CSR สร้างบุญนำไปสู่วัดสร้างสุข

 

CSR สร้างบุญนำไปสู่วัดสร้างสุข

 

หลายคนอาจจะทราบดีอยู่แล้วว่า CSR ที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Corporate Social Responsibility นั้น หมายถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร ซึ่งคือการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรมและการจัดการที่ดี โดยรับผิดชอบสังคมและสิ่งเเวดล้อมทั้งในระดับไกลและใกล้ อันนำไปสู่การพัฒนาและความสุขที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหลักที่ส่วนมากจะใช่กันในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน แต่คุณรู้หรือไม่ว่ามันสามารถเอาไปใช้กับโรงเรียน วัดและชุมชนได้เช่นกัน

ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ส.ท. จัดสัมมนาเรื่อง “CSR สร้างสุขสร้างบุญ” ขึ้น โดย นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนโครงการรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้สังคมไทยตื่นตัวเรื่องการช่วยเหลือสังคม ส่งผลให้สังคมเกิดความสุข โดยครั้งนี้เราได้มีการพัฒนารูปแบบในโครงการดังกล่าวสู่บริบทของวัด ภายใต้ชื่อ “โครงการวัดสร้างสุข” ถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้เพื่อส่งเสริมให้วัดเป็นพื้นที่ตัวอย่างทั้งด้านกายภาพและจิตใจก่อนจะขยายสู่คนในสังคม ชุมชนต่อไป

ซึ่งวัดเฉพาะภายในกรุงเทพฯ ก็มีราว 400 วัด แต่ละวัดมีทั้งทรัพยากร สถานที่ บุคลากร พระสงฆ์ที่เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรม แต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีวัดไม่น้อยที่เป็นวัดชั้นนำ เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ซึ่งวัดเหล่านี้ล้วนมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ทำให้ประชาชนอยากเข้ามาพักผ่อนสงบจิตใจ หรือแม้แต่มารับคำแนะนำจากพระมาปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมมะ แต่ถึงอย่างนั้น หากเทียบแล้ววัดเหล่านี้ก็ยังคงมีส่วนน้อย ยังมีวัดอีกมากที่ต้องปรับปรุงให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เพราะถ้าวัดมีการบริหารจัดการที่ดี ก็จะสร้างแรงจูงใจให้เป็นแหล่งพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นศูนย์รวมที่ยึดเหนี่ยวของคนในชุมชนได้ดีเลยทีเดียว

ซึ่ง นายอนุวรรตน์ ศิลาเรืองอำไพ ผู้อำนวยการสายงานการศึกษาฝึกอบรมและวินิจฉัยให้คำปรึกษา ส.ส.ท. กล่าวว่า โครงการวัดสร้างสุขเป็นโครงการที่ ส.ส.ท.ได้นำเอาหลักการทำ 5 ส.ที่แตกต่างจาก 5 ส.ในภาคอุตสาหกรรมมาประยุกต์ ใช้กับวัดและชุมชน เพื่อต้องการให้ หลัก 5 ส.นี้ ฝังอยู่ในวัฒนธรรมนั่นก็คือนิสัยของคนไทยอย่างถาวร โดยการผ่านพระสงฆ์ สามเณร วัดและชุมชนรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะเน้นด้วยการระดมความร่วมมือจากเครือข่ายภาคธุรกิจที่ได้รับรางวัล 5ส. แห่งประเทศไทย 25 หน่วยงานมาให้คำแนะนำและถวายความรู้แก่พระสงฆ์ สามเณร เพื่อเป็นผู้นำกระแสหลักเผยแพร่ไปสู่คนในชุมชน โดย 5ส. ที่นำมาประยุกต์เพื่อดำเนินการด้านจิตใจนี้ ได้แก่ 1.สะสาง คือความจำเป็น ความพอดี และอยู่กับปัจจุบัน 2.สะดวก คือความเป็นระเบียบ เรียบร้อย 3.สะอาด คือ ไม่สกปรก ไม่ทำผิด 4.สร้างมาตรฐาน คือ กฏเกณฑ์และศีล และสุดท้าย 5.สร้างวินัย ที่เป็นตัวสำคัญที่อยากให้เกิดขึ้นในสังคม คือ การรักษากฏเกณฑ์ รักษาศีลธรรม

“โดยโครงการนี้เราแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ปี ในปีแรกจะเริ่มโดยการสร้างองค์ความรู้เรื่อง 5ส.และมีวัดนำร่อง ส่วนปีที่สอง จะเริ่มมีการขยายผลและรับสมัครวัดนำร่องต่อไป ส่วนในปีสุดท้ายก็จะสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ในปีแรกเราจะมีการคัดเลือกวัดพัฒนาต้นแบบนำร่องดำเนินโครงการ 5ส. 4 วัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีศักยภาพและสนใจเข้าร่วมโครงการ พร้อมถ่ายทอดข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของวินัยสู่ประชาชนอีกด้วย โดยตนหวังว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เป็นตัวสร้างกระแสและกระตุ้นให้คนไทยมีวินัยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมจะลดลงตามไปด้วย” นายอนุวรรตน์กล่าว

หากทุกคนให้ความสำคัญกับวัด ที่ซึ่งเคยเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย มาร่วมกันทำให้วัดน่าอยู่ น่าเข้าไปใช้ประโยชน์ เหมือนเช่นเมื่อสมัยก่อน เชื่อได้เลยว่า สังคมไทยจะน่าอยู่มากขึ้นนะคะ

 

 

เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th

 

Shares:
QR Code :
QR Code