MOU พัฒนาการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหา

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์สยามรัฐ


MOU พัฒนาการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหา thaihealth


การลงนามบันทึกข้อตกลงการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติด และคดีความรุนแรงในครอบครัวในระบบศาล


เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัวในระบบศาล กับสำนักงาน ป.ป.ส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส.


นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อความสงบสุขของทุกคนในครอบครัว บางครอบครัวต้องทนอยู่กับสภาพปัญหาความรุนแรงช้ำซาก โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ที่ค่อยๆ ซึมซับพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ เป็นเหตุให้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวยังคงอยู่ และมีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณสูงขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของเด็ก เยาวชน สตรี สังคมและประเทศชาติ จากปัญหาดังกล่าว ทุกภาคส่วนจึงตระหนักและมุ่งแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2557 กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัวในระบบศาล ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี (ปี 2557-2559) ร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดนนทบุรี กรมสุขภาพจิต กรมคุมประพฤติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัวที่มีโทษไม่ร้ายแรงและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ผู้กระทำผิดเหล่านี้ได้มีโอกาสในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม


นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า การลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือต่อเนื่อง นับจากการประสบความสำเร็จในความร่วมมือครั้งที่ผ่านมาซึ่งจะเห็นได้ว่า ผลการดำเนินงานของคลินิกฯ ทั้ง 3 ศาล คือ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลจังหวัดเชียงใหม่ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปี มีผู้เข้ารับคำปรึกษาฯ จำนวน 4,947 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มีผู้สนใจเข้ารับบริการค่อนข้างมาก


สำหรับการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติด และคดีความรุนแรงในครอบครัวในระบบศาล กับสำนักงาน ป.ป.ส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ใน 3 กรณี ได้แก่ 1) กรณีส่งต่อผู้ต้องหาและผู้เสียหายในคดีความรุนแรงในครอบครัวที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการคลีนิคให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมของศาลในพื้นที่ 2) กรณีประสานส่งต่อผู้ต้องหาและผู้เสียหายในคดีความรุนแรงในครอบครัวไปยังเครือข่ายที่ให้บริการทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น เพื่อการสนับสนุนการดูแลด้านการสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวของผู้เข้าร่วมโครงการคลีนิคให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมของศาล และ 3) สนับสนุนให้มีการรายงานผลการให้ความช่วยเหลือเพื่อการสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวของผู้เข้าร่วมโครงการคลีนิคให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมของศาสในพื้นที่เห็นสมควร นายเลิศปัญญากล่าวในตอนท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code