8 เครือข่าย ‘ตะวันออกดีจัง’ ขับเคลื่อนพื้นที่สร้างสรรค์
ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา บริเวณตึกแดงอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี มีการจัด “มหกรรมตะวันออกดีจัง รวมพลังสื่อสร้างสรรค์ สร้างเมืองสุขภาวะ ตอน พลังเยาวชนเปลี่ยนตะวันออก” โดยความร่วมมือของ “ภาคีเครือข่ายตะวันออกนี้ดีจัง” ทั้งหมด 8 จังหวัด
ประกอบไปด้วย จังหวัดจันทบุรี ระยอง ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก และฉะเชิงเทรา ที่มีความตั้งใจในการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์และสร้างเมืองสุขภาวะด้วยพลังของเยาวชนภาคตะวันออก ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยความมุ่งหวังในการขยายพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน รวมถึงครอบครัว ไปกระจายไปทุกพื้นที่ในประเทศ
“มหกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ ตะวันออกดีจัง” เป็นเหมือนการรวมพลังภาคีทั้ง 8 จังหวัดภาคตะวันออก มานำเสนอเรื่องราวดีๆ กิจกรรมสื่อสร้างสรรค์ของแต่ละพื้นที่สู่สาธารณะ เพื่อช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนในพื้นที่ให้ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันว่าแต่ละพื้นที่มีอะไร ทำให้ได้ทบทวนสิ่งที่ทำในอดีตว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพื่อนำมาเรียนรู้และปรับปรุง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สาธารณะ ให้เยาวชนได้นำของดีๆ ที่มีอยู่มาอวดกัน โดยที่ผู้ใหญ่มาร่วมรับฟังสิ่งที่พวกเขานำ เสนอ สุดท้ายผู้ใหญ่เองอาจอดใจไม่ไหวเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ด้วย
“วิชดา นฤวรพัฒน์” นายกสมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว ภาคตะวันออก เล่าว่า กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการชักชวนผู้ร่วมงานเรียนรู้ชุมชนแหลมสิงห์ผ่านการนั่งรถรางชมเมือง ซึ่งจะมีมัคคุเทศก์น้อยเยาวชนชาวแหลมสิงห์เล่าเรื่องราวหรือประวัติศาสตร์ของสถานที่สำคัญในแหลมสิงห์ ทั้งคุกขี้ไก่ ตึกแดง ป้อมไพรีพินาศ-เจดีย์อิสรภาพ ให้ผู้ร่วมกิจกรรมฟัง โดยมีผู้ใหญ่ใจดีอย่างครูเหม่ง-จีระประทีป ทองเปรม รองนายกเทศมนตรีปากน้ำแหลมสิงห์ ในฐานะปราชญ์ชาวบ้าน เป็นผู้ดูแลและฝึกอบรมเหล่ามัคคุเทศก์น้อย พร้อมเล่าถึงการมีส่วนร่วมของเทศบาลปากน้ำแหลมสิงห์ในการจัดงานครั้งนี้
“ในส่วนของงานเทศบาลมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ตั้งแต่การดูแลสถานที่ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เพราะเรามองเห็นแล้วว่างานนี้เป็นงานเพื่อเยาวชนและท้องถิ่น ทำให้พวกเขาได้ตื่นตัวที่จะออกมาศึกษาเรียนรู้ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเยาวชนหลายๆ จังหวัดที่เป็นภาคีตะวันออกนี้ดีจัง เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกัน”
ขณะที่ช่วงบ่ายแก่ๆ ซุ้มกิจกรรมจากภาคี 8 จังหวัดก็เริ่มคึกคัก เด็กๆ บ้านใกล้ปั่นจักรยานมาร่วมกิจกรรม ทั้งเข้าซุ้มผ้ามัดย้อมมือธรรมชาติ ซุ้มสานปลาตะเพียนจากกลุ่มรักษ์เขาชะเมา จังหวัดระยอง ซุ้มธูปหลับ ซุ้มดินสอพอง จากกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรี รวมทั้งซุ้มเข็มกลัดแบบเดียวในโลก จากชมรมวิทยุเด็ก เยาวชน และครอบครัวจังหวัดชลบุรี
“วันนี้กลุ่มรักษ์เขาชะเมานำกิจกรรมมัดย้อมสีธรรมชาติ การสานของเล่นพื้นบ้าน ทั้งตั๊กแตนและปลาตะเพียน มาร่วมในงานตะวันออกดีจัง นอกจากนี้ยังมีการเปิดเวทีเสวนาที่ให้เด็กๆ ได้มาเล่าเรื่องราวของตัวเอง และฟังเสียงเด็กๆ ว่าอยากเห็นตะวันออกเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง ให้เขาได้มาคุยกัน นำเสนอสิ่งที่คิด เสนอ แนะ จนปรับปรุงแก้ไข”
บุปผาทิพย์ แช่มนิล หรือพี่แฟ้บ ผู้ก่อตั้งและประสานงานกลุ่มรักษ์เขาชะเมา หนึ่งในภาคีตะวันออกนี้ดีจัง จังหวัดระยอง บอกว่า กลุ่มรักษ์เขาชะเมาเชื่อเรื่องการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์มาโดยตลอด เพราะมั่นใจว่าพื้นที่เล็กๆ ที่เด็กๆ ทำงานอยู่สามารถสร้างคนได้ และถ้าพลังเล็กๆ เหล่านี้รวมกันได้เป็นเครือข่ายของภูมิภาค เสียงของเยาวชนก็จะดังขึ้น อย่างน้อยการมาเจอกันของเครือข่ายก็ทำให้ได้เห็นร่วมกันว่า วันนี้ภาคตะวันออกเกิดอะไรขึ้น และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
แดดร่มลมตก ภาคเวทีเริ่มคึกคัก เพราะมีการแสดงทั้งศิลปวัฒนธรรม ละคร และดนตรี จากเยาวชนตะวันออกดีจังอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพลงรำพา พาเพลิน จากกลุ่มเยาว ชนบ้าน 100 ปี จังหวัดตราด ดิเกร์ฮูลู จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ดนตรีสามยุค สามสมัย โดยกลุ่มคนร่วมสมัย อำเภอแหลมสิงห์
ครอบครัวเรืองทัน ประกอบไปด้วย คุณพ่อจิรศักดิ์ คุณแม่อุ่นเรือน และน้องภาธร ในฐานะผู้ร่วมงาน กล่าวถึงกิจกรรมตะวันออกดีจังที่จัดขึ้นว่า “พอทราบว่ามีงานตะวันออกดีจังก็เลยพาชายลูกมาเที่ยวงาน อยากให้เขาได้ทำกิจกรรม ครอบครัว เราชอบงานในลักษณะนี้ เพราะมีกิจกรรรมให้เด็กๆ ได้ลงมือทำ และคิดว่าน่าจะมีงานแบบนี้อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ในช่วงที่ปิดเทอมพวกเขาจะได้มีพื้นที่ในการทำกิจกรรม”
ขณะที่ ป้าเหน่ง ปริชาติ ดิษฐอ่วม ภาคีตะวันออกนี้ดีจัง จังหวัดตราดกล่าวสนับสนุนว่า การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ทำได้ไม่ยาก และทำที่ไหนก็ได้ อย่าติดกรอบ อย่าสร้างเงื่อนไขว่าอันนั้นทำได้ อันนี้ทำไม่ได้ เพราะพื้นที่สร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ทุกที่
เชื่อว่าหลังจากงานนี้ผ่านไปแล้ว กลุ่มเยาวชนทั้งหลายน่าจะมีกำลังใจและมองเห็นช่องทางในการที่จะสื่อสารพลังของตน และภาพเยาวชนจาก 8 จังหวัดภาคตะวันออก ที่มาร่วมคิด ร่วมทำสิ่งต่างๆ จนเกิดประโยชน์ จะช่วยผลักดันให้พื้นที่สร้างสรรค์กระจายไปทุกภูมิภาคของประเทศด้วยพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่อีกด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากกลุ่มตะวันออกนี้ดีจัง