8 วิธี ชอปออนไลน์อุ่นใจ

เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลบางส่วนจาก  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค


ภาพโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th  และแฟ้มภาพ        8 วิธี ชอปออนไลน์อุ่นใจ  thaihealth


“ชอปปิงออนไลน์” ใคร ๆก็ชอบ สะดวกสบาย โอนเงินก็ง่าย ไม่ต้องไปซื้อเองที่ร้าน… แค่กดเลือกสินค้า โอนเงินผ่านธนาคาร ใช้เวลาไม่นานสินค้าก็มาส่งถึงหน้าบ้านแล้ว


ต้องยอมรับว่าการเลือกซื้อสินค้าในยุคนี้แพลตฟอร์มการค้าที่มาแรงที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น “ซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์” ที่ได้รับความนิยมสูงมากในปัจจุบัน ช็อปปิ้งออนไลน์อยู่ที่ไหนก็เลือกซื้อสินค้าได้ ขอแค่มีอินเทอร์เน็ต ถือเป็นการเป็นปรับเปลี่ยนรูปแบบการซื้อขายครั้งใหญ่เพื่อตอบรับกับยุคสมัยที่เทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น


เมื่อการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่สูงขึ้น เกิดเป็นมูลค่าการซื้อขายจำนวนมาก แต่ก็ต้องตามมาด้วยปัญหาหลายอย่างที่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อม หากย้อนดูจะพบว่ามีการร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลเสียจากการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิเช่น ได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง สินค้าไม่มีคุณภาพและได้มาตราฐาน ชำรุด หรือเมื่อสั่งสินค้าทำการโอนเงินแล้วแต่ไม่ได้รับของ เหล่านี้เป็นปัญหาที่ถูกร้องเรียนผ่านช่องทางที่เปิดรับมากที่สุด


8 วิธี ช็อปปิ้งออนไลน์อุ่นใจ  thaihealth


กระบวนการเยียวยาความเสียหายยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหา ระบบและกลไกการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคโดยภาพรวมยังไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเท่าทันกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ มีผู้บริโภคจำนวนมากไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิผู้บริโภคนั้นเป็นอย่างไร 15 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day) ผู้บริโภคทั่วโลกร่วมมือกันในการสะท้อนปัญหาที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญ สร้างความตระหนักเรื่องสิทธิผู้บริโภคที่ควรได้รับการปกป้องและคุ้มครอง รวมทั้งการรณรงค์ต่อต้านการค้าที่ไม่เป็นธรรมและความไม่เป็นธรรมทางสังคมทั้งหลายที่ผู้บริโภคได้รับ


สิทธิผู้บริโภคที่สำคัญ 4 ประการ มีอะไรบ้าง


1. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ


2. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย


3. สิทธิที่จะเลือก


4. สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหาย  


 


         8 วิธี ช็อปปิ้งออนไลน์อุ่นใจ  thaihealth


นางสาวสารี อ๋องสมหวัง  เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึง สถานการณ์ปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคในปัจจุบัน ผ่านบทสัมภาษณ์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า  ปัจจุบันการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมในบ้านเรา เป็นที่น่าเสียดายหากภาครัฐจะสูญเสียรายได้ไปไม่น้อยจากการเก็บภาษี ยกตัวอย่างประเทศอินโดนีเซียที่มีการเก็บภาษีจากเฟสบุคได้แล้ว สองปีซ้อนที่สหพันธ์ผู้บริโภคสากล ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก กำหนดให้วันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มีนาคม ของทุกปีเป็นประเด็น การคุ้มครองผู้บริโภคจากธุรกิจออนไลน์ เพื่อสร้างความมั่นใจและความยุติธรรมให้แก่ผู้บริโภค


"อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นของการซื้อขายออนไลน์ ได้ทำให้เกิดปัญหาสำคัญกับผู้บริโภค เช่น การหลอกลวง ซื้อของแล้วไม่ได้ของ ไม่ได้เงินคืนหรือถึงแม้ได้เงินคืนก็แสนยากเย็น เมื่อถูกหลอกลวง ฉ้อโกง หรือโฆษณาเกินจริง โอ้อวดสรรพคุณ จะได้รับการชดเชยเยียวยาเป็นอย่างดี หรือถูกจัดการจากหน่วยงานอย่างทันท่วงที ด้วยเหตุนี้เชื่อว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการผู้บริโภคทั่วโลก จะสามารถ ทำให้เกิดการกำกับตลาดดิจิทัลที่เป็นธรรมสำหรับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น"


8 วิธี ช็อปปิ้งออนไลน์อุ่นใจ  thaihealth


เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 ที่ผ่านมามีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์และเป็นกรอบการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีคุณภาพร่วมกัน เพื่อให้การซื้อขายในตลาดออนไลน์มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยมีข้อตกลงที่สำคัญ 7 ประการที่ครอบคลุม ดังนี้


1) การตรวจสอบร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ


2) การแสดงข้อมูลของร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ


3) การมีระบบให้ข้อมูลจำเป็นแก่ผู้บริโภค


4) ระบบรักษาความปลอดภัยทางการเงิน


5) นโยบายความเป็นส่วนตัว


6) ด้านการมีช่องทางร้องเรียน และระบบติดตามเรื่องร้องเรียนที่ผู้บริโภคสามารถติดต่อประสานได้ง่าย และรายงานผลกลับให้ทราบภายใน 15 วัน และ


7) การมีนโยบายความพึงพอใจ การคืนสินค้าและการเยียวยาแก่ผู้บริโภค


8 วิธี ช็อปปิ้งออนไลน์อุ่นใจ  thaihealth


นอกจากสิทธิผู้บริโภคที่ควรรู้แล้ว ยังมีข้อปฏิบัติสำคัญที่ผู้บริโภคต้องศึกษาเป็นแนวทางในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย ดังนี้


1.เลือกซื้อกับร้านค้าหรือผู้ขายที่แสดงตัวตนชัดเจน มีการเปิดเผยหลักฐานบัตรประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ที่สามารถติดตามตัวได้


2.ดูประวัติการซื้อขายก่อนหน้านี้ของผู้ขายว่ามีประวัติที่ไม่ดีหรือเปล่า เช่น สินค้ามีปัญหา หรือส่งของไม่ตรงเวลา โดยดูได้จากการแสดงความคิดเห็นของลูกค้าคนอื่น ๆ ที่เคยซื้อสินค้ากับผู้ขายรายนี้มาก่อน ในหน้าเว็บหรือหน้า Facebook หรือนำชื่อผู้ขายชื่อร้านค้าไปลองค้นหาข้อมูลใน Google


3.ข้อดูรูปถ่ายสินค้าตัวจริง ขอดูภาพมุมต่าง ๆ ของสินค้าให้มากที่สุด สอบถามตำหนิต่าง ๆ ของสินค้าจากผู้ขายให้ชัด ก่อนตัดสินใจซื้อ


4.สอบถามเรื่องวิธีการส่งสินค้าและวันที่จะได้รับสินค้าจากผู้ขายเสมอ


5.ขอหลักฐานการส่งสินค้า เช่น ใบเสร็จจากไปรษณีย์ เพื่อใช้ยืนยันว่ามีการส่งสินค้าจริง


6.บันทึกการสนทนาการซื้อขายบนโซเชียลมีเดียเก็บไว้เป็นหลักฐานเมื่อเกิดปัญหา


7.ควรบันทึกภาพหน้าเพจร้านค้าใน Facebook หรือข้อความโพสต์ขายสินค้าบนโซเชียลมีเดียเก็บเอาไว้ เพื่อใช่เป็นหลักฐานเมื่อเกิดปัญหา เพราะบ่อยครั้งที่ผู้ขายที่ตั้งใจหลอกลวงจะปิดหน้าเพจ Facebook หรือลบข้อความทิ้ง


8.เมื่อถูกโกงจากการซื้อของออนไลน์ให้นำหลักฐานทั้งหมดไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ


8 วิธี ช็อปปิ้งออนไลน์อุ่นใจ  thaihealth


เชื่อว่า เหล่าสาวกนัก CF คงเคยใช้บริการช็อปปิ้งออนไลน์ และมีจำนวนไม่น้อยที่อาจมีประสบการณ์ในการซื้อของ ทั้งนี้ 8 วิธีดังกล่าว เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาและเป็นพลังช่วยปกป้อง สร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้บริโภค เพราะการที่ผู้บริโภคดูแลคุ้มครองตนเองได้ ถือเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดและทำให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code