8 มาตรการสร้าง “สุขภาวะ” อย่างยั่งยืน เรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ใน ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์

 

          ปัจจุบันทุกคนต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งปัญหาด้านอบายมุข เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารเสพติด หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่ปลอดภัยจากการขับขี่รถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความไม่ใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง รวมไปถึงปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

           ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทของการเป็นสถาบันการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังแผ่นดินฟื้นฟูการเรียนรู้ โครงการสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์จึงถือกำเนิดขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อให้สมาชิกทุกคนในสถาบันมีความตระหนักและเห็นความสำคัญของคำว่า สุขภาวะเพื่อที่จะพัฒนาไปสู่การเป็น มหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาวะอย่างยั่งยืนภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)           

8 มาตรการสร้าง “สุขภาวะ” อย่างยั่งยืน เรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ใน ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์

 

             ส่งเสริม สนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์อย่างมีส่วนร่วมคือสิ่งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ได้ประกาศเป็นนโยบายสุขภาวะและกำหนด 8 มาตรการเพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินงาน ซึ่งประกอบไปด้วย 1) การประกาศนโยบายสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัย 2)การสร้างกระแสการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีแก่บุคลากร 3)การพัฒนาสภาพแวดล้อม 4)พัฒนาระบบการให้บริการและสวัสดิการของมหาวิทยาลัย 5)จัดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้,6)สนับสนุนการจัดกิจกรรมของนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย 7)สร้างเครือข่ายเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย 8)การค้นคว้าวิจัยและการจัดกิจกรรมต่างเพื่อการจัดการองค์ความรู้ ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ภายในมาตรการเหล่านี้ล้วนมีเป้าหมายคือสร้างความตระหนักในเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาวะและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นกับบุคลากรทุกๆ คนภายในมหาวิทยาลัย

 

             ผศ.ดร.สัมพันธ์ รอดพึ่งครุฑ รองอธิการบดีและหัวหน้าโครงการสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการฯว่า คือการส่งเสริมด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพสังคมที่ดี ที่จะเอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคลากรทั้งอาจารย์ ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ

8 มาตรการสร้าง “สุขภาวะ” อย่างยั่งยืน เรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ใน ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ 

              สิ่งที่เราเน้นเป็นอย่างมากก็คือการสร้างกระแสในเรื่องสุขภาวะให้เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย โดยได้ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ที่หลากหลาย เพื่อสร้างกระแสให้บุคคลากรทุกภาคส่วนภายในมหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญในการที่เราจะเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาวะอย่างสม่ำเสมอ มีการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพภายในมหาวิทยาลัยที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะ เช่นจัดสถานที่นั่งพักผ่อนของนักศึกษา จุดบริการน้ำดื่มและดูทีวีตามจุดต่างๆ เพิ่มขึ้น มีการสร้างศูนย์ออกกำลังกายกลางแจ้ง เพิ่มขึ้นเพื่อเอื้อต่อการออกกำลังกายของนักศึกษา นอกจากนี้ยังมีบริการเรื่องของการตรวจสุขภาพ จัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการอบรมและสัมมนาร่วมกับเครือข่ายจากภายนอก ที่สำคัญที่สุดและถือว่าประสบความสำเร็จมากก็คือ โครงการจัดประกวด 5 ส เพื่อให้สำนักงานและคณะต่างๆ มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะซึ่งทุกคณะก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จากการดำเนินงานมา 1 ปีพบว่าบุคคลากรของเราเริ่มเห็นความสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดีเริ่มไปใช้บริการสถานที่ออกกำลังกายต่างๆ ร่วมกับนักศึกษามากขึ้น และถ้านักศึกษาของเราตระหนักในเรื่องของการมีสุขภาวะที่ดี เขาก็จะช่วยนำไปเผยแพร่ ไปให้ความรู้ความเข้าใจกับบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการปลูกจิตสำนึกให้เขาตระหนักในเรื่องของการมีสุขภาวะที่ดีไปตลอดชีวิตอาจารย์สัมพันธ์กล่าว

 

            นางสาวณัฐกา กุลรินทร์ นักวิชาการศูนย์สุขภาพ และผู้ประสานงานโครงการฯ เล่าถึงแนวทางการสร้างความตระหนักในเรื่องของสุขภาวะให้เกิดขึ้นกับบุคลาการและนักศึกษาภายในสถาบันแห่งนี้ว่า เริ่มจากการประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยการจัดประกวดคำขวัญของโครงการจนได้คำขวัญที่ใช้รณรงค์อย่างต่อเนื่องว่า มรอ.ร่วมสร้างสุขภาวะ เรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้และ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางใจ เติมเต็มได้ที่ มรอ.และการจัดทำสปอตวิทยุเพื่อเผยแพร่ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย จัดทำจดหมายข่าว หนังสือพิมพ์ และมีเว็ปไซต์ของโครงการโดยเนื้อหาจะเป็นรายละเอียดของกิจกรรมที่จัดขึ้น นอกจากนี้ยังมีสื่อที่เป็นป้ายและโปสเตอร์รณรงค์ในเรื่องของสุขภาวะทั่วทั้งมหาวิทยาลัยทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 50 ป้าย นอกจากนี้เรายังมี mascot ชื่อว่าสุขใจซึ่งจะใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น รณรงค์ยาเสพติด การแข่งขันกีฬา ฯลฯ

 

             ความแตกต่างที่เกิดขึ้นก็คือเมื่อก่อนเรามีสถานที่ออกกำลังกายแต่ถูกปล่อยทิ้งร้าง พอมีโครงการขึ้นเราก็เข้าไปรับปรุงให้สามารถเอื้ออำนวยต่อการใช้งาน สมัยก่อนผู้บริหารของมหาวิทยาลัยแทบจะไม่มาวิ่งออกกำลังกายเลยเพราะคิดว่าไม่สำคัญ แต่ตอนนี้เริ่มหันมาร่วมออกกำลังกายกับนักศึกษาและบุคลากรของเรามากขึ้น ทุกวันนี้มีนักศึกษาออกกำลังกายเยอะมากจนสนามที่มีอยู่แทบไม่พอ ซึ่งเรากำลังจะจัดให้มีการตรวจสุขภาพเพื่อเปรียบเทียบกับผลตรวจของปีที่แล้วเพื่อดูว่ามีความเสี่ยงในด้านต่างๆ ลดลงหรือไม่นางสาวณัฐการกล่าว

 

           นายอุดมชัย ทิพยศ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 เอกสาธารณสุขศาสตร์ บอกว่า การมีสุขภาวะที่ดีนั้นหมายถึงการมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งในด้านการเรียน การทำงาน และการดำรงชีวิตต่อไปในอนาคตได้อย่างมีความสุข

 

            ตอนเข้ามาเรียนในปีแรกยังไม่มีโครงการนี้นักศึกษาส่วนมากก็ไม่สนใจออกกำลังกายและแทบจะไม่เห็นอาจารย์มาออกกำลังกายเลย แต่พอมีโครงการนี้ขึ้นมาทุกคนก็เริ่มตระหนักในเรื่องของการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ทุกๆ เช้าจะมีนักศึกษาและอาจารย์ออกมาวิ่งด้วยกันเยอะมาก ซึ่งการออกกำลังกายตอนเช้าจะทำให้เราได้รับอากาศที่สดชื่นและมีพลังในการเรียนต่อไป นายอดุมชัยระบุ

 

              นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่าโครงการนี้เป็นการทำงานเพื่อสร้างสุขภาวะผ่านองค์กรต่างๆ เช่นสถาบันศึกษา สถานประกอบการ องค์กรภาครัฐต่างๆ เป็นต้น โดยการสร้างสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏจะเน้นไปที่เรื่องของการสร้างระบบการทำงานภายในมหาวิทยาลัย ด้วยการกระตุ้นให้เกิดนโยบายในเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพ และการมีผู้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องของการสร้างสุขเสริมสุขภาพในบริบทต่างๆ ของแต่ละมหาวิทยาลัย

 

              ผลที่ได้คือเกิดการพัฒนาไปที่บุคลากรกลุ่มต่างๆภายในองค์กร โดยในปีแรกเราจะเน้นในเรื่องของการรณรงค์ให้เกิดการสร้างความตระหนัก ทำอย่างไรให้คนในมหาวิทยาลัยเข้าใจในเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพ ซี่งไม่ใช่แค่เรื่องของการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของการทำงานร่วมกัน การมีจิตอาสา หรือสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพทั้งหมดนางเพ็ญพรรณกล่าวสรุป

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สำนักงานกองทุนสนับสนุนนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

 

 

 

update 24-11-52

 

 

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code