FeelFit นวัตกรรมไทยบนเวทีโลก

เรื่องโดย  :  เสาวลักษณ์ พิสิษฐ์ไพบูลย์ team content www.thaihealth.or.th


FeelFit นวัตกรรมไทยบนเวทีโลก thaihealth


‘พฤติกรรมเนือยนิ่ง’ ถือได้ว่าเป็นวิกฤตพฤติกรรมของคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน นั่งอยู่ในรถที่ติดนานหลายชั่วโมง ก้มหน้าก้มตาแชทมือถือ หรือนั่งดูทีวีโดยแทบไม่ลุกไปไหน ฯลฯ


จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมเนือยนิ่งที่เราเคยชินกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้ส่งผลดีต่อร่างกายเลยแม้แต่น้อย  แถมยังเสี่ยงทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง และเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เราจึงควรหันมาใช้ชีวิตแบบแอ็คทีฟ เช่น การปั่นจักรยาน วิ่ง ออกกำลังให้มากขึ้น ฯลฯ หรือหากไม่มีเวลา วิธีที่ทำได้ง่าย ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา คือ 'การเดิน'


จากการศึกษาโครงการ ‘เมืองเดินได้ เมืองเดินดี’ ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ออกแบบพัฒนาเมือง (UDDC) และภาคีเครือข่าย ที่สนับสนุนให้ผู้คนเดินทางด้วยเท้า โดยการพัฒนาพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่มีศักยภาพการเดินสูง ให้เป็นเส้นทางที่สามารถเดินได้ และยังมีการสำรวจพบว่าระยะทางที่คนกรุงเทพฯ เดินได้ไกลที่สุดนั้น คือ 800 เมตร นั่นเอง


ทราบกันอย่างนี้แล้ว จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะทำให้คนเมืองมีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น


ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนสนใจเรื่องการออกกำลังกาย รวมถึงยังเป็นการเพิ่มไลฟ์สไตล์แอ็คทีฟเข้าไปในกิจวัตรประจำวัน ยังมีอีกหนึ่งตัวช่วยดีๆ ของ สสส. ที่ได้ร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย ได้พัฒนาเครื่อง  "FeelFit"   ที่เป็นเครื่องมือในการวัดกิจกรรมทางกาย สามารถเกาะติดชีวิตประจำวันของคนได้จริง และยังสามารถกระตุ้นให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งได้มีการเปิดตัวไปภายในงานประชุมนานาชาติ ว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 หรือ ISPAH 2016 ที่เพิ่งผ่านไปไม่นานนี้


FeelFit นวัตกรรมไทยบนเวทีโลก thaihealth


นายเจษฎา อานิล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล เป็นหนึ่งในผู้ร่วมพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือ FeelFit ดังกล่าวนี้ เล่าว่า เครื่อง FeelFit สามารถใช้ได้ในทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เนื่องจากมีการแสดงผลตัวเลขที่ค่อนข้างใหญ่  โดยการใช้งานเครื่อง FeelFit คือ ให้ระบุเพศ ส่วนสูง น้ำหนัก รวมถึงระบุว่า จะติดเครื่องนี้ไว้ที่ส่วนใด ซึ่งมีให้เลือก คือ เอว สำหรับการวัดในชีวิตประจำวันทั่วไป, ข้อเท้า สำหรับการปั่นจักรยาน และข้อมือ ในการแกว่งแขน


อีกหนึ่งความพิเศษของเครื่อง FeelFit นี้ สามารถแบ่งระดับได้มากกว่าที่องค์การอนามัยโลกที่ได้ระบุไว้ว่า กิจกรรมทางกายแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ตามค่าการใช้พลังงานของร่างกาย (Metabolic Equivalent : MET) โดยระดับเบา Light (1.6-2.9 METs) ระดับปานกลาง Moderate (3.0 – 6.0 METs) และระดับหนัก Vigorous  (มากกว่า 6.0 METs)  แต่เครื่อง FeelFit สามารถแสดงข้อมูลระดับการใช้พลังงานได้ถึง 5 ระดับ คือ 1. ระดับเริ่มต้น (0 – 2 METs ) เช่น กิจกรรมอ่านหนังสือ การนั่งพักผ่อน 2. ระดับน้อย (2 – 5 METs)  เช่น การเดิน 3. ระดับปานกลาง (5 – 8 METs)  เช่น การเต้นแอโรบิก 4. ระดับมาก (8 – 10 METs) เช่น การวิ่งจ็อกกิ้ง และ 5. ระดับมากที่สุด (10 METs ขึ้นไป) เช่น การเล่นกีฬา ซึ่งเรียกได้ว่าเครื่อง FeelFit นี้ มีความละเอียดมากกว่าเครื่องมืออื่นในท้องตลาดทั่วไปก็ว่าได้


นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือ การบอกเวลาพฤติกรรมเนือยนิ่ง ซึ่งแสดงผลเป็นจำนวนชั่วโมง เป็นการเตือนเราว่ามีพฤติกรรมเนือยนิ่งเป็นเวลานาน และมีการแสดงค่าแคลอรีเผาผลาญ แสดงจำนวนก้าว รวมถึงมีการคำนวณระยะทาง ระยะเวลาในแต่ละกิจกรรมทางกายว่ามีกี่นาที สิ่งเหล่านี้ทำให้สามารถติดตามพฤติกรรมการมีกิจกรรมทางกายของเราได้ตลอดวัน


สำหรับเครื่อง FeelFit นี้ ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ที่มีรูปร่างค่อนข้างไม่สะดวกต่อการใช้งาน จนกลายมาเป็นเครื่องที่มีขนาดเล็กน้ำหนักเพียง 25 กรัม ใช้แบตเตอร์รี่สำหรับใส่นาฬิกา สามารถใช้ได้นานถึง 2 เดือน


โดยรุ่นล่าสุดนี้ เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการวัดการมีกิจกรรมทางกายที่แม่นยำ และสอดคล้องตามหลักสากล มีการปรับเปลี่ยนโปรแกรม วิธีการคำนวณ และตำแหน่งสวมใส่อุปกรณ์จากเอวเป็นข้อมือ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์กิจกรรมแกว่งแขนได้ เป็นการตอบรับกับแคมเปญแกว่งแขน ของสสส. และที่สำคัญถือเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของคนไทยที่ได้ร่วมจัดแสดงในเวทีระดับโลกอีกด้วย


 

Shares:
QR Code :
QR Code