ICD 11 คืนความเสมอภาคทางสุขภาพ ที่ต้องเท่าเทียมในคนข้ามเพศ
ข้อมูลจากเวทีเรื่อง “ผลจากการเปลี่ยนแปลงการระบุความเจ็บป่วยใน ICD 11 สู่โอกาสในการเข้าถึงบริการ : จากครอบครัวสู่ระบบบริการสุขภาพเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศ”
ผ่านมาแล้ว 2 ปี นับตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 ที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศถอนภาวะการมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดออกจากหมวดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมในบัญชีจำแนกโรคสากล ฉบับที่ 10 (ICD10) และบรรจุ ICD11 เข้ามาใหม่แทน เป็นการกำหนดให้บริการทางการแพทย์ให้กลุ่มคนข้ามเพศ แบบส่งเสริมป้องกันโรค ไม่ใช่ความเจ็บป่วยทางจิตอีกต่อไป และเพื่อส่งเสริมการเคารพสิทธิของคนข้ามเพศมากขึ้น
การสร้างความเข้าใจ และก้าวข้ามเรื่องเพศ เพื่อเพศสภาพที่เท่าเทียม ครอบคลุมทั้งมิติสุขภาพทางกาย และใจ นับเป็นปรารถนาสูงสุดของคนข้ามเพศ เพราะการเป็นคนข้ามเพศไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้รับการยอมรับ หรือ การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในสังคม ต้องผ่านช่วงชีวิต ที่ลำบาก อดทนต่อการถูกล้อเลียน เพียงเพราะคนไม่เข้าใจ เพศที่ใจเรียกร้อง กับเพศที่เป็นโดยกำเนิด
เหมือนกับเรื่องราว ของคุณเจษฎาพร ทองงาม ประธานกลุ่มพะยูนศรีตรัง เล่าว่า ความทุกข์ทน จากเพศสภาพ ไม่ตรงกับเพศกำเนิด เริ่มฉายแววปรากฎชัด เมื่อผ่านพ้นรั้วมหาวิทยาลัย และต้องไปเกณฑ์ทหาร ในปี 2541 แม้ไม่ต้องรับการคัดเลือกทหารกองเกิน แต่ในใบ สด. 43 หรือ ใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ที่ชายไทยทุกคนต้องมี และใช้เป็นเอกสารสำคัญแนบสมัครงานทุกครั้ง กลับระบุว่า “คนข้ามเพศคนนี้วิกลจริต” ถูกตีตราไปชั่วชีวิต
“จบคณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการเงินและการบัญชี ตั้งใจเรียนจบภายใน 3 ปีครึ่ง แต่กลับหางานทำไม่ได้ สมัครงานทุกครั้ง เจอกับสายตา และความสงสัยว่ามีอาการป่วยทางจิตหรือเปล่า จะแต่งกายเป็นชายก็ฝืน เป็นหญิงก็ยังไม่ได้รับการยอมรับทั้งหมด ด้วยลักษณะงานที่สมัครเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือแม้แต่ความตั้งใจหากจะสอบราชการ, พนักงานราชการ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจก็สิ้นหวัง เพราะคำว่า วิกลจริต รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า หางานทำก็ไม่ได้ สุดท้ายต้องแบมือขอเงินพ่อแม่ กลายเป็นโรคซึมเศร้า จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย แต่โชคดีพ่อแม่เข้าใจ และให้กำลังใจ ให้เงินทุนเปิดร้านมินิมาร์ทเล็กๆ ในหมู่บ้าน” เจษฎาพร กล่าว
แต่หากมีคนเข้าใจและอุ้มชู อย่างคุณพ่ออารี ระมิงค์วงศ์ ตัวแทนผู้ปกครองที่มีลูกสาวข้ามเพศ ที่จับมือและเดินเคียงข้างลูกในทุกการตัดสินใจ เล่าว่า ได้รับโอกาสการเป็นพ่อคน ในวัย 44 ปี ภรรยา 42 ปี หลังแต่งงานมานาน 10 ปี มี “น้องโมจิ” สมใจ ลูกเป็นคนกล้าแสดงออก ขณะเดียวกันก็เป็นคนเรียบร้อย สังเกต เอ๊ะใจ เห็นความเปลี่ยนแปลงของลูก เมื่อเข้าสู่วัยเรียน ลูกมักสวมบทหญิงสาวในการทำกิจกรรมของโรงเรียน และวันหนึ่งลูกรวบรวมความกล้า มาบอกสิ่งที่เค้าชอบและสิ่งที่เค้าอยากเป็น จึงตัดสินใจคุยกับครูประจำชั้น ในขณะนั้นอยู่ชั้นมัธยมต้น คำตอบที่ได้รับ ไม่ได้ทำให้โกรธ หรือ รักลูกน้อยลง เพราะอย่างไรเค้าก็เป็นลูกของเรา
“หวนคิดเมื่อตอนภรรยาเริ่มท้อง ขอแค่ ลูกมีอาการครบ 32 ก็พอใจแล้ว เมื่อลูกบอกถึงสิ่งที่อยากเป็น จึงถามกลับไปว่า แล้วลูกกินฮอร์โมนแล้วหรือยังเมื่อได้รับคำตอบว่ากิน จึงตัดสินไปเป็นเพื่อนลูกปรึกษาคุณหมอ เพราะกลัวว่า สิ่งที่ลูกรับประทานอยู่นั้นไม่ปลอดภัย ซึ่งมีตั้งแต่ทานฮอร์โมน ยาระงับความเจริญเติบโตทางเพศ และเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดทุกขั้นตอนเราอยู่กับเค้าเสมอ ” อารีกล่าว
ปัจจุบันข้อมูลของการข้ามเพศ ไม่ว่าจะเป็นหญิง หรือชาย ข้ามเพศ ผศ.รณภูมิ สามัคคีคมรมย์ รองคณบดี คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในฐานะประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ไม่เคยมีการเก็บข้อมูลอย่างชัดเจน อีกทั้ง กระบวนการพบแพทย์ ของคนข้ามเพศ ถูกตีตรา อยู่ใน บัญชีจำแนกโรคสากล หมวดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม ภาวะการมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด (ICD10) ทำให้เสมือนเป็นผู้ป่วยทางจิต แต่เมื่อองค์การอนามัยโลกเปลี่ยนบัญชีจำแนกใหม่ มาเป็น ICD11 จะทำให้เรื่อง การข้ามเพศ เป็นแค่การแสดงเจตจำนงในการใช้ชีวิต ไม่ใช่เรื่องเจ็บป่วยอีกต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ท้ายระบบความคิด เพราะเปลี่ยนแปลงถึง 3 ระบบด้วยกัน
- เปลี่ยนระบบบริการสุขภาพ
- เปลี่ยนความคิดของแพทย์ และผู้รับบริการ
- เปลี่ยนระบบการใช้ชีวิตของคนข้ามเพศ
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ครอบคลุมตั้งแต่ ระบบการให้บริการ การรับคำปรึกษาข้ามเพศ การจ่ายฮอร์โมน ไม่ใช่เรื่องของความเจ็บป่วย ไม่จำเป็นต้องคีย์ข้อมูล รหัสโรค ว่าเป็นผู้ป่วยทางจิตอีกต่อไป และแพทย์ต้องเปลี่ยนทัศนคติของการให้บริการข้ามเพศ เป็นการส่งเสริมป้องกันโรค ไม่ใช่การรักษา และระบบการลงข้อมูลรหัสโรค ต้องอยู่ในหมวดของการส่งเสริมป้องกันเพื่อใช้สิทธิในการเบิกจ่ายเมื่อรับบริการสุขภาพได้ ไม่ต่างจากงานส่งเสริมป้องกันโรคอื่นๆ ขณะที่ผู้รับบริการ หรือคนข้ามเพศ ต้องตระหนักว่า นี่คือการแสดงเจตจำนงในการดำรงเพศสภาพตามใจปรารถนา
“การข้ามเพศ การเปลี่ยนเพศ คนมักมองแต่ว่า เพราะเค้าอยากสวยอยากงามเท่านั้น แต่จริงๆ ไม่ใช่ การเปลี่ยนเพศ ด้วยสารเคมี ฮอร์โมน หรือใช้เครื่องมือแพทย์ทำอะไรกับเนื้อตัว-ร่างกาย มันคือการยืนยัน การใช้ชีวิต และต้องการความปลอดภัย จึงต้องอยู่ในมือแพทย์ เพราะมิเช่นนั้นคนเหล่านี้จะก้าวเข้าสู่บริการทางแพทย์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น คลินิกเถื่อน หมอเถื่อน หมอกระเป๋า การซื้อฮอร์โมนทานเอง เสี่ยงได้รับอันตราย” ผศ. รณภูมิกล่าว
แต่ละปีมีคนข้ามเพศ ได้รับการศัลยกรรมเปลี่ยนเพศไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่จากข่าว มีถึง 10 เคสต่อปี มีที่ติดเชื้อจากกการผ่าตัด รูปลักษณ์ภายนอกเปลี่ยนไป อวัยวะเปลี่ยนรูป ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ส่งผลให้คู่รักรังเกียจ หรือทอดทิ้ง ยังไม่นับค่าใช้จ่ายที่มีมูลค่ามหาศาล ในการเปลี่ยน ชายเป็นหญิง มีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 600,000 บาท และหญิงเป็นชาย มีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 1,200,000 บาท เนื่องจากกระบวนการมีความซับซ้อนมากกว่า
ขณะที่การสื่อสารให้สังคม และแม้แต่ภาคีเครือข่ายเข้าใจ เรื่องนี้ ดร.ชาติวุฒิ วังวล อดีตผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ ก่อนอื่น ต้องเข้าใจตรงกันว่า คนเหล่านี้ไม่ได้ป่วย และการมารับบริการ ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนสรีระเพื่อความสวยงาม แต่เป็นการปรับเปลี่ยนรูปร่างเพื่อให้ตรงกับเพศสำนึก ดังนั้น สสส. จะเร่ง ส่งผ่านข้อมูลของคนข้ามเพศ ว่าการส่งเสริมเรื่องสุขภาพทางเพศของคนข้ามเพศ เป็นเรื่องปกติ และผลักดันงานวิชาการที่ทันสมัย ให้สังคมรับรู้ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกไปพร้อมกัน เหมือนเช่นสถานการณ์การข้ามเพศ ที่องค์การอนามัยโลกเปลี่ยนมุมมองว่า ไม่ใช่ เรื่องของผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตอีกต่อไป
“สสส. จะเร่งผสานพลังปรับเปลี่ยนความเข้าใจใหม่ ว่า คนข้ามเพศไม่ใช่เรื่องผิดปกติอีกต่อไป และ ICD 11 จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง ว่า ไม่ใช่เรื่องของความเจ็บป่วย แต่เป็นการสร้างเสริมสุขภาพ ให้ใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีอีกต่อไป และในอนาคต มุ่งหวังให้เรื่องส่งเสริมสุขภาพของคนข้ามเพศบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบบริการสุขภาพ ซึ่งขณะนี้ ทางโรงพยาบาลศิริราช อยู่ระหว่างศึกษาวิจัยว่า การรับฮอร์โมนขนาดไหนจึงเหมาะสมในกลุ่มคนข้ามเพศ การศึกษาวิจัยนี้ จะเสร็จสิ้นปลายปี 2567” ดร.ชาติวุฒิกล่าว
เพื่อฉายภาพของการเปลี่ยนแปลงทางเพศให้ชัดขึ้น นพ.เบญทวิช สุรศาสตร์พิศาล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว Pride Clinic รพ.บำรุงราษฎร์ และในฐานะสมาคมเพื่อการพัฒนาสุขภาพบุคคลข้ามเพศและเพศหลากหลาย (ประเทศไทย) (ThaiPATH) กล่าวว่า ปัจจุบันระบบสาธารณสุขไทยทุกหน่วยงาน ยังไม่มีการกำหนดใช้ ICD 11 เชื่อว่าอยู่ในระหว่างการจัดทำข้อมูล และสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในบุคลากรทางการแพทย์ และขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเข้าใจให้กับระบบสวัสดิการ ราชการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ,ประกันสังคม เพราะการไปรับฮอร์โมนเพศ บางหน่วยงานไม่เข้าเกณฑ์การลา ทั้ง ลาป่วย -ลากิจ อนุญาตให้ใช้แค่ลาพักร้อนเท่านั้น ส่วนการรับฮอร์โมนเบื้องต้น จะใช้การพูดคุยประเมินเพศสภาพกับเพศทางอัตลักษณ์สอดคล้องกันหรือไม่ และสอบถามประวัติสุขภาพกาย – ใจ เพราะการรับฮอร์โมน มีผลกับทั้งระดับน้ำตาลในเลือด กระดูกพรุน หลังรับยาต้องมีการเจาะเลือดดูระบบต่อมไร้ท่อ
“การรับฮอร์โมน หรือ ผ่าตัดเปลี่ยนเพศ หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง แต่หากอายุเกิน 18 ปีสามารถเซ็นยินยอมได้ด้วยตัวเอง และต้องมีระบบติดตามประเมินผลทุก ๆ 3 เดือน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่ต้องเกิดและไม่อยากให้เกิด เช่นในหญิงต้องการข้ามเพศเป็นชาย ต้องดูว่าประจำเดือนลดลงไหม เสียงแหบ ไรหนวดขึ้นหรือยัง หากระบบฮอร์โมนคงที่ ก็เปลี่ยนมาติดตาม 2 ปีครั้ง แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า ต้องเลิกรับระดับฮอร์โมนเมื่อไหร่” นพ.เบญทวิช กล่าว
ส่องกระจก เห็นเงาสะท้อนรูปลักษณ์ ตามใจปรารถนา เพศสภาพที่ปรากฎไม่ถูกตีตราว่าผิดปกติทางจิต และได้รับสิทธิส่งเสริมสุขภาพตามแบบและลักษณะเฉพาะของคนข้ามเพศ เหมือนเช่น หญิงตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ชายตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก แค่นี้ก็นับว่าเท่าเทียม