How to รู้เรื่องวิ่ง

เรื่องโดย สุรศักดิ์ อาภาสกุล Team Content www.thaihealth.or.th


ให้สัมภาษณ์โดย  ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. และ อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายจาก สสส. อดีตประธานสมาพันธ์ชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพไทย


ภาพโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ


How to รู้เรื่องวิ่ง  thaihealth


การออกกำลังกายที่ง่าย แถมไม่ต้องใช้อุปกรณ์ และประหยัด เหมาะสมกับทุกเพศ ทุกวัย นั่นก็คือ “ การวิ่ง ” เพียงแค่คุณหยิบรองเท้าผ้าใบคู่โปรดและออกไปวิ่ง ก็ได้สุขภาพที่ดี พร้อมทั้งได้มีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้นด้วย


ในปัจจุบันการวิ่งเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีงานวิ่งไม่ต่ำกว่า 3,000 งาน ในประเทศไทย


How to รู้เรื่องวิ่ง  thaihealth


ดร.สุปรีดา  อดุลยานนท์  ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  เล่าว่า  ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย จัดงานวิ่งสู่ชีวิตใหม่ ThaiHealth Day Run 2019 ในวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน 2562 ณ สวนหลวงพระราม 8  ซึ่งในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 มีการจัดงานมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 เป็นงานที่เน้นการวิ่งเพื่อสุขภาพ โดยมีระยะทางการวิ่ง 3 ระยะทาง คือ 10 กม. 5 กม. และ 3 กม. โดยเน้นเป็นกลุ่มนักวิ่งหน้าใหม่ ซึ่งงานนี้ได้รับการตอบรับมาเป็นอย่างดี งานวิ่งสู่ชีวิตใหม่ ThaiHealth Day Run 2019  จะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การแข่งขันแต่จะเน้นในเรื่องการวิ่งเพื่อสุขภาพและมิตรภาพ  


How to รู้เรื่องวิ่ง  thaihealth


สิ่งที่นักวิ่งและผู้จัดงานวิ่งหลายงานคำนึงถึง คือ เรื่องของมาตรฐานงานวิ่ง ที่ต้องยอมรับว่า หลายภาคส่วนให้ความสำคัญ โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ในกิจกรรมวิ่งสู่ชีวิตใหม่ ThaiHealth Day Run 2019 ในส่วนของมาตรฐานงานวิ่ง จะมุ่งเน้นไปที่ 3 หลักการ ได้แก่  Safe (ความปลอดภัย)  เมื่อเข้าร่วมงานจะมีแพทย์และพยาบาล คอยให้ความช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วย รวมทั้งมีจุดบริการน้ำดื่มอำนวยความสะดวกแก่นักวิ่ง Fair (ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน) ในเรื่องของการตัดสินที่จะต้องมีความยุติธรรม รวมทั้งราคาค่าสมัครจะต้องมีความเหมาะสม  Fun (ความสนุกสนาน) ในการเข้าร่วมงานวิ่งผู้เข้าร่วมจะได้รับความสนุกสนานรวมทั้งได้สุขภาพที่ดี


How to รู้เรื่องวิ่ง  thaihealth


อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ  ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายจาก สสส. ที่ปรึกษาสมาพันธ์ชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพไทย   เล่าเสริมว่า  ในเรื่องของการวิ่งเพื่อสุขภาพเป็นการวิ่งแบบสบายๆ ตามสมรรถภาพของตัวนักวิ่งถ้ารู้สึกไม่ไหวก็ต้องหยุดพัก โดยคำนึงถึงตัวนักวิ่งเองเป็นสำคัญ ซึ่งการจะออกกำลังกายใดๆก็ตามต้องเริ่มต้นจากการอบอุ่นร่างกาย การยืดกล้ามเนื้อ ( warm up ) แล้วจึงค่อยออกกำลังกาย ( exercise ) เมื่อเสร็จแล้วจะต้องมีการยืดกล้ามเนื้อหลังวิ่ง ( cool down )


How to รู้เรื่องวิ่ง  thaihealth


นอกจากนี้ทางทีมเว็บไซต์ สสส. มีข้อมูลมาแนะนำที่จะช่วยสร้างงานวิ่งที่มีมาตรฐานในการแข่งขันระดับนานาชาติ โดยยึดหลักมาตรฐานสากลของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ  (International Association of Athletics Federations: IAAF) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่ดูแลกฎ กติกาด้านการกรีฑา และยังเป็นผู้จัดระดับคุณภาพของการจัดการแข่งขันวิ่งถนนในระดับโลก  โดยพันธกิจทั้ง 6 ประการ ดังนี้


  • NO BIB = NO RIGHT   ตามกฎของ IAAF กำหนดให้นักวิ่งมีหมายเลขประจำตัว หรือ BIB สำหรับติดไว้ด้านหน้าเสื้อเพื่อให้สังเกตเห็นได้ชัดขณะแข่งขัน เป็นการยืนยันตัวตนของนักวิ่ง ซึ่งจะแสดงประเภท กลุ่มอายุ และลำดับหมายเลข  BIB จึงเป็นเหมือนเอกสารสิทธิ์เฉพาะบุคคลที่สงวนสิทธิ์ให้แก่ผู้ที่ลงทะเบียนเท่านั้น 
  • CHECK IN ก่อน START   การ CHECK IN เป็นการยืนยันว่านักวิ่งได้ถูกปล่อยจากจุด START อย่างถูกต้อง หากเข้าเส้นชัยในลำดับที่ได้รับรางวัลแล้วพบว่าไม่ได้ CHECK IN นักวิ่งจะถูกตัดสิทธิ์ทันที  ดังนั้นควรเผื่อเวลาไปถึงสถานที่จัดงานเพื่อ CHECK IN 
  • ออกตัว ไม่แทรก ไม่แซง  การแข่งขันในสนามมาตรฐานของ IAAF จะมีการปล่อยตัวแบบเป็นรอบ (WAVE) ร่วมกับระบบบล็อกปล่อยตัว เพื่อรองรับผู้เข้าแข่งขันที่มีจำนวนมาก รอบการปล่อยตัวและบริเวณรอปล่อยตัวของนักวิ่งคนหนึ่งๆ มักกำหนดโดยดูความสามารถหรือสถิติก่อนหน้านี้  และถูกออกแบบมาเพื่อลดความแออัดที่จุดปล่อยตัวและจุดที่เส้นทางวิ่งคับแคบ และลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุอันเกิดการแทรกหรือเบียดบริเวณจุดปล่อยตัว
  • วิ่งครบทุกหมุด ฟินสุดตลอดทาง นักวิ่งต้องวิ่งตามเส้นทางที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ไม่ทุจริตด้วยการวิ่งลัดเส้นทางแล้วกลับไปรวมกลุ่มกับนักวิ่งอีกครั้ง ตามมาตรฐานผู้จัดจะมีการตรวจสอบว่านักวิ่งได้ผ่านครบทุก CHECK POINT ที่วางไว้ตลอดเส้นทางหรือไม่ กรณีที่ไม่ผ่านจุดใดจุดหนึ่ง หรือ CHECK POINT  ไม่ครบ นั่นหมายถึง นักวิ่งวิ่งไม่ครบเส้นทาง จะถูกตัดสิทธิ์การได้รับรางวัลจากการแข่งขัน
  • รอยยิ้มและน้ำใจ = อาวุธใหม่ในการวิ่ง  ร่วมสร้างสังคมนักวิ่งที่อบอุ่นด้วยการแบ่งปันรอยยิ้มแก่เพื่อนนักวิ่ง การยิ้มและทักทายเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีและสร้างกำลังใจให้แก่กัน นอกจากนั้นควรเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีน้ำใจใช้ทางวิ่งร่วมกันไม่ปิดทางวิ่ง
  • วิ่งแบบมีมาตรฐาน ร่วมสร้าง SPIRIT ในตัวคุณ  สร้างวินัยในตัวเองเพื่อเป็นนักวิ่งที่ดีด้วยการเคารพกติกาการแข่งขันอย่างเคร่งครัด


นับว่าการจัดงานวิ่งในแต่ละครั้งต้องมีมาตรฐานการจัดงาน  สสส. ร่วมกับ สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย จัดงานวิ่งเพื่อสุขภาพ วิ่งสู่ชีวิตใหม่ Thaihealth day run  2019 โดยคำนึงถึงมีความปลอดภัยและความยุติธรรมสำหรับผู้จัดและนักวิ่งทุกคน นอกจากนี้ยังได้จัดทำ “คู่มือการจัดกิจกรรมงานวิ่งเพื่อสุขภาพ” เพื่อให้การจัดงานวิ่งในแต่ละครั้งได้มีมาตรฐานที่ปลอดภัยและยุติธรรม


How to รู้เรื่องวิ่ง  thaihealth


สามารถดาวน์โหลดได้ที่ คู่มือการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนนของ IAAF http://llln.me/SdfNF7j


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code