโดยการเปิดยูทูบทำความเข้าใจ แล้วตีกลองตามด้วยความรู้สึก เพราะเขาไม่เข้าใจสิ่งที่ครูสอน แยกมือซ้ายมือขวาไม่ได้ แม้บางทีเขาจะทำตามใจตัวเองไปบ้าง เช่น หยุดตีกลองเพื่อขยับแว่น หรือตีจบเพลงแล้วเดินลงจากเวทีโดยไม่รอเพื่อนๆ แต่ตอนนี้เขาเป็นมือกลองตัวหลักของวงที่ไว้ใจได้


ส่วนซีเป็นมือกีตาร์ โอเป็นมือเบส ทั้งสองเป็นชาวมอญ อายุราวๆ 17-18 ปี ที่ตามครูแอ๋มมาฝึกดนตรีที่นี่และช่วยงานสอนดนตรีให้เด็กรุ่นเล็ก ทั้งสองคนมีชีวิตความเป็นมาที่ค่อนข้างลำบากลำบนและผ่านความเลวร้ายของสังคมหลากหลาย แต่ไม่สามารถเล่าให้ฟังในที่นี้ได้


อย่างไรก็ตาม พวกเขาเป็น 3 ในสมาชิกวงดนตรี 7 คนที่กำลังมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยดนตรี จากการช่วยเหลือของแอ๋ม — ครูสาวที่เปลี่ยนชีวิตพวกเขาด้วยดนตรี และเพื่อนๆ อาสาสมัครที่ทำงานในกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘Music Sharing’


แต่ดนตรีเป็นเพียง ‘เครื่องมือ’ ที่ครูแอ๋มใช้เพื่อที่จะนำพาเด็กๆ ไปสู่ทางเลือกของชีวิตที่ดีกว่าปัจจุบันของพวกเขา


แอ๋ม เป็นลูกสาวของเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคที่โรงพยาบาลวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เธอใช้ชีวิตในวัยเด็กส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาล กระทั่งเดินทางมาเรียนต่อพยาบาลที่มหาวิทยาลัยมหิดล แม่เป็นช่างเย็บผ้าทำงานที่บ้าน ชีวิตวัยเด็กของแอ๋มห้อมล้อมไปด้วย ‘พี่น้อง’ ซึ่งแม่รับมาเลี้ยงจากญาติที่ครอบครัวมีปัญหา เธอบอกว่าแม่เป็นคนขี้สงสาร จึงช่วยดูแลลูกๆ ของญาติเหล่านั้น แม่เลี้ยงลูกคนอื่นเหมือนลูกตัวเอง ส่งเสียให้เรียน สอนให้อ่านหนังสือ จนจบปริญญาตรีและมีงานทำกันทุกคน ในวัยเด็กแอ๋มจึงอยู่กับเด็กๆ เต็มบ้าน


“ตอนเด็กๆ เรารู้ว่าพ่อเป็นกลุ่มพนักงานระดับล่างของโรงพยาบาล ไม่ได้มีฐานะอะไร เราเคยรู้สึกว่าทำไมเวลาคนอื่นไปเที่ยว ไปงานกาชาด ถึงมีรถขับ แต่ที่บ้านเราไม่มีอะไรแบบนั้น เราอยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ทำยังไงก็ได้ให้ชีวิตของครอบครัวดีขึ้น และให้ทุกคนดีขึ้นด้วย ตอนเป็นเด็ก พ่อแม่อยากให้เรียนพยาบาล หมอ หรือเภสัช แต่เราไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร ตอนเรียนอยู่มัธยมฯ เคยมีความคิดว่าอยากเรียนสังคมสงเคราะห์ เพราะรู้สึกสนใจเรื่องเด็ก พ่อบอกว่าเป็นพยาบาลก็ช่วยคนได้” แอ๋มจึงเข้าเรียนสาขาพยาบาลตามคำแนะนำของพ่อ


ขณะเป็นวัยรุ่นเรียนพยาบาลที่มหาวิทยาลัยมหิดล แอ๋มคลุกคลีอยู่กับการทำกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา สิ่งแวดล้อม การเมือง และสังคม ซึ่งทำงานผ่านบทกวีและเสียงเพลง สองสิ่งนี้ดึงดูดแอ๋มเข้าไปในสังคมอุดมคติตามแบบอย่างของ ‘กลุ่มสลึง’ รุ่นพี่แพทย์และพยาบาลที่มีอุดมการณ์มุ่งหวังถึงสังคมที่ดี ตั้งแต่ประชาธิปไตยเบ่งบานเมื่อ 40 กว่าปีก่อน หลังเรียนจบพยาบาล หญิงสาวใช้เวลาเพียงปีเดียวในการทำงานเป็นพยาบาลฝึกหัดอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ก่อนลาออกมาทำงานกิจกรรมกับเยาวชน


‘Music Sharing’ ดนตรีเปลี่ยนชีวิต thaihealth


แอ๋มเป็นหญิงสาวร่างบอบบางแต่ดูแกร่ง ใครๆ ก็สังเกตได้จากดวงตาอันแจ่มใสของเธอ เธอเริ่มงานด้วยการทำงานกับเด็กชาวม้งตั้งแต่ปี 2550 แล้วขึ้นดอยตามไปทำกิจกรรมดนตรีในหมู่บ้านชาวม้ง เขตจังหวัดน่าน อดีตพื้นที่สีแดงของนักศึกษาและผู้ร่วมอุดมการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมยุคปี 2519 โดยมี ‘จิ้น กรรมาชน’ เป็นตัวตั้ง เมื่อคิดว่าอยากสอนดนตรี แอ๋มจึงประกาศรับบริจาคเครื่องดนตรีผ่านโซเชียลมีเดีย โดยไม่ได้คาดหวังมากไปกว่าจะมีเครื่องดนตรีเพียงพอไปสอนเด็กๆ แต่ปรากฏว่ามีผู้ร่วมบริจาคจำนวนมาก มากเกินกว่าจะใช้ในพื้นที่ที่ตั้งใจไว้ แอ๋มและอาสาสมัครจึงตัดสินใจนำเครื่องดนตรีจำนวนที่เหลือมาบริจาคให้ชุมชนคลองเตยในกรุงเทพฯ ซึ่งเธอมีเพื่อนทำงานอยู่ก่อนแล้ว ทางชุมชนรับไว้ด้วยความยินดีและบอกว่าเมื่อมีเครื่องดนตรีแล้ว ที่นี่ยังต้องการครูสอนดนตรีด้วย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้แอ๋มกลายเป็นครูที่ชุมชนคลองเตยนับแต่วันนั้น


“เราเริ่มต้นด้วยการอยากช่วยเด็กๆ โดยไม่ได้กะเกณฑ์ว่าต้องเป็นกลุ่ม องค์กร หรือมูลนิธิ มีอะไรทำได้ก็ทำไปในหมู่เพื่อน พอทำไปเรื่อยๆ สิ่งต่างๆ มันก็เข้ามาให้ทำต่อ จึงกลายเป็นลักษณะเลยตามเลย ต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ ไม่ได้เกิดจากการวางแผน ในช่วงแรกทุกคนที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครทั้งหมด ช่วยกันสอนเด็กทุกวันเสาร์ พอเราเริ่มลงมือทำก็เริ่มผูกพัน เราชื่นชมกลุ่ม ‘Playing for Change’ เราชอบองค์กรนี้ เขาทำงานเรื่องดนตรีกับเด็กทั่วโลก เรามีพวกเขาเป็นแรงบันดาลใจ พอพวกเขามาเมืองไทย เราก็ได้เจอกัน เขาก็สนับสนุนกิจกรรมของเรา” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงกระจ่างชัด


ปัญหาของเด็กชาวเขาหรือในถิ่นทุรกันดารนั้นก็มีอยู่ แต่เมื่อเทียบกับเด็กในชุมชนคลองเตยแล้วปัญหาซับซ้อนกว่ากันมาก ที่คลองเตยเป็นวิกฤตของหลายปัญหาที่เกี่ยวพันกัน ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว ความยากจน ยาเสพติด และเรื่องเพศ เช่นเยาวชนในชุมชนคลองเตยจะมีการรับรู้เรื่องทางเพศเร็วกว่าเด็กที่อื่น เข้าสู่ภาวะมีเพศสัมพันธ์เร็ว มีลูกโดยไม่วางแผน ทำให้ไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดู ซึ่งความไม่พร้อมนี้มาจากพื้นฐานครอบครัวที่ยากจนหรือเกี่ยวพันกับเสพยาเสพติด ทำให้ต้องส่งเด็กเข้าสถานสงเคราะห์ วนเวียนเป็นวงจรแบบนี้ และในชุมชนมีวัฒนธรรมการใช้ความรุนเเรง ทั้งคำพูดและการใช้กำลัง จนเด็กเกิดการเรียนรู้ ซึมซับ และทำซ้ำจนเป็นความเคยชิน


“การเข้าไปช่วยเด็กที่คลองเตย ทำให้พวกเขาหลุดจากปัญหาเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน”


“สิ่งที่เด็กต้องการคือความรัก ต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัย ต้องการคนที่ฟังเขา ซึ่งทำให้เขารู้สึกมีตัวตน ดนตรีเป็นเพียงเครื่องมือ เด็กบางคนไม่ใช่แค่อยากมาเล่นดนตรี แต่เขารู้สึกอยากจะมาใช้เวลาร่วมกัน มีพื้นที่ที่เขาสามารถได้รับการยอมรับ แต่ดนตรีก็มีส่วนช่วยบำบัดสำหรับบางคน ซึ่งการใช้เวลากับดนตรีสามารถช่วยให้เขาก้าวข้ามปัญหาชีวิตไปได้ หรือคลี่คลายปัญหาบางเรื่อง” ครูสาวเล่า


แอ๋มยกตัวอย่างกรณี ณัฐ มือกีตาร์ฝีมือดี เมื่อก่อนติดเกม ชอบลักขโมยของ และเป็นสมาชิกแก๊งหนึ่งในคลองเตย พ่อเสียชีวิตไปแล้ว พี่ชายติดคุกจากคดียาเสพติด แม่ขายของเล็กๆ น้อยๆ ณัฐมาเรียนดนตรีกับครูแอ๋ม แล้วพบว่าเขาชอบเล่นดนตรี อยากทำงานเป็นนักดนตรี เมื่อมีเวลาว่างเขามาซ้อมดนตรีสม่ำเสมอแทนการเล่นเกม ตอนนี้ฝีมือของเขาพัฒนาไปมาก แอ๋มเล่าว่าณัฐเคยมาปรึกษาว่าอยากลาออกจากโรงเรียน เพราะอยากทำงานหาเงินช่วยแม่ แต่สุดท้ายเมื่อได้คุยกัน เด็กหนุ่มบอกว่าอยากเรียนต่อแล้วทำงานไปด้วย แอ๋มจึงช่วยหาทุนการเรียนและหางานดนตรีให้หนุ่มมือกีตาร์รับงานไปด้วย


‘Music Sharing’ ดนตรีเปลี่ยนชีวิต thaihealth


นอกจากดนตรีแล้ว การเดินทางก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการเปิดโอกาสให้เยาวชนที่อยู่ในชุมชน แอ๋มมักจัดให้มีการเดินทางอยู่เสมอ เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มเยาวชนเข้าด้วยกัน เด็กจากคลองเตยไปช่วยเด็กชาวดอยบ้าง เด็กจากคลองเตยไปช่วยสอนดนตรีเด็กในสถานพินิจฯ บ้าง ซึ่งการเดินทางทำให้พวกเขาได้เรียนรู้โลกที่อยู่นอกเหนือไปจากปัจจุบันที่เต็มไปด้วยปัญหาอันซับซ้อนของพวกเขา และการเห็นโลกภายนอกทำให้เขามีทางเลือกในชีวิต


“เราใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือ อาสาสมัครที่ทำงานกับเด็กอายุใกล้เคียงกัน ปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดเหมือนเป็นเพื่อน เป็นครอบครัว ไม่ใช่มูลนิธิ หรือครู ในวัยหนึ่งเขาต้องเลือกกลุ่มที่ทำให้เขาไว้ใจ มีตัวตน ให้ความมั่นใจกับเขา เขาก็จะอยู่ที่นั่น เราเองก็ไม่ได้ช่วยให้เขาเลือก แต่เราสร้างประสบการณ์ร่วมและเปิดโลกของเขาให้กว้างขึ้น ให้เขารู้จักที่อื่นๆ ให้เขามีโอกาสก้าวออกไปจากคลองเตย"


“เล่าให้ฟังเขาไม่รู้หรอก หรือสอนเขาบางทีก็ไม่เข้าใจ ต้องให้เขาเห็นด้วยตัวเอง ให้เขาได้สัมผัสจากประสบการณ์ด้านในของเขาเอง การเดินทางทำให้พวกเขาเติบโต ไม่ต้องบอกด้วยซ้ำว่าอะไรดีไม่ดี เขารับรู้ได้เอง ใจเขาจะแข็งแรง เขาจะรู้สึกเองเมื่อเห็นโลกกว้างขึ้นว่าเขาอยากมีชีวิตแบบไหน”


ผมชอบประโยคสุดท้ายที่แอ๋มสรุปให้ฟัง หลังจากเธอได้ทำงานกับเยาวชนมาเป็นเวลา 7 ปี


แต่ก็มีบ้างบางกรณีที่ต้องให้บางคนพบเจอกับปัญหาที่เขาแก้ไม่ได้จนถึงที่สุด ก่อนที่พวกเขาจะดึงตัวเองขึ้นมาจากกับดักของชีวิต ครูสาวซึ่งพบเจอปัญหามาหลากหลายรูปแบบสรุปบทเรียนว่า “บางทีต้องปล่อยให้เขาก้าวพลาดจนถึงที่สุดแล้วกลับมาหาเรา เราก็ต้องใจกว้างพอที่จะรับเขากลับมา เพราะเราห้ามไม่ได้ เราต้องกล้าหาญพอที่จะปล่อยให้เขามีประสบการณ์ด้วยตัวเอง เขามีสิทธิก้าวพลาดได้ตลอดเวลา แม้ว่าเราจะรู้ว่าเขาจะต้องพบเจออะไรบ้างหากเขาเลือกเดินทางนั้น บางคนอาจจะต้องไปติดคุก ท้อง หรือออกจากโรงเรียน แต่เมื่อเขากลับมา เราก็ควรจะต้อนรับเขา ให้โอกาสเขา”


ผมพบนักเรียนดนตรีรุ่นเล็ก อายุราวๆ 7-10 ปี เช่น เขียว เตี้ย อาย และปาล์ม ที่ตรอกโรงหมูซึ่งเคยเป็นโรงฆ่าสัตว์เก่าในชุมชนคลองเตย แอ๋มและอาสาสมัครทั้งครูและศิลปินช่วยกันปรับพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของคนไร้บ้าน และหมาจร ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ สอนศิลปะ เป็นสนามเด็กเล่น และลานกีฬา นอกจากอาสาสมัครและเพื่อนๆ ที่ช่วยกันอยู่ในเครือข่ายแล้ว ยังมีบริษัทต่างๆ มาช่วยปรับปรุงพื้นที่


ครูสาวบอกว่า “เราต้องยืนอยู่ในจุดหนึ่งนานพอและเราต้องดื้อพอควร เขาจึงจะเห็นเรา” ทรัพยากรและความปรารถนาดีที่ถูกส่งมาจึงเปลี่ยนพื้นที่ที่ค่อนข้างปิดและน่ากลัวในวันก่อนให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้เยาวชนเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  


“ตอนนี้นอกจากดนตรี เราสอนอีกหลายวิชา เรากำลังวางแผนกันว่าอยากทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพราะเราพบว่าเด็กบางคนไม่ได้ไปโรงเรียน อย่างเช่น เตี้ย เขียว อาย เป็นพี่น้องกัน ซึ่งพ่อแม่เขามีลูกทั้งหมด 7 คน เพราะครอบครัวเขามีปัญหาซ้ำซ้อนอย่างที่เล่าให้ฟัง เราคิดว่าถ้าเราสอนเด็กแล้วเขาได้วุฒิการศึกษาด้วยก็น่าจะดี คล้ายๆ โฮมสคูล” เธอวาดโปรเจ็กต์ใหม่ให้ฟัง


ผมย้อนนึกไปถึงสิ่งที่แอ๋มบอกไว้ตอนต้นว่า “มีอะไรทำได้ก็ทำไปในหมู่เพื่อน พอทำไปเรื่อยๆ สิ่งต่างๆ มันก็เข้ามาให้ทำต่อ จึงกลายเป็นลักษณะเลยตามเลย ต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่” 



“แอ๋มไปเอาความกล้าหาญแบบนี้มาจากไหน” ผมถามหญิงสาว


“อาจจะเป็นแม่ก็ได้นะ แม่สอนโดยทำให้เห็นว่าการช่วยเหลือคนอื่นไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากลำบากอะไร การช่วยคนอื่นเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้คิดว่าได้บุญ ได้กุศล หรือเพื่อมนุษยธรรมอะไร เพราะวัฒนธรรมของครอบครัวเรา การช่วยคนอื่นเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ แม่ทำงานตัดเย็บเสื้อผ้าไป ให้เด็กอ่านหนังสือไป สั่งสอนให้ทำงาน เราก็เลยชินกับเรื่องนี้ เรากับเด็กๆ ลูกป้า ลูกน้า ลูกอา ที่แม่เลี้ยงดู ก็เหมือนพี่น้องกันจริงๆ มันก็ไม่ได้ลำบาก ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร การช่วยเหลือคนอื่นสำหรับแม่เป็นเรื่องปกติ”  เธอเล่าด้วยน้ำเสียงที่เหมือนมีรอยยิ้มติดมาด้วย พร้อมกับดวงตากระจ่างใสเหมือนกระจกที่มองตรงมา


“เราไม่ได้มีความฝันอยากเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ถ้าเราทำให้ใครสักคนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ มันก็น่าจะดีเพียงพอแล้ว”

Shares:
QR Code :
QR Code