“Black Box” กล่องดำบ่มความคิด

สู่เส้นทาง social entrepreneur

 

“Black Box” กล่องดำบ่มความคิด

          การทำเทรนนิ่งก็เหมือนเรามีกล่องดำอยู่ตรงกลาง มันเป็นกระบวนการหนึ่งที่เราไม่รู้ว่าข้างในมันคืออะไร แต่เพียงต้องรู้ว่าเราจะ in put อะไรเข้าไป ซึ่งเมื่อผ่านกล่องดำนี้ เราก็จะได้ out put นั้นออกมาได้ black box จึงเหมือนคอนเซปต์ของการคิด

 

          8-9 ปี มาแล้ว ที่กลุ่ม black box ถือกำเนิดขึ้น ด้วยพลังของเด็กมัธยมปลายกลุ่มหนึ่ง พวกเขาเคยเป็นสมาชิกของเครือข่ายกรรมการนักเรียนมัธยมในเขตกรุงเทพมหานคร ที่รวมตัวกันภายใต้ชื่อ”กลุ่มสภาผู้แทนนักเรียน”การได้ทำงานร่วมกัน เรียนรู้การออกแบบกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ(training)การออกแบบเครื่องมือเพื่อช่วยในเรื่องกระบวนการคิดของคน ทำให้เกิดความสนใจงานที่เข้าสายเลือด จนเมื่อสลัดคราบคอซองเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย น้องๆตัดสินใจรวมตัวกัน ตั้งเป็น “กลุ่ม blck box”

 

          จากจุดเล็กๆข้ามผ่านกาลเวลา กลุ่ม “black box”ในวันนี้พัฒนามาเป็น “สถาบันส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ black box”

 

          จากกิจกรรมของเด็กๆที่ขอทุนสนับสนุนจากสสส.วันนี้กลุ่ม”black box”กำลังก้าวสู่เส้นทางธุรกิจ เพื่อสร้างอนาคต black box ให้เติบโตอย่างมั่นคง

 

          ซีน่า-รสนา อารีฟ,โน้ต-วรัตม์ เชิดเกียรติตระกูล,โหนก-ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์ และต้น-ศิรณัฐ บุญไทย 4 ชีวิต หัวเรี่ยวหัวแรงที่ช่วยแตกแขนงงาน”เทรนนิ่ง”ครอบคลุมทุกความต้องการไม่ว่าจะเป็น รับออกแบบกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ(training)ให้กับกลุ่มเป้าหมายภายใต้โจทย์และรูปแบบที่หลากหลาย การจัด(organize)งานอบรม ประชุมสัมมนา ในประเด็นต่างๆจัดกิจกรรมเรียนรู้ ผ่านกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์/นันทนาการ และจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพระยะยาว ในรูปแบบกิจกรรมหรือโครงการ

 

          สำหรับลักษณะงานที่ทำ น้องๆบอกว่า เน้นออกแบบการเทรนนิ่งให้กับกลุ่มเป้าหมาย ไม่เพียงเด็กมัธยมหรือนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ถนัดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพนักงานในองค์กรทั่วไปด้วย โดยประเด็นสำหรับการเทรนนิ่งขึ้นกับผู้ว่าจ้าง ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันก่อนเพื่อเตรียมเนื้อหา รูปแบบกิจกรรมและเครื่องมือ โดยเรื่องที่ถนัดมากๆก็เช่น การสร้างเครื่องมือในการทำงาน หรือการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

 

          ประเด็นที่ใครหลายคนอาจคิดว่ายาก หรือเกินกำลังของเด็กน้องๆใช้วิธีศึกษาเพื่อสั่งสมต้นทุนของข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้น ทั้งการลงไปศึกษาจากตำรา ไต่ถามผู้ใหญ่ผู้รู้กระทั่งเรียนรู้จากกลุ่มที่น้องๆลงไปทำเทรนนิ่งให้ เพื่อบ่มเพาะต้นทุนทางปัญญาสำหรับใช้ในงานของพวกเขาต่อไป

 

          “การทำงานนี้ คนทำต้องแตกฉานในเรื่องนั้นๆก่อน จึงจะไปเทรนใครได้ นอกจากต้นทุนที่เรามีมาอย่างการทำโครงการในปี 2547 ซึ่งต้องศึกษาเยอะมากจนมีองค์ความรู้เกิดขึ้นมากมายพวกเรายังศึกษาเรื่องใหม่ๆอยู่ตลอด อาศัยครูพักลักจำเอาบ้างมีพี่ๆผู้ใหญ่คอยช่วยบ้าง ซึ่งงานที่ได้รับมาจะมีทั้งสองแบบ คือผู้ว่าจ้างให้โจทย์มา และเรามีรูปแบบของเราไปนำเสนอ เหมือนชุดเครื่องมือที่เรามีอยู่แล้ว เช่นวิธีให้เด็กทำงานได้ดีขึ้น มันต้องมี success factors ข้อ 1-10 อย่างนี้เป็นต้น เวลาไปคุยงานก็จะถามว่าเขาต้องการประมาณนี้ใช่ไหม ก็พูดคุยกัน พบกันครึ่งทาง”

 

          แม้จะเป็น”เด็ก”แต่กลุ่ม black box ไม่เคยถูกตั้งคำถามเรื่องความสามารถ ส่วนหนึ่งมาจากผลงานที่ชัดเจนตลอดที่ผ่านมา

 

          ที่สำคัญวัยที่ใกล้เคียงกับผู้อบรม ทำให้สามารถเลือกวิธีสื่อสารภาษา รูปแบบกิจกรรมที่โนใจกลุ่มเป้าหมาย และการคิดไปพร้อมกับเด็ก ไม่ใช่คิดในมุมของผู้ใหญ่ ทำให้การเทรนนิ่งมีประสิทธิผลมากขึ้นนี้เป็น”จุดขาย”ของ black box

 

          “ผมว่าเราได้เปรียบตรงที่ไม่เป็นมืออาชีพนี่แหละ ยังเป็นมวยวัดอยู่ ในใจของคนทำงาน เมื่อมีคำว่ามืออาชีพ ทุกอย่างมันจะห่างออกไปหมด อะไรๆดูจะลงตัง ต้องเป๊ะอยู่ในกรอบ แต่เราไม่ได้มองอย่างนั้น เรานึกไว้ตลอดว่าไม่เป็นได้ไหมมืออาชีพ แต่จะเปิดตัวเองตลอดเวลา เราพลาดได้ น้องๆสามารถที่จะสอนเรากลับได้เหมือนกันนะ น้องๆสามารถเรียนรู้จากเรา ขณะที่พวกเราก็เรียนรู้จากพวกเขาได้เช่นกัน การทำงานของ black box จึงมีบรรยากาศที่ดูเป็นมิตรเราก็เหมือนกับทุกคนแค่อายุมากกว่ากันเท่านั้น”


          การคิดอะรไม่หยุดนิ่ง และพร้อมจะเรียนรู้เพื่อต่อยอดทักษะความสามารถของพวกเขาออกไปทำให้ทุกวันนี้ black box สามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้ ด้วยรายได้จากสองทาง คือ การเทรนนิ่ง ที่รับเงินจากผู้ว่าจ้าง และการคิดโครงการระยะยาว เพื่อขอทุนกับหน่วยงานต่างๆ

 

          “การตั้ง black box ขึ้นมา เพราะเราสนใจการทำเทรนนิ่งแบบทีเลี้ยงตัวเองได้ เพียงแต่เราไม่ได้มุ่งไปที่กำไร สูงสุด แต่ให้ความสำคัญกับเนื้อหาของงานที่ทำ คิดเผื่อคนอื่นว่าเขาจะได้ประโยชน์จากมันจริงๆ ฉะนั้นทุกคนกระบวนการคิด เรามองที่คนอบรมต้องได้ผู้ว่าจ้างต้องมีส่วนร่วมในการคิดพัฒนาไปพร้อมกับเรา รวมไปถึงต้องเป็นการทำงานที่ต่อเนื่อง คือไม่ใช่อบรมครั้งเดียวแล้วจบเพื่อให้ผู้อบรมได้ประโยชน์และเปลี่ยนความคิดให้เกิดขึ้นได้”

 

          ในขณะที่เพื่อนวัยเดียวกัน เริ่มเข้าสู่วัยทำงานตามลำดับขั้นของชีวิต ต่างมุ่งไปหาองค์กรที่มีชื่อเสียง แต่พวกเขาทั้ง 4 ยังอยู่กับงานในฝัน หลายครั้งที่เคยถูกตั้งคำถามจากครอบครัวและคนใกล้ชิดถึงอนาคตและความมั่นคง

 

          “พ่อแม่มักตั้งคำถามว่า เราจะทำเล่นๆไปอีกนานแค่ไหน ไม่คิดว่าเราจะจริงจัง แล้วจะทำอย่างไรที่จะอยู่กับมันได้ เราก็ดูว่าที่พ่อแม่ท่านห่วงเพราะคิดว่างานแบบนี้มันจะไม่มั่นคง อยู่รอดได้ยาก เราก็แค่ทำให้มันมั่นคง หาทางนำรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงมันให้ได้ บางคนก็ห่วงว่าเวลาเราทำงานพวกนี้ตั้งแต่สมัยเรียน เด็กจะเสียการเรียน พวกเราก็แค่รักษาผลการเรียนไม่ให้เสีย เพื่อให้ท่านหมดห่วง เราพยายามเอาชนะเงื่อนไขที่เกิดขึ้นให้ได้”

 

          ในวันที่กระแสของ”งานอาสา”ถูกปลุกความนิยมเพิ่มขึ้นน้องๆบอกว่าทำให้เด็กยุคใหม่หันมาสนใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น แต่อาจทำให้คนส่วนหนึ่งตีความคำว่า”อาสา”ผิดเพี้ยนไปได้

 

          “กระแสมันสร้างให้งานอาสาดูน่าสนุกขึ้น ดูมีความสุขดีคนจำนวนมากจึงสนใจ แต่เวลาเดียวกันก็อาจตีความหมายมันผิดไปโดยอาจมองว่างานอาสาคือการไปทำให้คนอื่นแบบให้เปล่าเสร็จแล้วก็จบ ซึ่งมันไม่ใช่ งานอาสามันมีการทำงานที่ลึกซึ้งกว่านั้น มีกระบวนการของมัน อย่างการไปทำค่ายอาสาค่ายหนึ่ง ก็จะมีการสำรวจก่อนว่าที่นั่นต้องการอะไร หลังจากนั้นก็มาคิดว่าจะมีกลไกอะไรที่จะช่วยเหลือเขาต่อไปเพื่อให้เกิดความยั่งยืน นี่คืองานอาสา”

 

          การเป็นกำลังเล็กๆของคนรุ่นใหม่ที่ได้ทำความฝันของตัวเองน้องๆบอกว่ามีอะไรหลายอย่างที่ได้จากงานนี้ “น้องชีน่า”บอกว่าเธอได้เห็นโลกในแง่มุมที่หลากหลาย มองเห็นอำนาจของการลงมือทำงานบางอย่าง เห็นคนที่ลงไปทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคมจริงๆขณะที่คนอีกกลุ่มก็เลือกทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง สิ่งที่อยู่เบื้องลึกหลังฉากเหล่านี้ คือการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเธอในวันนี้

 

          ส่วน”น้องโหนก”การได้ทำงานที่ชีวิตนี้อยากจะทำ อย่างงานที่ได้ให้การศึกษาที่แท้จริงกับคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เพียงการเรียนหนังสือคือความสุขสูงสุด เขาเลือกทำมันเพราะมีความฝันและชัดเจนในฝันนั้น แล้วโชคดีที่มีโอกาสแสดงความฝันของตัวเองและยังอยู่กับมันได้ ส่วน”น้องโน้ต”บอกว่า งานนี้เหมือนได้สนองความต้องการของตัวเอง การเข้ามาทำตรงนี้ได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง

 

          ขณะที่คนอื่นกำลังเดินไปสู่ระบบที่สังคมจัดไว้ให้ แต่พวกเขาเลือกทำงานที่ท้าทาย ความสนุก และความสุข จาก “social entrepreneur”ทางที่เลือกแล้ว

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

update: 09-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code