MOU ตั้งคลินิกให้คำปรึกษาจิตสังคม
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
ภาพประกอบจาก สสส.
ศาลยุติธรรมทำ MOU "5 ภาคีเครือข่าย" ตั้งคลินิกให้คำปรึกษาจิตสังคมผตห./จำเลยคดียา หลังศาลอาญาธนฯ ต้นแบบนำร่องดี ตั้งเป้าปี 65 ขยายคลินิกทั่วประเทศ 75 แห่ง แก้ปัญหาผตห./จำเลยคดียาทำผิดซ้ำ บำบัด-ฟื้นฟูเป็นคนดีของสังคมรมว.ยุติธรรม” เรียกผบ.เรือนจำ อบรม การบริหารและป้องกันไวรัสโคโรนา ชงขยายเรือนจำเพิ่ม-ปรับปรุงกฎหมายแก้ปัญหานักโทษล้นคุก จัดเกรดนักโทษ พวกเดรัจฉาน ต้องจัดกรอบ ดูแล
วันที่ 30 มกราคม 2563 เวลา 09.00 น.ที่ห้องประชุมชั้นใหญ่ 12 สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษกนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน ในพิธีร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU)5หน่วยงาน โดยนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรม, นายดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดียาเสพติดในระบบศาล เพื่อลดโอกาสสำหรับผู้กระทำผิดไม่ร้ายแรงที่อาจจะแปรสภาพเป็นอาชญากร ลดการกระทำผิดซ้ำ, แก้ไข, บำบัด และฟื้นฟู ให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการฯศาลยุติธรรม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ยึดหลักนิติธรรมในการปราบปราม ลงโทษผู้ผลิต – ผู้ค้า และยึดหลักผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม โดยเน้นการบูรณาการร่วมกันในการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อลดระดับปัญหายาเสพติดโดยเร็ว ซึ่งศาลยุติธรรมได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จึงได้ดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมมาใช้ในศาลอาญาธนบุรี เป็นศาลแรกเมื่อปี 2552 โดยได้รับเงินสนับสนุนจาก สสส. ต่อมาเมื่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาได้เยี่ยมชมคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในศาลอาญาธนบุรี และต้องการขยายไปยังศาลต่างๆ จึงเป็นที่มาของการริเริ่มทำโครงการต่อเนื่อง ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักปลัดกระทรวงยุติธรรม, สำนักปลัดกระทรวงสาธารณะสุข, สำนักงาน สสส. และสำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้ร่วมกันพัฒนาระบบให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัวในระบบศาล เพื่อดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดียาเสพติด
นายสราวุธ กล่าวอีกว่า การดำเนินงานโดยความรับผิดชอบของศาล จะเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เข้าร่วมโครงการจะอยู่ในกระบวนการอย่างต่อเนื่อง และเป็นโครงการเชิงรุกที่จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์การดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตรกับประชาชน การให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมนั้น เป็นการให้คำปรึกษาแก่ผู้เข้ารับคำปรึกษา ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือคดีที่มีอัตราโทษไม่ร้ายแรง หรือคดีอื่นตามที่อธิบดีผู้พิพากษา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเห็นสมควรประกาศกำหนด เพื่อให้การพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมาย กับให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ตระหนักถึงความสำคัญและเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว จึงวางเป้าหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้แก่ผู้เสพยาเสพติดที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงจัดทำข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) เพื่อดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดียาเสพติดในระบบศาล โดยมีแนวทางในการดำเนินงานดังนี้
1.สำนักงานศาลยุติธรรม จะเป็นจุดศูนย์กลางในการขยายผลการดำเนินงานคลินิก โดยให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมไปยังศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีอาญา2.ปรับปรุงและพัฒนาข้อกฎหมายเพื่อให้ศาลมีอำนาจในการจัดบริการคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดียาเสพติดในระบบศาล 3.ให้การส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงาน และการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ ตลอดจนการเผยแพร่องค์ความรู้แก่ศาลที่ประสงค์จะดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมตามความเหมาะสมภายใต้กรอบอัตรากำลังและงบประมาณที่เหมาะสม
4.สนับสนุนการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อใช้ในการประเมินผลการดำเนินงาน โดยให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อตรวจสอบผลการกระทำผิดซ้ำ นอกจากนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมจะเป็นหน่วยงานในการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมให้แก่สื่อมวลชนและสาธารณชนอีกด้วย โดยกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานภายใน 3 ปี พ.ศ.2563 – 2565 เพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในช่วงวิกฤติของชีวิต อันจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะสักขีพยาน กล่าวว่า คลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติด เป็นแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้กระทำความผิดในคดีที่มีโทษไม่ร้ายแรง ให้ได้รับคำปรึกษาด้านจิตสังคมและเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูสภาพจิตใจภายใต้การกำกับของศาล โดยไม่ถูกส่งตัวเข้าไปในเรือนจำ เป็นการให้โอกาสกับจำเลยได้ดำเนินชีวิตอยู่กับครอบครัว และประกอบอาชีพได้อย่างปกติ พร้อมขยายความช่วยเหลือไปยังครอบครัว ส่งเสริมให้ไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำ และอาจส่งผลต่อการแก้ปัญหานักโทษล้นคุกได้อย่างยั่งยืน โดยคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมนี้ เป็นการปรับนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดแนวใหม่ตามแนวทางของสหประชาชาติ (United Nations : UN) ที่ใช้มาตรการทดแทนสำหรับผู้กระทำผิดโดยที่ไม่ถูกส่งตัวเข้าไปในเรือนจำ หรือที่เรียกว่า Diversion ซึ่งนอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติแล้ว ยังเป็นการลดงบประมาณการดำเนินงานราชทัณฑ์ รวมถึงเป็นการลดปัญหาคนล้นคุกอีกด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินการระยะแรก ปี 2557 – 2562 พบการกระทำผิดซ้ำของผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล เฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.3 และในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ปี พ.ศ.2563 – 2565 สำนักงาน ป.ป.ส. และสำนักงานศาลยุติธรรม ตั้งเป้าขยายการดำเนินงานคลินิกจิตสังคมไปยังศาล 75 แห่ง ทั่วประเทศ โดยคาดว่า ในปี 2565 จะสามารถดำเนินการกับผู้ต้องหาคดียาเสพติดไม่น้อยกว่า 75,000 ราย
สำหรับศาลที่มีคลินิกจิตสังคมแล้ว รวม 8 แห่ง ได้แก่ ศาลอาญาธนบุรี, ศาลจังหวัดอยุธยา, ศาลจังหวัดเชียงใหม่, ศาลอาญาตลิ่งชัน, ศาลจังหวัดเกาะสมุย, ศาลแขวงเชียงใหม่, ศาลจังหวัดลำพูน และศาลอาญากรุงเทพใต้ "วันนี้ตนมีความสุขมากกับการทำงานในหน้าที่ รมว.ยุติธรรม การบูรณาการ 5 หน่วยงานในวันนี้เป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ ศาลยุติธรรมได้เปิดคลินิกจิตสังคมตั้งแต่ปี 2560 ระบบตรงนี้มีความสำคัญมาก นักโทษยาเสพติดที่เข้ามาฟื้นฟูบำบัดรักษาโดยการให้ข้อมูลความรู้ได้ผลดีมาก การฟื้นฟูบำบัดในกิจกรรมอื่นมีผู้เสพกระทำผิดซ้ำ 20-30 เปอร์เซ็นต์ แต่คลินิกจิตสังคมจะมีผู้เสพซ้ำแค่ 5 %เท่านั้นเอง "นายสมศักดิ์ และว่า เรื่องนี้ตนได้เรียนประธานศาลฎีกาในการรับตำแหน่งของท่านเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา ผลการดำเนินการดีมาก ท่านอยากให้ ป.ป.ส. สนับสนุนเพิ่มเติม เราจะแก้ปัญหาผู้เสพยาได้มีประสิทธิภาพสูงสุดในเรื่องจิตสังคม เราวางแผนการดำเนินการเปิด 75 ศาล จังหวัดละ 1 ก็เกือบครบทั่วประเทศแล้ว ใช้งบประมาณไม่มาก เมื่อครั้งเริ่มต้น 4 แห่ง ใช้งบแค่ 1-2 ล้านบาท
ถามถึงการแก้ปัญหานักโทษล้นคุก ที่ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด สามารถเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดโทษผู้เสพยาแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ประธานศาลฎีกามองว่ากฎหมายที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อประชาชน ควรปรับปรุง ลด เอาออกไป ตนก็มองว่าเรื่องยาเสพติด กฎหมายมีขั้นต่ำขั้นสูง ถ้าเราแก้กฎหมายเอาขั้นต่ำออกไป ให้ศาลใช้ดุลยพินิจตรงนี้ การจองจำอาจจะน้อยลง ให้ใช้คลินิกจิตสังคมมากขึ้นก็เป็นได้ กฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ขณะนี้ส่งเข้า ครม. แล้ว