“Lanta Go Green” ต้นแบบสร้างการเปลี่ยนแปลง สู่ทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์
เรื่องโดย: อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก: สัมมนาแกนนำเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อออกแบบแนวทางการปฏิบัติการป้องกันปัญหายาเสพติด โดยใช้ชุมชนเป็นฐานราก และการนำเสนอผลการศึกษาพื้นที่ต้นแบบการสร้างพื้นที่ปลอดภัย
ณ ห้องประชุมค็อกพิท โรงแรมอมารี
ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
ชายฝั่งทะเลไทย 3,151 กม. นับเป็นประเทศที่ทะเลสวยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก กำลังเผชิญปัญหาการปล่อยขยะลงสู่ท้องทะเลมากที่สุดติดอันดับโลกเช่นกัน ส่งผลกระทบทั้งด้านระบบนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่โดยตรง
จากข้อมูลขยะทะเลปี 2564 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ปัญหาขยะพลาสติกทะเลปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีและรั่วไหลลงสู่ทะเล โดยมีแหล่งกำเนิดจากบนบก มีถึงร้อยละ 80 และอีก ร้อยละ 20 เป็นขยะหลายชนิด ล้วนสร้างความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและมลพิษทางสิ่งแวดล้อม แต่ประเภทที่รุนแรงที่สุดคงหนีไม่พ้น พลาสติกและโฟม
ขยะประเภทดังกล่าว เมื่อลงสู่ทะเลแล้ว จะแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ หรือเรียกว่า ไมโครพลาสติก ปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศ ห่วงโซ่อาหารทะเล สุดท้ายย้อนกลับมากระทบต่อสุขภาพของมนุษย์สู่ผู้บริโภคโดยตรง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้งานโครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกัดเซาะชายฝั่ง และโครงการลดภัยสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกในระบบนิเวศทะเล
เท่ากับเป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาล ด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการรักษาความสมบรูณ์สิ่งแวดล้อมของทรัพยากรธรรมชาติทั้งในทะเลและหาดทราย ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะรักษาฐานคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวที่ดี มิใช่แค่ในประเทศ แต่รวมถึงของโลกด้วย
จึงไม่แปลกที่ท้องถิ่นในทุกภาคส่วนจะต้องช่วยสอดส่องดูแลระบบนิเวศทางทะเล ตั้งแต่ชายฝั่งทะเล ป่าชายเลน และท้องทะเล รวมถึงการทำลายปะการัง หญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายากเกยตื้น การทำประมงผิดกฎหมาย บุกรุกตัดไม้ป่าชายเลน และการจัดการขยะทะเล
กล่าวจำเพาะที่น่าทึ่ง ชุมชน อ.เกาะลันตา อำเภอหนึ่งของ จ.กระบี่ แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ ถือเป็น 1 ใน 3 พื้นที่ต้นแบบในกลุ่มทะเลอันดามัน ที่มีการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ เชื่อมโยงระหว่าง จ.ภูเก็ต พังงา และตรัง มีนักท่องเที่ยวกว่า 1.2 ล้านคน สร้างรายได้ 2 แสนล้านบาทต่อปี
“จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาที่ถูกวิธี ฐานข้อมูลชายหาดที่ถูกต้องทั้งความรู้ความเข้าใจในทุกกระบวนการทางธรรมชาติของชายหาด ความสมดุลชายฝั่งทะเล และวิธีป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ที่ส่งผลกระทบคุณภาพชีวิตของประชาชนคนในพื้นที่โดยตรง จำเป็นต้องได้รับความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง จะเป็นตัวช่วยตัดสินใจเลือกวิธีการป้องกัน แก้ไขปัญหาได้ถูกต้องและเหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ ” รับรู้จาก ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว
ขานรับจาก ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. “การมาครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตามหลักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (Citizen Science) ทำให้ชุมชนในพื้นที่เกิดความรู้ ความเข้าใจ สร้างความตื่นตัวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกัดเซาะชายฝั่ง เรียนรู้ต่อการปรับตัวต่อภัยคุกคามได้อย่างถูกต้อง” การลงพื้นที่ในครั้งนี้ นอกจากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแล้ว ยังได้เห็นการจัดการขยะในพื้น
ที่ชุมชนเกาะลันตา ก็มีผลต่อสุขภาพของชายหาดเช่นกัน จากการนำถุงอวนที่เป็นตาข่ายโปร่งใสซึ่งเป็นขยะเหลือใช้ มารีไซเคิลเป็นถังขยะแห้ง ทำให้รู้ว่าพฤติกรรมคนเปลี่ยนไปตามทรัพยากร ถังขยะเปลี่ยน พฤติกรรมก็เปลี่ยนตาม เนื่องจากถังขยะอวนทำจากตาข่ายจับปลาไม่สามารถใส่ขยะเปียกได้ ชุมชนยังมีรายได้จากขยะรีไซเคิล ลดมลพิษทางอากาศจากลิ่นเหม็นของขยะด้วย
หลายคนอาจจะสงสัยถึงขยะเปียกเอาไปไหน นายรอหิม ดาราพงศ์ อสม. หมู่2 ต. บ้านคลองยาง หนึ่งในหมู่บ้านต้นแบบการใช้ถุงอวนทดแทนถังขยะพลาสติก ไขปัญหาด้วยรอยยิ้มพร้อมปันสุขว่า…
“… ขยะเปียก เศษอาหาร ใบไม้ ที่ได้จากการคัดแยกนำไปทำปุ้ยหมักใช้ในครัวเรือน…พอใช้ถุงอวนแทนถังพลาสติก จะช่วยลดกลิ่นเหม็นได้อย่างดี คนในบ้านก็คัดแยกขยะสะดวก จำนวนขยะของหมู่บ้านก็ลดลง จากที่รถขยะของเทศบาลเคยออกเก็บทุกวัน ตอนนี้ลดเวลาออกเก็บขยะของชาวบ้านเหลือแค่ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์”
อีกทั้งยังว่าเห็นพ้องต้องกัน การคัดแยกขยะไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณขยะ ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยส่งเสริมสุขภาพของประชาชนด้วย
…ชายหาดปลอดขยะทำได้ แค่มีระบบจัดการที่ดี สสส. และภาคีเครือข่ายรณรงค์ให้ทุกคนลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะก่อนทิ้ง สร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ ตามแนวปฏิญญา “Lanta Go Green” ยกระดับคุณภาพชีวิตท้องทะเลและประชาชนในพื้นที่เกาะลันตาใหญ่ จ.กระบี่