Free Play เล่นอิสระ สร้างทักษะ เชื่อมสัมพันธ์
เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก เสวนาออนไลน์ หัวข้อ “เด็กเล่นอิสระ Free Play สร้างพลังสุข เชื่อมโยงทุกความสัมพันธ์” และเพจ Let’s play more เล่นเปลี่ยนโลก
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th เเละสสส.
“การเล่น” เป็นธรรมชาติและความต้องการของเด็กทุกคน เป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนาน ผ่อนคลาย ช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ และพัฒนาการตามวัย รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอกครอบครัว โดยเฉพาะ “การเล่นอิสระ” ซึ่งถือเป็นธรรมชาติของเด็กเล็ก
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “เด็กเล่นอิสระ Free Play สร้างพลังสุข เชื่อมโยงทุกความสัมพันธ์” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก และแฟนเพจเฟซบุ๊ก Leeway การเรียนรู้ผ่านการเล่น ซึ่งมีเป้าหมายในการจุดประกายแนวคิดให้ครอบครัวเกิดการเลี้ยงลูกเชิงบวก สนับสนุน “การเล่นเพื่อการเรียนรู้” รวมทั้งสร้างสุขภาวะที่ดีในเด็ก
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็ก ๆ ถูกจำกัดพื้นที่ เกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เกิดความเครียดจากรูปแบบการเรียนที่ไม่คุ้นเคย และขาดโอกาสพบปะเพื่อนวัยเดียวกัน ผลที่ตามมา คือ การที่เด็กเลือกที่จะใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ และเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย เราไม่อยากให้เด็กเล็กอยู่ในสถานการณ์นี้ต่อไป เพราะเราต้องอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ไปอีกนาน ผู้ใหญ่ทุกคนรู้ดีว่า “ความสุข” คือพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ เด็กก็เช่นเดียวกัน เมื่อเด็กได้เล่นเด็กจะมีความสุขจนนำไปสู่การเรียนรู้ที่ดี สุขภาพกายใจที่ดี
สสส. สนับสนุนการเล่นอย่างหลากหลายรูปแบบ ด้วยความคำนึงถึงว่า เด็ก ๆ มีหลากหลายกลุ่ม ครอบครัวมีหลากหลายโครงสร้าง หลากหลายความพร้อม หลากหลายเงื่อนไข ทำให้เกิดการรวมตัวของภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ สนับสนุนให้มีพื้นที่เล่นหลากหลายรูปแบบ มีการพัฒนานวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสร้างพื้นที่เรียนรู้ รวมทั้งการพัฒนาผู้ดูแลการเล่น ซึ่งจะช่วยให้การเล่นกับลูกเป็นเรื่องง่าย รวมทั้งการทำงานเชิงนโยบาย อย่างโครงการเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก กระจายไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของชุมชน ท้องถิ่นต่าง ๆ อีกด้วย
“การเล่นของเด็กปฐมวัยมีความสำคัญและคุณค่าต่อชีวิตของเด็ก ผู้ปกครองต้องตระหนักว่าการเล่นทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้การปรับตัว และส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์และทักษะการใช้ชีวิตในสังคมได้ สสส. ชวนให้ผู้ปกครองเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เล่นอิสระตามธรรมชาติของวัยอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อให้เขามีความสุขจากหัวใจ ฟื้นฟูตัวเองจากความเครียดความกดดัน และยังเป็นการสร้างพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวด้วย” นางสาวณัฐยา กล่าว
นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า การเล่นอิสระ หรือ Free Play หมายถึง การเล่นที่ให้เด็กเป็นคนคิดเอง ออกแบบเอง กำหนดเองว่าเขาอยากเล่นอะไร จะเล่นอย่างไร ซึ่งจุดนี้จะเป็นรากฐานชีวิตของเด็ก แต่พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงครู อาจารย์ และนักพัฒนาเด็กอาจจะยังไม่เข้าใจเท่าไหร่นัก จึงอยากทำความเข้าใจกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ใหญ่มีบทบาทในการสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เด็กเข้าถึงการเล่นอิสระมากขึ้น โดยประโยชน์ของการเล่นอิสระ หรือการเล่นที่เข้าถึงธรรมชาติ (Loose Tart) นอกจากจะทำให้เด็กจัดการปัญหา มีจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังช่วยทำให้เด็กมีนวัตกรรมการหาทางออกในชีวิตเชิงบวกรูปแบบใหม่ ไม่วิ่งหนีปัญหา หรือใช้วิธีเชิงลบด้วย
นางสาวเมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของแฟนเพจเฟซบุก ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ หรือครูเม กล่าวว่า ตามหลักพัฒนาการในเด็กปฐมวัย เด็กจะต้องการเวลาอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงต่อวันในการเล่น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเล่นสองชั่วโมงต่อเนื่องกัน อาจจะแบ่งเป็นระยะเวลา เช่น เช้า กลางวัน เย็น อย่างละชั่วโมงก็ได้ การเปิดโอกาสให้เด็กได้จินตนาการ และพื้นที่อนุญาตให้เด็กได้ทดลอง จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เด็กจะเล่นอย่างไรก็ได้ขอให้อยู่ภายใต้กฎสามข้อ คือ 1. ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนหรือบาดเจ็บ 2. ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือบาดเจ็บ และ 3. ไม่ทำให้ข้าวของเสียหาย หรือเล่นแล้วเก็บ
“การที่เด็กต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด เช่น คอนโด หรือห้องเล็ก ๆ สามารถใช้วิธีการเล่นวัสดุที่เราไม่ใช้ที่มีอยู่ในบ้าน เช่น แกนกระดาษทิชชู กล่องขนม กล่องพัสดุ กระดาษ reuse หรือใช้การเล่นแบบ messy play เข้ามาช่วยได้ เช่น การเปิดน้ำใส่กะละมังผสมสี โฟมสบู่ ข้าวสาร ถั่ว ใบไม้ เพราะสำหรับเด็กแล้วของทุกอย่างสามารถเป็นของเล่นได้ นอกจากนี้ การที่เด็กได้เล่นกับธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ ทราย จะช่วยให้เด็กสร้างสมาธิขึ้นมาอย่างมหาศาล และสามารถจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น” ครูเมกล่าว
การเล่นช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 5 ด้าน ที่เป็นพื้นฐานในการเติบโตของเด็ก ประกอบด้วย
ด้านร่างกาย – ร่างกายแข็งแรง ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อและประสาทสัมผัส
ด้านอารมณ์ – เด็กจะมีความฉลาดทางอารมณ์ สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ เห็นคุณค่าในตัวเอง
ด้านสังคม – รู้จักกติกาของสังคม เคารพผู้อื่น
ด้านสติปัญญา – มีเหตุผล รู้จักแก้ไขปัญหา
ด้านความคิดสร้างสรรค์ – เด็กได้ฝึกใช้จินตนาการ นำไปสู่การต่อยอดสร้างสิ่งใหม่ ๆ
นางณฐิณี เจียรกุล อาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวทางสำคัญของการเล่นที่ดีที่สุด คือ การที่เด็กได้เล่นกับคนในครอบครัว เพราะจะช่วยดึงศักยภาพของเด็กที่มีอยู่ในตัวเองระหว่างเล่นได้อย่างมีคุณภาพ ขณะที่ผู้ปกครองสามารถสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กว่าเติบโตสมวัยด้วยได้หรือไม่ ขณะที่พื้นฐานการเล่นของเด็กแบ่งเป็น 3 อย่าง ดังนี้ 1. เล่นคนเดียว คือ เด็กจะเล่นหรือจดจ่ออยู่กับสิ่งที่สนใจเพียงลำพัง 2. เล่นคู่ขนาน คือ เด็กจะเล่นอยู่ข้าง ๆ กับเพื่อนที่เป็นเด็กด้วยกัน แต่ยังไม่มีปฏิสัมพันธ์ในการเล่นร่วมกัน และ 3. เล่นร่วมกัน คือ เด็กจะมีปฏิสัมพันธ์ในการเล่นกับผู้อื่นทั้ง ผู้ปกครอง เพื่อน หรือคนรู้จัก โดยรูปแบบการเล่นเหล่านี้จะเปลี่ยนไปตามช่วงวัยของเด็กแต่ละช่วงอายุ ซึ่งผู้ปกครองสามารถนำไปประเมินพัฒนาการของเด็กได้ว่าช้าหรือเติบโตตามวัยหรือไม่
“การเปิดให้เด็กเล่นอิสระ คิดค้นวิธีการเล่นด้วยตัวเอง คือโอกาสแห่งการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ ในชีวิตของเขา เพราะเป็นโอกาสทองในการพัฒนาทักษะ อยากย้ำทุกครอบครัวว่าการเล่นอิสระเป็นกำไรในชีวิตเด็ก เพราะระหว่างเล่นเด็กจะเปิดเผยความสนใจของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในการต่อยอดการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของเขาได้ในอนาคต” นางณฐิณี กล่าว
“การเล่น” ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อีกต่อไป แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเด็กให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ การสนับสนุนให้เด็กได้มีพื้นที่ในการเล่นอิสระ นอกจากจะช่วยให้พวกเขาได้เติบโตสมวัยอย่างมีความสุข และส่งเสริมพัฒนาการในทุกด้านแล้ว ยังช่วยให้พวกเขาได้ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายใน เกิดทักษะ และประสบการณ์ชีวิต สามารถสร้างคุณค่าให้ตัวเอง สิ่งแวดล้อมและสังคมได้