Movie Talk ตอน เลิฟ ไลค์ แชร์ ดูหนังแล้ว…ย้อนดูตัว

       /data/content/24633/cms/e_hjmnoprs3689.jpg   


          เป็นภาพยนตร์ไทยที่ถ่ายทอดเรื่องราวของวัยรุ่นกับการใช้โซเชียลมีเดียได้เป็นอย่างดี กับหนังสั้นในตอนที่ชื่อว่า "14" จากภาพยนตร์เรื่องรัก 7 ปี ดี 7 หน ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของเด็กยุคออนไลน์ ที่มักจะแสดงความรู้สึกและอัพเดตข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะเพื่อหวังยอดไลน์จากสังคมโซเชียล โดยมองข้ามความรู้สึกของแฟนสาว จนทำให้เกิดปัญหากระทบกับความสัมพันธ์ขึ้น


          เพื่อสะท้อนถึงปัญหาดังกล่าว ทางศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจำกิจกรรม "Movie Talk ตอน เลิฟ ไลค์ แชร์ แค่เมนต์ก็เป็นเรื่อง" ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงที่มาและประเด็นจากหนังว่าด้วยเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบันซึ่งส่งผลกระทบต่อคนในสังคม


          เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ตอน 14 กล่าวว่า โดยปกติการเขียนบทหนังสักเรื่องมักจะหยิบมาเขียนจากเรื่องใกล้ตัว ซึ่งในหนังเรื่องนี้ต้องทำหนังรักของวัยรุ่น และในปัจจุบันโซเชียลมีเดียก็ตรงกับยุคสมัย เป็นสิ่งใกล้ตัวกับวัยรุ่นอย่างมาก จึงหยิบเป็นประเด็นในเรื่องของความเป็นส่วนตัวกับสาธารณะขึ้นมา ว่าทุกครั้งที่เราโพสต์อะไรในโซเชียลก็ตาม สิ่งที่เราพิมพ์ลงไปมันจะไม่เป็นของเราแล้ว แม้คนจะมักคิดว่าสิ่งที่เราโพสต์ในหน้าวอลล์บนเฟซบุ๊กจะเป็นพื้นที่ส่วนตัว อยากโพสต์อะไรก็โพสต์ แต่เอาเข้าจริงมันไม่ได้ส่วนตัวหากเราได้จำกัดการมองเห็น อย่างไรซะเมื่อมีคนเห็นข้อความนอกจากเรา มันก็คือสาธารณะนั่นเอง


          โดยหนังจะถ่ายทอดเรื่องราวความรักของ ป่วน และมิลค์ ที่ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป ฉับพลันที่ป่วนตัดสินใจเปลี่ยนสเตตัสใน  เฟซบุ๊ก เป็น 'In Relationship' ป่วนโพสต์คลิปเผยแพร่ความรักของตัวเองลงในยูทูบอย่างละเอียดยิบด้วยความภาคภูมิใจ หลากหลายคอมเมนต์ ความอยากรู้อยากเห็น และยอด Views ที่พุ่งอย่างไม่หยุดยั้ง ดึงป่วนให้ถลำลึกลงไปในโลกของฟีดแบ็กจากคนที่เขาไม่รู้จัก ส่วนคนที่เขารักนั้น ยิ่งนานวันเธอก็ยิ่งมีค่าน้อยกว่ายอดคลิก Like ในหน้า Wall Facebook ของเขา


          หนังหยิบยกประเด็น วิถีชีวิตปัจจุบัน เด็กยุคเฟซบุ๊กมาเพื่อสื่อความ "ปัญหาความรักในวัยเด็ก มักเกิดจากวัยวุฒิที่ขาดความยั้งคิดยั้งทำ" ด้วยความเป็นเด็ก และเป็นเด็กในโลก


          ยุคที่ "ต้องการให้สังคมแคร์" และการ กดไลค์ การแชร์ความรู้สึกสู่สาธารณะ โดยไม่ยั้งคิดถึงผลเสียที่จะ/data/content/24633/cms/e_eijkmpsuv347.jpgตามมา ดังนั้นแม้ว่าคลิปที่ป่วนทำขึ้นจะสวยงามแค่ไหน แต่มันไม่อาจรับได้ในความรู้สึกของมิลค์ รักวัย 14 จบลงด้วยบทพูดที่ว่า "พี่มีคนชอบตั้งเป็นหมื่น จะมาแคร์อะไรกับฉันคนเดียว"


          จากหนังจะสะท้อนให้เห็นข้อดีและข้อเสียในยุคโซเชียลมีเดีย ข้อดีก็คือการที่เปิดโอกาสให้เราแสดงความเป็นตัวเอง แสดงความเป็นปัจเจคมากขึ้น ได้รู้จักคนและโลกที่กว้างขึ้น ในขณะที่ข้อเสียคือเป็นการทำให้เราหลงใหลในตัวเอง เวลาโพสต์แล้วมีคนมากดไลค์ มาแสดงความคิดเห็น ก็จะรู้สึกอยากแสดงออกเพื่อให้คนอื่นชอบ จนอาจล้ำเขตเกินจนกลายเป็นว่าสิ่งที่เราทำเพื่อความชื่นชอบของคนในสังคมมากมาย แต่สิ่งนั้นอาจทำร้ายจิตใจ มองข้ามความรู้สึกของคนอีกคนไปก็ได้


          บางทีเราก็ต้องเลือกว่าจะเอายอดไลค์ หรือเลือกที่จะรักษาความรู้สึกของคนคนเดียวเอาไว้ เลือกที่จะอยู่ในโลกความจริงหรือหลงอยู่กับโลกเสมือน ลองถามตัวเอง "ถ้าเราแคร์ใครจริงๆ เราจะคิดถึงคนคนนั้น เราจะคิดทุกการกระทำของเราว่าจะส่งผลกระทบถึงคนคนนั้นอย่างไร" ดูหนังแล้วย้อนกลับมาดูตัวเองกันสักนิด "อยากให้สังคมแคร์ แต่ไม่เคยแคร์สังคม (คนรอบข้าง)" หรือเปล่า


          โซเชียลมีเดียเป็นวิธีการสื่อสารของคนยุคนี้ในการตามทันเทคโนโลยี ซึ่งจากความคิดส่วนตัวคือเทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่ผิด มันอยู่ที่คนจะใช้มันอย่างไรมากกว่า หากเรารู้เท่าทัน ใช้มันได้อย่างถูกต้อง ใช้อย่างมีสติ รู้ว่าอะไรควรโพสต์ ไม่ควรโพสต์ แบ่งเวลาในการใช้งานที่เหมาะสม ใช้ในเชิงสร้างสรรค์ ก็จะเกิดประโยชน์มากมายกับผู้ใช้ แต่หากใช้ในทางที่ไม่ดีก็ย่อมเกิดโทษมหันต์ตามมา


          การโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ สิ่งที่เราโพสต์ไว้มันจะคงอยู่ตลอดไป เหมือนการเอาลิ่มไปตอกกำแพง เพราะเราไม่รู้ว่ามีใครก๊อบปี้ข้อความของเราต่อไปบ้าง เอาไปต่อเติมเสริมแต่งอย่างไรก็ไม่รู้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับตัวเราก็ได้ ดังนั้นคนที่ใช้โซเชียลควรรู้จักเท่าทัน คิดก่อนโพสต์ และควรรับผิดชอบทุกคอมเมนต์ที่เราแสดงความคิดเห็นออกไป.


          ข้อคิดดีๆ จากหนัง


          หนุ่ย-ณัทภัชฬ์พล ปินใจ อายุ 24 ปี เผยว่า กิจกรรมครั้งนี้ช่วยให้เรากระตุกคิดเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์มากขึ้น ว่าควรระมัดระวังในการใช้ คิดก่อนแล้วถึงโพสต์ ซึ่งมีให้เห็นมากมาย ที่การแชร์เรื่องราวต่อๆ กันบนอินเทอร์เน็ตบางครั้งเป็นเรื่องหลอกลวง ใส่ร้าย ทำลายชื่อเสียง หรือคัดลอกนำไปดัดแปลงให้ข้อมูลที่ผิดๆ จนทำให้เกิดความเสียหายตามมามากมาย จึงอยากให้ทุกคนที่ใช้โซเชียลมีเดียมีวิจารณญาณ ไตร่ตรองถึงข้อดี-ข้อเสียที่จะตามมาด้วย เพราะบางครั้งสิ่งที่คิดว่าโพสต์สนุกๆ ขำๆ อาจทำร้ายคนอื่นโดยที่ไม่รู้ตัวครับ


          สา-สาลินี พันธุ์ธาดาพร อายุ 29 ปี บอกว่า สิ่งที่ได้จากกิจกรรมคือทำให้เรารู้ว่าโซเชียลมีเดียมีประโยชน์และมีโทษอย่างไร และถ้าเราจะอยู่กับโซเชียล เราต้องทำยังไงให้มันสมดุลกัน เพราะไม่ใช่ว่าโซเชียลไม่ดี แต่หากเราใช้มากเกินไปก็จะเป็นแบบในหนัง ที่ความเป็นส่วนตัวก็จะลดลง กระทบกับความสัมพันธ์ได้ ในขณะเดียวกัน อาจโดนล้วงข้อมูลเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ เป็นอันตรายกับทั้งทรัพย์สินและตัวเองค่ะ


 


 


          ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code