756 วัน เตรียมพ่อไทยไปอาเซียน

เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. สำนักงานกิจการสตรีและความมั่นคงของมนุษย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดเสวนา “756 วัน เตรียมพ่อไทยไปอาเซียน” ที่ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพ

นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในฐานะผู้ดูแลครอบครัวและสตรี เป็นประธาน กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เครือข่ายให้ความสำคัญว่าครอบครัวไทยต้องมีการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมที่จะเข้าสู่สังคมอาเซียน และเมื่อก้าวเข้ามาแล้วเรามักพูดถึงวิกฤติความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาประเทศ โครงสร้างให้เท่าเทียมกัน แต่ไม่มีใครพูดถึงวิถีชนของสังคมครอบครัวไทย ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ซึ่งก็พบว่าส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครรู้เลยว่าจะเป็นอย่างไร ยิ่งขณะนี้ประเทศไทยมีสังคมของผู้สูงอายุมากขึ้น ผู้ที่เป็นปู่ ย่า ตา ยายก็จะไม่ค่อยรับทราบเกี่ยวกับอาเซียน คำตอบสำเร็จรูปที่ได้ยินคือ ก็ดี ดังนั้น การที่สมาคมฯ รณรงค์ลักษณะนี้ก็ต้องใช้เวลาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ก็หวังว่าครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งอนาคตตนก็อยากเห็นการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ให้กว้างขวางมากขึ้น เพื่อให้ครอบครัวไทยเข้มแข็ง โดยเฉพาะพ่อ ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวจะต้องมีบทบาทมากขึ้น อย่าปล่อยให้แม่ที่ถูกมอบตำแหน่งให้ดูแลบ้านดูแลทุกอย่างในครอบครัวรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

ด้าน พ.ญ.พรรณพิมล วิปุลากร เลขาธิการสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจเกี่ยวกับทัศนคติและการตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนของกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ในกลุ่มนักศึกษา จำนวน 2,170 คน ในปี พ.ศ.2552 จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ พบว่า ในข้อคำถามที่ถามว่า “คุณรู้สึกว่าคุณเป็นประชาชนอาเซียน ?” ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 8 คิดเป็นร้อยละ 67 ที่ตอบมากถึงมากที่สุด โดยลำดับที่ 1 คือ ประเทศลาว ร้อยละ 96.0 และประเทศสิงคโปร์อยู่ในลำดับสุดท้าย ร้อยละ 49.3 และเมื่อถามความรู้เกี่ยวกับอาเซียน ได้แก่ ธงอาเซียน และการก่อตั้งอาเซียน ประเทศไทยอยู่ในลำดับสุดท้าย คิดเป็นร้อยละ 38.5 และร้อยละ 27.5 สำหรับแหล่งของการรับรู้ข้อมูลนั้น ร้อยละ 78.4 จากโทรทัศน์ ร้อยละ 73.4 มาจากโรงเรียน และมาจากหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 70.7 ทั้งนี้การรับรู้ข้อมูลที่มาจากครอบครัวนั้น พบเพียงร้อยละ 18.2 จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนเรื่องการเตรียมความพร้อมของครอบครัวไทยได้ว่า ควรที่จะต้องมีการติดตามข้อมูลข่าวสาร และสื่อสารระหว่างกันภายในครอบครัวถึงเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ที่ทันต่อโลกมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการสร้างการรับรู้และตระหนักในความเป็นพลเมืองอาเซียน ควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้ทักษะในการดำรงชีวิตในประชาคมอาเซียน

พ.ญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า การที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ครอบครัวต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน บทบาทของพ่อกับการเปลี่ยนแปลงนับว่าสำคัญ เพราะผู้ชายมีสัญชาตญาณกับการเปลี่ยนแปลงมากกว่าผู้หญิง หากเราช่วยทำให้พ่อมีบทบาทสำคัญในการสร้างการเรียนรู้นี้ได้ก็จะเป็นกลไกหลักในการช่วยการเรียนรู้ของครอบครัวได้เช่นกัน ดังนั้น 5 เรื่องใหญ่ที่อาเซียนท้าทายครอบครัวไทยคือ 1.ความพร้อมเรื่องภาษาเพื่อการติดต่อสื่อสาร ครอบครัวไทยต้องฝึกภาษาให้ลูก และตัวเราด้วย โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่จะเป็นภาษากลางในการสื่อสารระหว่างกัน 2.การเรียนของลูกจะเปลี่ยนไปมีความเป็นไปได้สูงที่ช่วงเวลาการเปิด-ปิดภาคเรียน หลักสูตรและเนื้อหาการเรียน สภาพแวดล้อมในการเรียน 3.ใจที่เปิดกว้างและเป็นมิตร พร้อมจะเป็นครอบครัวเดียวกัน ทักษะสำคัญที่ต้องมีคือ ความเป็นมิตร รู้จักยอมรับ และเคารพในความหลากหลาย 4.เศรษฐกิจที่กระทบชีวิตครอบครัว โอกาสทางเศรษฐกิจที่จะมีตามมาอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิต หรือการใช้เวลาร่วมกันของครอบครัว เช่น พ่อแม่บางบ้านอาจทำงานหนักมากขึ้น บางคนในครอบครัวอาจต้องไปทำงานต่างถิ่น ต่างประเทศฯ และ 5.โรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งอาจเป็นโรคใหม่ๆ ที่คนไทยไม่เคยเป็น หรือไม่เคยเจออาการอย่างนี้มาก่อน ทั้งหมดล้วนมีคำตอบเดียวกันคือ ครอบครัวต้องพร้อมจะเรียนรู้เพื่อก้าวสู่สังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code