Move on อย่างไร ในระยะที่ไม่ปลอดภัย
เรื่องและภาพโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
ให้สัมภาษณ์โดย ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. ,นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. และ นางสาวอัชรา แก้วประดิษฐ์ หัวหน้าทีมปฏิบัติการ สายด่วน 1663 ปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม
“ประจำเดือนยังไม่มาเลยค่ะ จะท้องหรือเปล่าคะ” คำถามยอดฮิตที่มักพบทั่วไปตามกระทู้ถาม-ตอบในโลกออนไลน์ และนับเป็นควันหลงหลังวาเลนไทน์ ที่หลายคนเกิดข้อกังวลใจเรื่อง ท้องไม่ท้อง และถ้าท้องจะทำอย่างไรดี และจะปรึกษาใครได้บ้าง จะไปทำงานอย่างไร จะเรียนต่อดีไหม หลากหลายคำถามที่ยังค้างคาในใจ
‘ถุงยางอนามัย’ นับเป็นตัวช่วยสำคัญในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ ในระยะ พ.ศ.2553-2554 สถิติแม่วัยรุ่น พุ่งสูงสุด คือ ในหญิงอายุระหว่าง 15-19 ปี 1,000 คน มีแม่วัยรุ่น 53 คน หรือมีแม่วัยรุ่นเพิ่มขึ้นถึงวันละ 400 คน แต่ในขณะเดียวกันผลจากการทำงานของหลายภาคส่วน ส่งผลให้ตัวเลขการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นลดลง โดยในปี 2561 กลุ่มวัยรุ่นหญิง 1,000 คน พบแม่วัยรุ่น 36 คน
ในทางกลับกัน แม้ตัวเลขแม่วัยรุ่นจะลดลง แต่กลับพบว่า วัยรุ่นที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงปี 2555-2560 ข้อมูลกรมควบคุมโรคระบุว่า กลุ่มอายุ 15-24 ปี พบการติดเชื้อซิฟิลิส เพิ่มถึง 4 เท่าตัวและโรคหนองในเพิ่มขึ้น ร้อยละ 50
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การมีสุขภาพดีหรือไม่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรม สสส. มีเป้าหมายคือ อยากเห็นทุกคนบนแผ่นดินไทยมีสุขภาพดี มีขีดความสามารถที่จะทำให้ตัวเองมีสุขภาพดี มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้มีสุขภาวะที่ดี เช่นเดียวกับสุขภาวะทางเพศ หลายครอบครัวยังไม่ยอมรับหากพบว่าลูกหลานพกถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สร้างความปลอดภัยให้กับเขา สสส.และภาคีเครือข่าย พยายามรณรงค์ให้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ต้องสวมถุงยางอนามัย ให้เป็นนิสัย อยากให้เปลี่ยนความคิดว่า ถุงยางอนามัย ทำให้คุณปลอดภัย
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส.ทำงานเรื่องสุขภาวะทางเพศมายาวนาน เรื่องหนึ่งที่ สสส. ให้ความสำคัญ คือ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เพราะทำให้เกิดผลกระทบในการเรียน นอกจากนี้ เริ่มมีการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ จึงเริ่มมีการรณรงค์ให้เกิดความตระหนัก ป้องกัน ทำให้เรื่องใกล้ตัว สามารถป้องกันได้
การไม่ใช้ถุงยางอนามัย นอกจากจะเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้วยังเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์อีกด้วย ทำให้เกิดปัญหาการท้องไม่พร้อมตามมา เมื่อต้องเผชิญปัญหาดังกล่าว ตัวช่วยสำคัญที่จะเป็นที่ปรึกษาและแนะนำข้อมูลที่ถูกต้องและปลอดภัยนั้น คือ สายด่วน 1663 ปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม เป็นคู่สายโทรศัพท์ที่เปิดรับปรึกษาเรื่องเอดส์แบบนิรนาม คือเก็บข้อมูลเป็นความลับ โดย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ต่อมาภายใต้การสนับสนุนของ สสส. สายด่วน 1663 ร่วมกับ เครือข่ายท้องช่วยเหลือผู้หญิงประสบปัญหาท้องไม่พร้อม มูลนิธิแพธทูเฮลท์ และภาคี จึงได้พัฒนาระบบการให้บริการแก่ผู้หญิงที่ “ท้องไม่พร้อม” ให้สามารถโทรศัพท์เข้ามาขอรับคำปรึกษาได้ด้วย
นางสาวอัชรา แก้วประดิษฐ์ หัวหน้าทีมปฏิบัติการ สายด่วน 1663 ปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม กล่าวว่า ปัญหาการท้องไม่พร้อม นอกจากพบในวัยรุ่นแล้ว ยังมีวัยทำงานที่โทรเข้ามาปรึกษา โดยผู้เข้ารับการปรึกษาต้องตัดสินใจว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือท้องต่อ ซึ่งเป็นทางเลือกที่มาจากตัวผู้ที่โทรเข้ามาเอง หลายคนใช้เวลาพิจารณานานพอสมควรกว่าจะโทรมาปรึกษา ซึ่งหากเลือกยุติการตั้งครรภ์ 1163 ทำร่วมกับกรมอนามัย มีโรงพยาบาลในสังกัดหลายโรงพยาบาลที่มีบริการยุติการตั้งครรภ์ และคลินิกเอกชน ที่ปลอดภัย และเป็นมิตร นี่คือเครือข่ายที่เราจะส่งต่อ แต่โรงพยาบาลเหล่านี้ไม่ได้รับผู้ป่วยทั่วไป แต่จะรับเฉพาะจากการส่งต่อเท่านั้น
ถ้ามีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ทำอย่างไร?
1.ควรตรวจการตั้งครรภ์โดยเร็ว ไม่อนุมานเองว่าประจำเดือนคลาดเคลื่อนจากความเครียด เพราะการตรวจคือวิธีการที่ชัดเจนที่สุด
2.ควรรีบตรวจการตั้งครรภ์ โดยตรวจในวันที่ 14 หลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุด
3.ถ้าผลการตรวจ 14 วัน ผลออกมาไม่ตั้งท้อง ให้ตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจากผ่านไป 7 วัน ถ้าไม่ท้องก็หมายความว่าปลอดภัย
“หากตรวจการตั้งครรภ์ พบว่ามี 2 ขีด หรือ 2 ขีดจางๆ ให้รีบโทรมาปรึกษาทันที อย่าปล่อยให้อายุครรภ์มาก เพราะทางเลือกจะแคบลง โดยทาง 1663 มีสโลแกนว่า ประจำเดือนไม่มา ให้รีบโทร ถ้าคุณมีความเสี่ยง เพราะเราจะได้ชวนดูว่าตรวจแบบไหน อย่างน้อยๆ ถ้ามีคนที่คอยให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลข้อเท็จจริงได้ เขาจะปลอดภัยและไม่เสียชีวิต” นี่นับเป็นจุดเริ่มต้นในการสำรวจพฤติกรรมและอาการทางสุขภาพของตนเองเบื้องต้น
นางสาวอัชรา กล่าวต่อว่า อย่ามัวเดาว่าตัวเองประจำเดือนไม่มาเพราะอะไร ให้รีบตรวจการตั้งครรภ์ ถ้าไม่มั่นใจให้โทร. 1663 เพราะว่าทุกคนที่รับสาย พร้อมจะฟัง พร้อมจะช่วยเหลือ เพราะเราเจอว่ามาเร็วที่สุดได้ยิ่งดี สิ่งที่จะได้คือ ได้ทบทวนตัวเองว่าตัดสินใจแน่แล้วใช่หรือไม่ ถ้าตัดสินใจแล้ว ไม่ว่าจะยุติหรือท้องต่อก็มีบริการที่ปลอดภัย มีการรับฟังที่ไม่ตำหนิและไม่ตัดสินกัน โดยทางเลือกที่ปลอดภัย มีแหล่งบริการที่ในเครือข่ายที่เราส่งต่อ หรือถ้าท้องต่อก็มีแหล่งบริการ เช่น บ้านพักรอคลอด คือระหว่างตั้งท้องหากเรารู้สึกว่าไม่พร้อม เรามีบ้านพักในเครือข่ายของรัฐและเอกชนที่สามารถไปพักได้ พอคลอดแล้วถ้าไม่สามารถจะเลี้ยงได้ก็ประสานส่งต่อกัน
“ ย้ำว่าอย่าพยายามทำอะไรด้วยตัวเอง ด้วยความเชื่อและข้อมูลผิดๆ คุณจะใช้เวลาตรงนั้นนาน แล้วสุดท้ายหากต้องท้องต่อเพราะว่ายุติไม่ได้ เด็กคนนั้นจะไม่สมบูรณ์ ก็จะได้ทรัพยากรที่พิการหรือมีปัญหาทางพัฒนาการสมองตามมา เพราะเด็กไม่ได้บำรุง และบางคนอาจถูกการพยายามเอาออก เพราฉะนั้นถ้าตัดสินใจก็ให้แน่เลยว่าจะไปทิศทางไหนและถ้าจะท้องต่อก็เดินหน้าฝ่าฟันบำรุงครรภ์ไป โดยแต่ละกรณีจะมีการติดตามเป็นที่ปรึกษา โดยหากเลือกยุติการตั้งครรภ์ จะติดตามจนไม่เกิดผลกระทบ ส่วนใหญ่ก็ประมาณ 14 วัน หลังยุติ ก็สามารถปิดบริการได้ ถ้าเลือกท้องต่อก็ส่งถึงมือแหล่งผู้รับที่เป็นมิตร ถึงจะยุติการติดตาม หรือตัดสินใจเลี้ยงเองก็ตามต่ออีก 1 เดือนว่าประสบปัญหาอะไรหรือไม่” นางสาวอัชรา กล่าว
อย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าเพื่อนหรือคนที่เรารัก กำลังเผชิญสถานการณ์ท้องไม่พร้อม สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือ การไม่ซ้ำเติมและตีตรา และรีบแนะนำให้ปรึกษา สายด่วน 1663 ปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม เพราะทุกคู่สายพร้อมจะเป็นตัวช่วยให้มีสุขแบบปลอดภัย