“Hackathon” พัฒนาแอพฯ แก้ปัญหาสุขภาพคนไทย

สสส. จับมือ “กูเกิ้ลไทย – ซัมซุง” จัดกิจกรรม “Hackathon” ประกวด “Health App Challenge” พัฒนา 4 โจทย์ใหญ่สร้างเสริมสุขภาพ หวังใช้โอกาสพัฒนาแอพพลิเคชั่น ช่วยแก้ปัญหาสุขภาพคนไทย

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยนพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ สถาบัน Change Fusion, Google Thailand และบริษัท ซัมซุง (ประเทศไทย) จำกัด จัดกิจกรรม “Hackathon” ภายใต้โครงการประกวดการแข่งขันพัฒนาแอพพลิเคชั่น ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (Health App Challenge : Hac)  เพื่อส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสร้างเสริมสุขภาพ และสนับสนุนองค์ความรู้และพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพสำหรับประชาชน

โดยเปิดรับสมัครเด็กและเยาวชน ทีมละ 3-5 คน ส่งผลงานการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เข้าแข่งขันตามโจทย์ที่กำหนด 4 เรื่อง คือ 1.สุขบัญญัติแห่งชาติและเครื่องมือการตรวจสุขภาพสำหรับเด็กและเยาวชน  2.การลด ละ เลิก การดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ 3.การออกกำลังกายและอาหารสร้างเสริมสุขภาพ และ 4.การใช้เงินอย่างมีวินัย ทั้งนี้ สามารถส่งผลงานเข้าประกวดจนถึงวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ได้ที่ http://hac.in.th/ หรือติดต่อสอบถามได้ที่ hac@changefusion.org

“กิจกรรม “Hackathon” จะจัดขึ้น 2 ครั้ง คือ ที่ สสส. กรุงเทพฯ และที่ จ.เชียงใหม่  ระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคมนี้ โดยการตัดสินจะใช้วิธีการโหวตจากคณะกรรมการ และผู้เข้ารวมชมการประกวด ซึ่งจะมีการประกาศผลผู้ชนะการแข่งขันในเดือนมกราคม ปี 57 โดยทีมที่ผ่านเข้ารอบจะได้รับการพัฒนาศักยภาพ ทั้งด้านเทคโนโลยี การออกแบบ องค์ความรู้ทางสุขภาพ และการตลาด จากวิทยากรและตัวแทนจากกูเกิ้ล ซัมซุง ฯลฯ  เพื่อต่อยอดการทำงาน รวมถึงการนำเสนอผลงานผ่านทาง App Store ต่อไป”  นพ.ชาญวิทย์ กล่าว

ปัจจุบัน ระบบไอซีทีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมของคนไทย เพราะขณะนี้มีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วโลกถึง 20 ล้านคน จึงจำเป็นต้องสร้างโอกาสในการพัฒนาการเรียนรู้และส่งเสริมเทคโนโลยี เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยขึ้น ซึ่งโครงการพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ 4 ด้านคือ 1.เปิดโอกาสให้นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น ได้นำเสนอไอเดียที่มีประโยชน์ต่อการสร้างเสริมสุขภาพ 2.นักพัฒนาได้รับความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การออกแบบ และการทำธุรกิจ 3.เกิดแอพพลิเคชั่นสร้างเสริมสุขภาพต้นแบบ อย่างน้อย 6 ชิ้น สามารถนำไปรณรงค์ให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ด้วยตนเอง และ 4.เกิดเครือข่ายความร่วมมือจัดกิจกรรมพัฒนาเทคโนโลยีส่งเสริมสุขภาวะจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน

 

 

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code