CHANGE

เปลี่ยนการเรียน-สอน เพื่อสร้างคนคุณภาพ 

 

CHANGEประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประสบความสำเร็จจนได้ตำแหน่งสูงสุดของสหรัฐอเมริกา  ด้วยนโยบายการหาเสียงที่ชูประเด็นการเปลี่ยนแปลง หรือ  CHANGE  ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจทางซีกโลกตะวันออกอย่างญี่ปุ่น ก็ไม่น้อยหน้ากับคำว่า CHANGE เพราะซีรีส์ทางทีวีของเขาฮิตติดตลาดคนดูโทรทัศน์ไปทั่วโลกไม่แพ้หนัง โอชินในอดีตจะเป็นความบังเอิญหรือจงใจก็ตามทีกับคำว่า CHANGE  ของประเทศต่างๆ  แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ทั่วโลกตระหนักถึงความจำเป็นของการ เปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับกับสถานการณ์ต่างๆที่ไม่หยุดนิ่ง จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคม  การเมือง  หรือเศรษฐกิจ  ระบบโครงสร้างการคิด การทำงาน การดำรงชีวิต หรืออะไรก็ตาม ทุกคนไม่ว่าอยู่บนซีกโลกใด  ต่างเห็นสอดคล้องกันว่า หากไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว  ตัวเองและประเทศชาติอาจจะไม่รอด  หรือค่อยๆเสื่อมลงไปในที่สุด

 

โชคดีของประเทศไทยเหมือนกัน ที่มีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า  เครือข่ายสถาบันทางปัญญาเล็งเห็นปัญหาของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทยว่า ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวให้พ้นวิกฤตการณ์อันไม่พึงปรารถนา หรืออย่างน้อยก็ป้องกันมิให้สังคมไทยต้องประสบกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเฉกเช่นในปัจจุบัน  

 

            เท่าที่ติดตามการเคลื่อนไหวของเครือข่ายสถาบันทางปัญญา  ซึ่งชูนโยบาย ปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะคนไทยโดยมี ศ.นพ.ประเวศ  วะสี  เป็นประธานประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆมากมาย  และเป็นเสมือนผู้นำองค์กรและสถาบันต่างๆ ในบ้านเรานั้น  มีรายงานข่าวแจ้งว่า  ท่านทั้งหลายที่เปรียบเสมือน สมอง  หรือ  คนระดับหัวกะทิของชาติมีความตั้งใจ  ขะมักเขม้น  กระตือรือร้นกันอย่างมากทีเดียวที่จะหาขับเคลื่อน ผลักดัน ปฏิรูป  ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยเป็นประเทศน่าอยู่ที่สุดในโลก 

 

ในฐานะคนไทยเราก็ต้อง เชียร์ให้ท่านทั้งหลายที่กำลังร่วมมือร่วมใจระดมสมองและสรรพกำลังเพื่อการ CHANGE มองหาสูตรสำเร็จ หรือ แนวทางที่สามารถปฏิบัติให้ได้เป็นจริง เพื่อเราจะหนีให้พ้นจากข้อสันนิษฐานทั้งหลายที่ล้วนแต่เป็นฝันร้ายอย่าง กลียุค มิคสัญญี ฯลฯ   

 

CHANGE ของเครือข่ายสถาบันทางปัญญา จะเป็นการสร้างจิตสำนึก สร้างระบบนำร่อง หรือจัดทำเป็นบันทึกเพื่อการปฏิรูปส่งมอบให้ผู้มีอำนาจบริหารจัดการระบบโครงสร้างสังคมในประเทศ หรืออะไรก็ตามแต่ อย่างน้อยก็เบาใจได้ระดับหนึ่งว่า ประเทศไทยไม่สิ้นคนดี ที่จะมองหาทางออกให้พ้นจากวิกฤตการณ์ ส่วนจะสามารถปฏิบัติได้จริงหรือเป็นแค่แนวคิดเหมือนวาดฝันในอากาศหรือไม่นั้น เป็นเรื่องต้องติดตามต่อไป

    

เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า  แม้ความเปลี่ยนแปลงเป็นจีรัง  แต่สิ่งที่จีรังคือมนุษย์ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  หากการเปลี่ยนแปลงนั้น กระทบหรือเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ล่ะก็  เรื่องดีมีหลักการแค่ไหน ก็มีโอกาสจะกลายเป็นเรื่อง(ถูกใส่)ร้ายไปในสายตาของคนบางกลุ่มทันที

 

ฉะนั้น  สิ่งที่จำเป็นต้องตอกย้ำครั้งแล้วครั้งเล่า คงไม่พ้นประโยคที่ว่า คนเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูป หากคนไม่ตระหนักรู้ หรือเข้าใจความจำเป็นของการปฏิรูป เปลี่ยนแปลง เป้าหมายการปฏิรูปเพื่อให้ประเทศไทยน่าอยู่   หรือเพื่อให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีกันถ้วนหน้าย่อมเป็นไปได้ยาก                

 

วันนี้ คนไทยมากน้อยแค่ไหนที่มองเห็นว่า  ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง

 

มีคนไทยสักกี่มากน้อยที่เข้าใจว่า  การปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะของตัวเองนั้น  เป็นสิ่งจำเป็นที่นอกจากหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว  ยังต้องเร่งให้ความร่วมมือ และสนใจไขว่คว้ากันอย่างจริงจังต่อเนื่องอีกด้วย

 

ย้ำแล้วย้ำอีก… มีพ่อแม่  ผู้ปกครอง  หรือแม้แต่เยาวชนมากน้อยเพียงใดที่รู้สึกว่า  ระบบการศึกษาของไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิง  ทั้งๆ ที่มีกฎหมายเพื่อการปฏิรูปการศึกษามากว่าทศวรรษ 

 

ตอกครั้งแล้วครั้งเล่า…มีบุคคลากรในวงการศึกษามากน้อยแค่ไหน ที่รู้สึกสะท้อนใจ กับความจริงที่ ทุกฝ่ายเห็นสอดคล้องกันว่า ระบบการศึกษาคือหนทางการสร้างคนที่มีคุณภาพ สนองตอบต่อความต้องการในสังคม แต่วันนี้สถานการณ์การเรียนการสอนในบ้านเรา กลับกลายเป็นว่า เด็กไปโรงเรียนตามหน้าที่  เสร็จแล้วต้องขวนขวายแก่งแย่งกันไปหาความรู้เพิ่มเติมนอกรั้วโรงเรียนจากสถาบันกวดวิชาต่างๆ

 

นโยบายการเรียนฟรี 12 ปีของรัฐบาล จะสร้างความมั่นใจได้อย่างไรว่า เป็นการเรียนที่มีคุณภาพ ในขณะที่เด็กมากกว่า 50% ต้องขอเงินพ่อแม่เป็นกรณีพิเศษเพื่อกวดวิชาเพิ่มเติมจากการเรียนปกติในห้องเรียนของตัวเอง

 

โรงเรียนกวดวิชาที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศ ไม่เพียงแต่เฉพาะในกรุงเทพมหานคร   เป็นสิ่งสะท้อนความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยอย่างมาก  เพราะสังคมไทยจะได้ คนคุณภาพแบบเดียวกันจากสถาบันการศึกษาเฉพาะกิจเฉพาะทางเหล่านี้ นั่นคือ เรียนรู้และท่องจำสูตรสำเร็จเพื่อการสอบ มิใช่เพื่อการดำรงชีวิตที่เป็นธรรมชาติ มีคุณภาพ และมีสุขภาวะแม้แต่น้อย

 

            คุณเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไม? ครูในโรงเรียนกวดวิชาจึงถ่ายทอดได้เก่งกว่าครูตามโรงเรียน

 

            ทำยังไง?  ที่เราจะจ้างครูกวดวิชาไปสอนประจำในโรงเรียน

 

            ทำได้หรือไม่? ที่เด็กไทยจะมีสุขภาวะในการเรียนการศึกษา  สอดคล้องกับความต้องการปฏิรูปประเทศไทย  นั่นคือ  มีความรับผิดชอบ  มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม   มีความซื่อสัตย์   มีความตระหนักในหลักธรรมาภิบาลทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว  

 

            ทำอย่างไร?  ไม่ให้เด็กไทยถอดแบบออกมาจากบล็อกความคิดเดียวกันเหมือนทุกวันนี้   นั่นคือ เรียนเก่งขนาดไหนก็ต้องกวดวิชา  มิเช่นนั้นอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการเล่าเรียน  การศึกษา

    

คำถามเหล่านี้เชื่อว่า  เครือข่ายสถาบันทางปัญญา  ของอาจารย์ประเวศ วะสี ก็ตระหนักดี  และกำลังร่วมมองหาทางออก  เพราะวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็เห็นมีการจัดเวิร์คช็อปเรื่อง โคลนนิ่งครูเก่งได้อย่างไรโดยรองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ หัวหน้าคณะทำงานปฏิรูปการศึกษาเพื่อสุขภาวะคนไทย เป็นแม่งาน

 

     เนื้อหาสาระเป็นอย่างไร  คงไม่สำคัญเท่ากับประเด็นที่ทุกคนเห็นสอดคล้องกันว่า  การเรียนการสอนในระบบโรงเรียนจะเป็นแหล่งสร้างคนคุณภาพ  อนาคตที่ดีของชาติ  และเพื่อการ CHANGE อันพึงปรารถนา มิใช่แกะบล็อกออกจากโรงเรียนกวดวิชา ที่ตอบคำถามตามที่ติวเตอร์ป้อนใส่ปากยัดใส่สมองโดยไม่รู้จักคิด    

 

      ดังนั้น การมีครูเก่งสอนในโรงเรียนภาคปกติ จะช่วยหล่อหลอมให้เด็กมีปัญญา  รู้จักคิด  รู้จักวางแผน มองหาคำตอบด้วยตนเอง  เรียนรู้การอยู่ร่วมด้วยความรับผิดชอบ  พร้อมๆ กับการแบ่งปันช่วยเหลือร่วมมือก้าวสู่เป้าหมายที่แยกแยะถูกต้องชั่วดี  ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตา   แข่งขันกันทุกวิถีทางเพื่อกระดาษแผ่นเดียว เสร็จแล้วได้คนเก่งแต่โกง สร้างปัญหาให้สังคมไม่รู้จบ

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

Update 02-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

 

Shares:
QR Code :
QR Code