Friendly Design ท่องเที่ยวได้อย่างเท่าเทียม
เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก คู่มืออารยสถาปัตย์ การออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และ สสส.
หลังจากต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติเมื่อหลายเดือนก่อน เป็นที่น่ายินดีที่วันนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันหลายภาคส่วนก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักเช่นเดิมอีกครั้ง ภาคธุรกิจต่างงัดโปรโมชั่นและดีลสุดพิเศษมาเอาใจนักท่องเที่ยว เพื่อหวังจะสร้างความสุขหลังจากที่ต้องเผชิญกับวิกฤตกันมาอย่างยาวนาน
แต่จะดีกว่าไหม หากสถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้า ที่พัก หรือแม้แต่ร้านอาหาร จะสามารถรองรับและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวทุกคนได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ คนพิการ และกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถเข้ามาใช้บริการได้เหมือนคนทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จึงร่วมกับมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล จัดประชุมเสวนาการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ใน 10 จังหวัดนำร่อง และพื้นที่เชื่อมโยง ครั้งที่ 1 เพื่อทำให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในพื้นที่อย่างยั่งยืน ตลอดจนขยายผลเพิ่มเส้นทางการท่องเที่ยวให้ทั่วประเทศไทย
ประเทศไทยมีกลุ่มผู้พิการร่วม 2 ล้านคน ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุกว่า 12 ล้านคน เป็นกลุ่มใหญ่ที่เริ่มด้วยข้อจำกัดของสุขภาวะทางร่างกาย แล้วส่งผลกระทบต่อจิตใจและสังคมตามมาด้วย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ทำเรื่องสร้างเสริมสุขภาพของผู้คน ดูแลทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย รวมทั้งประชากรกลุ่มเฉพาะที่มีความเปราะบางและข้อจำกัดต่าง ๆ อย่างผู้สูงอายุและผู้พิการ ดังนั้น การสร้างเสริมสุขภาพสำหรับบุคคลกลุ่มนี้จึงต้องมีวิธีที่แตกต่างไป การผลักดันยุทธศาสตร์ที่เรียกว่าการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อคนทั้งมวล เป็นการออกแบบที่ควรจะให้ทุกคนเข้าถึงทุกที่ได้เป็นเรื่องที่กำลังผลักดันให้เกิดได้มากขึ้น สสส.สนับสนุนงานวิชาการ นโยบาย เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนร่วมกัน
นายจารุเชฏฐ์ เรืองสุวรรณ รองผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าการท่องเที่ยว ททท. กล่าวว่า การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลสามารถทำได้ในประเทศไทย โดยต้องทำตั้งแต่ระบบศูนย์กลางการคมนาคมที่จะนำไปสู่แหล่งท่องเที่ยว เช่น ท่าอากาศยาน สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ และท่าเรือ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ ท่องเที่ยวได้ สะดวก และปลอดภัย จังหวัดอื่นๆ สามารถนำรูปแบบของ 10 จังหวัดนำร่องไปต่อยอดทั่วประเทศ
นับเป็นโอกาสสำคัญที่ สสส. จะเข้ามาเติมเต็มให้มากขึ้น โดยสนับสนุนความรู้ ผลักดันนโยบาย สื่อสารสังคม และทำพื้นที่นำร่อง โดยเลือกทำในพื้นที่ที่มีความพร้อมของคนในพื้นที่ ใน 10 จังหวัดนำร่องมีการประเมินหลาย ๆ อย่างรวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้พื้นที่อื่น ๆ มีอารยสถาปัตย์เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนทั้งมวล มีการปรับปรุงสถานที่ มีการให้ข้อมูลของการบริการและมีการประสานในพื้นที่ สำหรับ 10 เส้นทางท่องเที่ยว ใน 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กทม. กาญจนบุรี ขอนแก่น ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก อยุธยา พังงา และราชบุรี มีสถานที่ท่องเที่ยวและพื้นที่เชื่อมโยงเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล โดย การปรับปรุงบ้านพักให้มีการออกแบบที่เป็นมิตร การสร้างทางลาดมาตรฐานที่ไม่ชันสำหรับวีลแชร์ และมีห้องน้ำอารยสถาปัตย์ที่มีประตูกว้างอย่างน้อย 80 เซนติเมตร มีราวจับ มีพื้นที่กว้าง เพื่อให้มนุษย์ล้อสามารถใช้งานได้ด้วยตนเองโดยสะดวก สบาย และปลอดภัย ทั้งหมดนี้คือหลักเกณฑ์พื้นฐานที่ออกแบบตามอารยสถาปัตย์
Friendly Design Guide Book คู่มืออารยสถาปัตย์ การออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล นับเป็นคู่มือฉบับแรกของอาเซียน Friendly Design หรือ อารยสถาปัตย์ หมายถึง หลักการออกแบบที่เป็นมาตรฐานสากล ทุกคนใช้ได้ ทุกวัยใช้ดี สะดวก ทันสมัย ปลอดภัย สบายใจหายห่วง ด้วยหลักคิดที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล
โดยการสำรวจอารยสถาปัตย์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการและมนุษย์ล้อ ต้องสำรวจรายละเอียดของสถานที่ดังกล่าวว่ามีลักษณะอย่างไรบ้าง ดังนี้
1.ที่จอดรถสำหรับผู้ใช้รถเข็น/ผู้สูงอายุ/ผู้พิการ
2.ห้องน้ำสำหรับผู้ใช้รถเข็น/ผู้สูงอายุ/ผู้พิการ มีราวจับ พื้นที่หมุนตัว สัญญาณฉุกเฉิน อ่างล้างมือ และที่เปลี่ยนผ้าอ้อมสำหรับเด็กหรือผู้สูงอายุหรือไม่
3.ทางลาด สำหรับผู้ใช้รถเข็น/ผู้สูงอายุ/ผู้พิการ มีความชัน ราวจับ ช่วงพักสำหรับวีลแชร์ Warming Block หรือไม่อย่างไร
4.ป้ายสัญลักษณ์
5.เคาน์เตอร์บริการสำหรับมนุษย์ล้อ
6.ลิฟต์ มีหน้าจอบอกชั้น อักษรเบรลล์ เสียงบอกชั้นหรือไม่ และความสูงปุ่มกดสำหรับวีลแชร์ได้มาตรฐานหรือไม่
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. กล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะผู้พิการ แต่หมายรวมถึงผู้สูงอายุและผู้ที่เดินทางยากลำบากด้วยเงื่อนไขอื่นๆด้วย เช่น คนท้อง คนป่วย เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้มีสิทธิ์และจำเป็นมากที่จะต้องเดินทางด้วยตนเองได้ สสส. มีภารกิจที่จะสร้างเสริมสุขภาพ และยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการให้คนลดอุปสรรคในการเดินทาง
สถานการณ์การท่องเที่ยวคงดำเนินไปในทิศทางที่ดี หากสามารถยกระดับคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวให้ดีขึ้นและเปิดรับคนทั้งมวลได้ นับว่า อารยสถาปัตย์เป็นเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวและเป็นการส่งเสริมสุขภาวะเพื่อคนทั้งมวลให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ท่องเที่ยวได้อย่างมีความสุขโดยเสมอภาค และเท่าเทียม
สามารถดาวน์โหลด คู่มืออารยสถาปัตย์ การออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล ได้ที่…http://ssss.network/bam30