Gen A ปฏิบัติการจิตอาสา สัมผัสหัวใจคนไร้บ้าน

Gen A ปฏิบัติการจิตอาสา สัมผัสหัวใจคนไร้บ้าน thaihealth


ช่วงหลายปีมานี้ ประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหลวงมีคนไร้บ้านหรือคนเร่ร่อนที่ใช้ชีวิตอยู่ตามที่สาธารณะอยู่เป็นจำนวนมากและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยความที่คนเหล่านี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก เพราะไม่ที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ ไม่มีครอบครัวให้พึ่งพิง จึงต้องอาศัยหลับนอนอยู่ตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถานีขนส่ง ใต้ทางด่วน ใต้สะพาน อาคารร้าง ทำให้คนในสังคมส่วนใหญ่มักมองว่าคนไร้บ้านเป็นปัญหาสังคม และเป็นกลุ่มคนที่น่ารังเกียจ คงมีเพียงกลุ่มคนที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับคนไร้บ้านเท่านั้น ที่จะรับรู้และเข้าใจถึงสาเหตุแท้จริงที่ทำให้พวกเขาต้องอยู่ในสภาพนี้


ด้วยเหตุนี้โครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย2558 Gen A (Generative Active) ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิธรรมดี และองค์กรภาคีเครือข่าย อาทิ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม บริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จึงได้นำคณะเยาวชนในโครงการลงพื้นที่ศึกษาปัญหาและทำกิจกรรมจิตอาสาด้านสิทธิเพื่อคนจนและคนไร้บ้านที่ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู บางกอกน้อย เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยสายพันธุ์ใหม่ที่เข้าร่วมโครงการได้เปิดมุมมองศึกษามิติใหม่ๆ ทางสังคมมากขึ้น เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว และปลูกจิตสำนึกใหม่ให้ทุกคนลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น


งานนี้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจึงได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเร่ร่อนในศูนย์ที่พักคนไร้บ้านบางกอกน้อย(สุวิทย์ วัดหนู) และได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา รวมถึงสาเหตุที่ทำให้คนเหล่านี้ต้องกลายมาเป็นคนไร้บ้าน ถึงแม้ว่าเรื่องราวเหล่านั้นจะเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดและไม่น่าจดจำสักเท่าใด จนทำให้บางคนถึงกับหลั่งน้ำตาเมื่อพูดถึงเรื่องราวชีวิตที่แสนลำบากยากเข็ญในอดีต


แต่ทุกคนก็ยินดีที่จะเล่าเรื่องราวภูมิหลังของตนให้กับเยาวชนได้รับฟัง ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่าภายหลังจบการสนทนาซึ่งกินเวลาเพียงไม่นาน เยาวชนรู้สึกเห็นอกเห็นใจและต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามุมมองที่ตนมีต่อคนไร้บ้านได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากเดิมที่เคยมองคนกลุ่มนี้ในด้านลบแม้ว่าจะไม่เคยรู้จักกันเลยก็ตาม แต่หลังจากนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนไร้บ้านหรือปัญหาอื่นๆ ในสังคม ก็จะพยายามไม่ด่วนตัดสินใคร และจะต้องรู้จักใช้สติคิดวิเคราะห์สภาพปัญหาที่แท้จริง เพื่อหาแนวทางแก้ไขอย่างถูกต้อง


นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ หรือ ลุงดำ แกนนำคนไร้บ้านแห่งมหานครเล่าว่า ศูนย์ที่พักคนไร้บ้านบางกอกน้อย (สุวิทย์ วัดหนู) เปิดพื้นที่เป็นที่พักอาศัยสำหรับคนไร้บ้านอยู่ร่วมกันมากกว่า 80 คน นอกจากนี้ยังมีศูนย์ที่พักคนไร้บ้านอีกหลายแห่งซึ่งแต่ละแห่งได้กำหนดกติกาในการอยู่ร่วมกันเอาไว้ เช่น ต้องไม่พูดเสียดสีกัน ต้องรู้จักรักษาความสะอาด ห้ามเล่นการพนัน ห้ามผิดลูกผิดเมีย ห้ามส่งเสียงดังหลังสี่ทุ่ม ห้ามดื่มสุรา ห้ามลักขโมย และที่สำคัญต้องเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เพราะจะมีทั้งคนที่พักอาศัยอยู่เป็นประจำและไม่ประจำ บางคนก็มาอยู่แค่บางช่วง หรือคนที่ประสบภัยต่างๆ ก็จะมาขอพักเป็นการชั่วคราว เมื่อตั้งหลักได้แล้วก็จะย้ายออกไป โดยคนที่เข้ามาพักต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนตัวเองด้วย เช่น อาหารการกินต่างๆ ส่วนค่าน้ำ ค่าไฟต้องรับผิดชอบร่วมกัน


Gen A ปฏิบัติการจิตอาสา สัมผัสหัวใจคนไร้บ้าน thaihealthนอกจากนี้ในกลุ่มยังมีกิจกรรมพัฒนาเพื่อส่งเสริมในหลายๆ ด้านอีกด้วย เช่น โครงการส่งเสริมการออมทรัพย์และสวัสดิการที่เริ่มอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2553 โดยเงินออมของสมาชิกต่อเดือนจะอยู่ระหว่าง 100-150 บาทต่อคน เพื่อเป็นสวัสดิการเดือนละ 30 บาท ส่วนที่เหลือจะเป็นการออมสำหรับที่อยู่อาศัย ค่าน้ำ และค่าไฟในศูนย์ที่พัก เป็นต้น โครงการที่น่าสนใจอีกกิจกรรมก็คือ การเดินกาแฟ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สมาชิกจะหิ้วถุงกาแฟ น้ำเต้าหู้ ไปฝากกันเพื่อเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ และยังเป็นการสำรวจปัญหาของคนไร้บ้านไปด้วยในตัว ซึ่งทำมาต่อเนื่องและประสบความสำเร็จตลอดมา


น้องแนท หรือ สิริปรียา จะสาร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเชียงของวิทยาคมเผยถึงความรู้สึกหลังจากได้สัมผัสชีวิตคนไร้บ้านว่า “คนทั่วไปมองว่าคนไร้บ้านคือคนจน ไม่มีบ้าน แต่จริงๆ แล้วบางคนยังมีบ้านอยู่ แต่เลือกมานอนตามที่สาธารณะเพราะอยากมีเพื่อน บางคนมีปัญหาครอบครัว มีบ้านแต่ไม่อยากกลับเพราะไม่รู้จะอยู่บ้านไปทำไม บางคนก็ตกงานไม่มีรายได้


การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ถือว่าเรามาอาศัยพวกเขาเป็นสื่อกลางการเรียนรู้ เพื่อที่จะได้ช่วยกันปรับเปลี่ยนทัศนคติที่คนในสังคมมีต่อคนกลุ่มนี้ เพราะจริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้เลวร้าย ไม่ได้ขี้เกียจ กินเหล้า อยู่ไปวันๆ บางคนขยันทำมาหากินแต่สร้างฐานะได้แค่พอเลี้ยงตัวเอง เราได้เห็นว่าทุกสังคมมีคนดี คนไม่ดีปะปนกันไป แต่เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ทำให้เขาต้องเป็นแบบนั้น”


ด้าน น้องเค้ก หรือ พุทธชัย พูนเจริญผล นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ เล่าว่า เป็นครั้งแรกที่ได้มาทำกิจกรรมกับคนไร้บ้าน ตอนแรกไม่คิดว่าปัญหาคนไร้บ้านจะเป็นเรื่องที่รุนแรงขนาดนี้ แต่เมื่อได้มาสัมผัสด้วยตนเองก็รู้สึกเห็นใจพวกเขามาก ทั้งกับปัญหาส่วนตัวที่พวกเขาต้องเผชิญและแรงกดดันจากสังคมภายนอก พอได้รับฟังปัญหาในหลายๆ ด้าน ทำให้มุมมองที่เคยมีต่อคนกลุ่มนี้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งนอกจากจะได้รับฟังปัญหาต่างๆ แล้วยังมีโอกาสทำกิจกรรมจิตอาสาต่างๆ เพื่อพวกเขาด้วย เช่น การสร้างอิฐบล็อกจากดินเหนียวเพื่อใช้สำหรับก่อสร้างบ้านดินสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย และการทำแปลงเกษตรกรรมเพื่อใช้บริโภค ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย


“ตั้งแต่ผมเดินเข้าไปในชุมชนคนไร้บ้าน ผมเห็นแววตาของพวกเขา ผมสัมผัสได้ว่า ทุกคนมีความหวังว่าวันพรุ่งนี้จะต้องดีกว่าวันนี้ และพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ตนเองได้มีที่ยืนในสังคม ผมจึงอยากวอนขอให้คนไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของคนไร้บ้าน และปฏิบัติกับพวกเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเหมือนกับคนทั่วไป ต้องขอบคุณโครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย ที่ทำให้ผมได้เห็นอีกมุมหนึ่งของสังคมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และยังสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ของชุมชนอีกด้วย ผมรู้สึกภูมิใจและจะเก็บความรู้สึกนี้ไว้เป็นแรงผลักดันในการทำความดีเพื่อผู้อื่นต่อไป” น้องเค้ก กล่าวทิ้งท้าย


สำหรับจุดเริ่มต้นของการช่วยเหลือใครสักคนนั้น ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจก่อนว่าผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือนั้นคือใคร เพื่อให้การช่วยเหลือนั้นเหมาะสมและตรงกับความต้องการของผู้รับอย่างแท้จริงอย่างเช่นการช่วยเหลือคนไร้บ้านที่คนส่วนใหญ่มักคิดถึงการช่วยเหลือในรูปแบบของการบริจาคแต่แท้จริงแล้วคนเหล่านี้ก็มีศักยภาพไม่ต่างจากคนทั่วไป พวกเขาต้องการเพียงแค่ความเข้าใจ การยอมรับจากคนในสังคม และโอกาสในการประกอบอาชีพ ที่จะช่วยให้พวกเขามีพื้นที่ยืนอยู่ในสังคมได้โดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code