CSR พอเพียง” + “ใจ” สร้างสังคม “สุขแท้” อย่างยั่งยืนได้ (จริง)

 

csr พอเพียง

 

แค่เริ่มต้นด้วย “ใจ” แม้ไม่มี “เงิน” เราก็สามารถสร้างสังคมที่ยั่งยืนอย่างเป็นสุขได้ … แค่นำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ไปวางกรอบกำกับการทำ csr ของภาคธุรกิจ

คำกล่าวในข้างต้นเป็นการสรุปเนื้อหาสาระความรู้ที่น่าสนใจไม่น้อย จากเวทีชวนคิดชวนคุย “csr พอเพียง…ใหญ่ เล็ก ก็ทำได้” ที่ผู้รู้แจ้งในเรื่อง csr อย่าง รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ ประธาน csr พอเพียง คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส  ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และวัชรมงคล เบญจุธนะฉัตร์ ประธานกรรมการบริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัด มาถกพูดคุยถึงกระบวนการกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือ corporate social respon sibility:csr ภายในงานอบรมให้ความรู้สื่อมวลชน หัวข้อ “กระบวนการเจาะข่าว csr ที่กลุ่มซีเอสอาร์ฟอร์ไทยแลนด์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้”

เป็นที่รู้กันว่า csr เป็นที่รู้จักในประเทศไทยมานานหลายปีแล้ว ทว่า ผลสำเร็จของกระบวนการ csr ก็ยังไม่เป็นที่ประจักษ์หรือเป็นไปตามเป้าที่มุ่งหวัง ในการสร้างสังคมดีด้วยระบบการทำธุรกิจที่ไม่เอาเปรียบเศรษฐกิจชุมชนชาติสิ่งแวดล้อม และสภาพความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ที่ธุรกิจนั้นๆ เข้าไปตั้งรกรากอาศัย

อีกทั้ง การทำ csr ส่วนมากก็เห็นกันอยู่ดาษดื่นในปัจจุบัน ก็มักใช้ “เงิน” หรือการ “แจก” เป็นตัวตั้ง จนมีการพูดกันว่ากิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรของไทย มีทั้ง “csr แท้” และ “csr เทียม” ที่ทำแบบแกนๆ ไร้ความเข้าใจไม่รู้ว่าได้ประโยชน์จริงหรือไม่ไปอย่างนั้น!!

กระทั่งปัจจุบันรูปแบบของกระบวนการ csr ได้พัฒนากลายเป็น “csv” หรือ creating shared value โมเดลการบริหารธุรกิจแบบใหม่ ที่แอดวานซ์ไปกว่า csr มากโข โดย ดร.ไมเคิล อี พอร์ตเตอร์ กล่าวเกี่ยวกับ csv ไว้ในงานประชุม csv summit ที่ ม.ฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกาว่า

“csv เป็นโมเดลการบริหารที่ปฏิบัติได้จริง โดยนำเอาระบบทุนนิยมมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการแก้ปัญหาสังคม เช่น การให้กำไรหรือคุณค่าแก่ภาคธุรกิจที่สร้างคุณค่าให้แก่สังคม นอกจากนี้ การบริหารงานแบบ csv ยังส่งผลกระทบดีต่อผลประกอบการด้านการเงินของบริษัทและด้านสังคมในพื้นที่อย่างไม่เคยมีมาก่อนทั้งยังเป็นแนวการบริหารที่ช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ คาดว่า csv จะเป็นโมเดลการบริหารธุรกิจชั้นนำที่จะเป็นที่นิยมในอีก 5-20 ข้างหน้า”

ย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย แม้รูปแบบการทำ csr จะพัฒนาก้าวหน้าก้าวกระโดดไปเช่นไร แต่ในงานประชุมอบรมให้ความรู้สื่อมวลชน หัวข้อ “กระบวนการเจาะข่าว csr”  กลับยืนยันว่า แค่นำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการ csr ที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ “สังคมดี” อย่างที่เห็นก็เกิดขึ้นได้ง่ายๆ

รศ.ทองทิพภา ประธาน csr พอเพียงจาก ม.หอการค้าไทย บอกว่า กระบวนการ csr กับ ถ้าอยากให้กระบวนการ csr เกิดประโยชน์สูงสุดสมบูรณ์สุด ก็ขอให้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ร่วม รับรองเราจะมีสังคมไทยที่เข้มแข็งพึ่งพาตัวเองได้จริงแน่นอน

ที่น่าทึ่งก็คือประธาน csr พอเพียงยังระบุด้วยว่า สูตรการทำ csr ที่นำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปเป็นกรอบปรับใช้ จึงไม่จำเป็นต้องเอาเงินเป็นตัวตั้งในการคิดทำดีเพื่อสังคม

เคสตัวอย่างที่เห็นชัดว่า เราสามารถทำ csr เพื่อสังคมดีมีสุขได้โดยไม่ต้องอาศัยเงิน ตามที่ประธาน csr พอเพียงพูดไว้นั้น คือการทำประปาหมู่บ้านให้กับชุมชนที่ขาดแคลนแหล่งน้ำโดยองค์กรภาคธุรกิจในพื้นที่ ยอมสละเวลาลงพื้นที่พัฒนาชุมชน ผ่านการให้ความรู้และคอยประสานความร่วมมือเพื่อให้ชุมชนช่วยเหลือตัวเอง

จุดเด่นของการทำ csr ในลักษณะนี้ จะไม่เน้นการนำของไปแจกหรือนำเงินไปให้ หากแต่ใช้วิธี “ระดมความคิดช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ” ตั้งแต่ชั้นบนสุดอย่างกระทรวงมหาดไทย และลงมาที่หน่วยงานท้องถิ่นอย่าง อบจ. หรือ อบต.โดยส่วนที่สำคัญที่สุดคือคนในชุมชน ที่จะต้องมาลงแรงลงใจทำไปด้วยกัน จะมานั่งกระดิกเท้ารอความช่วยเหลืออย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้!

ด้าน วัชรมงคล ประธานบริษัทจากบาธรูมดีไซน์ แสดงความคิดผ่านคำพูดว่า การทำ  csr ในอดีต ที่ภาคธุรกิจทำกันมา เหมือนกับว่าถูกบีบบังคับจากภายนอกให้ต้องทำ โดยไม่ได้มองที่เป้าหมายที่แท้จริงว่าอยากให้ “สังคมเป็นสุข” และยังมีความคิดบริหารงานตามแบบชาติตะวันตกที่มุ่งเน้นความสำเร็จด้านตัวเลขเป็นที่ตั้ง ทำให้ความสำเร็จและความสุขสวนทางกันบ่อยครั้ง เพราะไม่พอใจและไม่พอดีกับตัวเลขที่ไม่ถึงเป้าหรือไม่ทะลุเป้า

“แต่ถ้าเราเอาความสุขตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวตั้ง และเอาความรักเป็นตัวขับเคลื่อน บวกกับการให้อย่างมีสติ ให้ตามหลักพุทธในแบบที่ถูกที่ควร คือให้ความรู้ ให้ความตระหนักคิด ให้ในสิ่งที่เขาต้องการอย่างแท้จริง สร้างภูมิคุ้มกันให้คนและชุมชน เข้าไปเสริมเมื่อเขาทำสำเร็จ และเน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วม เชื่อว่าถ้าภาคธุรกิจในประเทศไทย ช่วยให้ 1 ใน 4 ของ 70,000 หมู่บ้าน เข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วย csr พอเพียง ประเทศเราก็ไปรอดแล้วครับ” วัชรมงคลกล่าวและบอกด้วยว่า

“เมื่อเรามองคนในชุมชนเป็นครอบครัวไม่ใช่กาฝาก ให้ใจเขา สิ่งที่ตอบกลับมาคือการทำงานมีประสิทธิภาพ เพราะครอบครัวของพนักงานอยู่ได้มีคุณภาพแล้ว แถมเรายังได้พนักงานคุณภาพดีเพราะชุมชนเขาก็จะส่งคนในพื้นที่มาทำงานกับเราด้วย”

ไม่ต่างจาก รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส  ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) วุฒิชัย ที่มองว่าถึงเวลาแล้วที่ภาคการผลิตต้องทำ csr อย่างจริงใจ และที่จริงการทำ csr แทบไม่ต้องใช้อะไรนอกจากความพยายาม ส่วนการทำ csr ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริงนั้น ตนคิดว่าต้องไม่สร้างผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในธุรกิจ

“ที่ผ่านมาเราจมอยู่กับการทำ csr ในแบบซื้อแจก ให้แจกเสียมาก สุดท้ายเมื่อเกิดปัญหาขึ้นอีก คนไทยก็จะจมอยู่กับปัญหาแบบเดิมจนกลายเป็นปัญหาซ้ำซาก ในขณะที่เราในฐานะภาคการผลิตที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เราต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และถ้าเราไม่ทำ นั่นก็เท่ากับว่าเราได้ร่วมมือทำลายสังคมทางหนึ่งด้วย”

รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส  ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)  กล่าวต่อว่า csr นั้นทำได้หลายทางทั้ง csr โปรเจกต์เล็กหรือโปรเจกต์ใหญ่ ทั้งการช่วยเหลือพัฒนาชุมชน หรือแม้แต่การไม่รับซื้อผลผลิตที่บุกรุกทำลายผืนป่า การทำฉลากคาร์บอน หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ทำได้ยาก ฯลฯ ถ้าทำด้วยความจริงใจก็ถือเป็น csr ที่ก่อประโยชน์อย่างแท้จริงแล้ว

“ผมขอฝากไว้ว่า เราอยู่ในสภาวะประเทศกำลังพัฒนามาตั้งแต่ผมเกิด นี่ก็ผ่านไป 40-50 ปี แต่ทุกวันนี้เราก็ยังกำลังพัฒนาอยู่ ฉะนั้น ถ้าเราไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เราไม่ทำให้กระบวนการ csr เป็น csr อย่างแท้จริง ด้วยการปลูกฝังให้พลเมืองแต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ตราบนั้น เราคงไม่เห็นไม่ได้เห็นไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างแน่นอน”

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code