8 สัญญาณ…เตือน!!! ต้องพักรถ
เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก คู่มือรู้ทันโรคและภัยสุขภาพสำหรับประชาชน โดยสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และ สสส.
ช่วงเทศกาล หรือวันหยุดยาว หลายคนวางแผนขับรถไปท่องเที่ยวหรือกลับภูมิลำเนา สิ่งที่คอยย้ำเตือนกันเสมอคือ การระมัดระวังอุบัติเหตุ เพราะในทุกๆ ปี มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจำนวนไม่น้อย
สาเหตุของอุบัติเหตุทางการจราจร เกิดขึ้นได้โดยหลายสาเหตุ ได้แก่ ผู้ขับขี่ สภาพแวดล้อม สภาพรถ โดยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จากข้อมูลปี 2561 พบว่า ผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 28.80
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในทุกเทศกาลปีใหม่ ปรารถนาที่จะเห็นความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุให้น้อยที่สุด โดยรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงอุบัติเหตุและร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการให้ทุกคนเดินทางกลับบ้านช่วงปีใหม่อย่างมีความสุข โดยในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข สสส. และภาคีเครือข่าย ร่วมรณรงค์ คาถาปีใหม่ ปลอดโรคปลอดภัย “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ทั้งยังให้ทุกคนเคร่งครัดในการปฏิบัติตามชีวิตวิถีใหม่ มีสติ ป้องกัน โดยสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างรอบคอบ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.สนับสนุนเพิ่มเติมจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงอุบัติเหตุว่าสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงวันสำคัญ นอกจากการสื่อสารแล้ว สสส. ยังประสานภาคีเครือข่ายสื่อสารรณรงค์ในเรื่องกลับบ้านปลอดภัย และลดปัจจัยเสี่ยงอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“การไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อยากให้เป็น 1 ในชีวิตวิถีใหม่ เพราะพฤติกรรมดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพกว่า 60 โรค ทั้งยังมีส่วนที่ทำให้ติดโควิด-19 ได้ง่ายและรุนแรงอีกด้วย สสส.ประสานภาคีแนวราบออกแรงทำงานอย่างหนักเพื่อหวังว่าสถิติอุบัติเหตุจะลดลงและทุกคนปลอดภัย” ดร.สุปรีดา กล่าว
นอกจากการดื่มแอลกอฮอล์ จะเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนแล้ว สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การหลับใน หรือ อาการง่วง ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยๆ แก่ผู้ขับขี่ และส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุในที่สุด หากไม่หยุดจอดพัก รู้หรือไม่ว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการหลับในขณะขับรถ กรมทางหลวง 2551-2561 พบว่า การหลับใน เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุร้อยละ 4 ของจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
การหลับใน คือ การหลับในขณะที่ตาอาจยังเปิดอยู่ แต่ไม่รู้ภาพเบื้องหน้า อาจเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่เกิน 10 วินาที โดยหากรถวิ่งด้วยความเร็ว 90 กม./ชม. รถจะวิ่งต่อไปอีก 100 เมตร โดยที่ไม่มีคนควบคุม ลักษณะการชนจึงรุนแรงมาก เพราะคนขับไม่ได้หักหลบหรือเหยียบเบรก ทำให้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้ทันที
8 สัญญาณ…เตือน!!! ต้องพักรถ
1.หาวบ่อยและต่อเนื่อง
2.รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด กระวนกระวาย
3.รู้สึกหนักหนังตา ลืมตาไม่ขึ้น ตาปรือ ภาพเบลอ
4.ขับรถส่ายหรือเริ่มออกนอกเส้นทาง
5.ใจลอย ไม่มีสมาธิ
6.จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาบ้างในช่วง 2-3 กม. ที่แล้ว
7.รู้สึกมึน หรือหนักศีรษะ
8.มองข้ามสัญญาณไฟ หรือป้ายจราจร
ขณะขับขี่รถ เมื่อคุณเริ่มมีอาการของสัญญาณเตือนของการง่วง ควรจะปฏิบัติดังนี้
1.อย่าฝืนขับรถ
2.จอดรถในที่ที่ปลอดภัย เพื่องีบหลับประมาณ 15 นาที ก่อนขับต่อ
3.สลับให้ผู้อื่นขับรถแทน
4.รับประทานของขบเคี้ยว หรือดื่มเครื่องดื่มที่ช่วยให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า
5.เปิดหน้าต่างรถเพื่อถ่ายเทอากาศ ให้ลมโชยปะทะหน้า เปิดเพลงดังๆ และร้องตามไปด้วย
ง่วงนัก พักสักนิด เพื่อทุกชีวิตปลอดภัย ในทุกๆ การเดินทาง เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งรถ และคน เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน อีกทั้งไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึง ลดเร็ว ลดเสี่ยง เพื่อที่จะถึงจุดหมายโดยปลอดภัย ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ สสส.ขอให้ทุกท่านเดินทางโดยสวัสดิภาพ อย่าลืมสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ และเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันโควิด-19 ด้วย