70 ปี ยุวพุทธิกสมาคม ฟังประวัติ เอตทัคคะ เพิ่มสุขภาวะทางปัญญา
ที่มา : มติชน
ภาพประกอบจาก ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ
"ธรรมะ" กับเยาวชนหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ในสังคมปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่ย่อยยาก ไม่มีแรงดึงดูดให้น่าสนใจเข้าไปศึกษาเรียนรู้ ส่งผลให้สถิติการเข้าวัดเพื่อปฏิบัติธรรมของกลุ่มเด็กและเยาวชนลดลงอย่างต่อเนื่อง องค์กรด้านพระพุทธศาสนาหลายแห่งพยายามผลักดัน ดึงเด็กเข้าวัด ฝึกสมาธิผ่านกิจกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง
ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เป็นอีก หนึ่งองค์กรที่ส่งเสริมเรื่องดังกล่าวมายาวนานและในโอกาสครบรอบ 70 ปีแห่งการก่อตั้ง ยุวพุทธิกสมาคมถือฤกษ์ดีจับมือเครือข่ายอย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) จัดงาน "เอตทัคคะและพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนา" ธรรมบรรยายประวัติและปฏิปทาพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนาตลอดปี 2563 โดยใช้ประวัติเอตทัคคะและพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนา ดึงเยาวชนให้หันมาใกล้ชิดศาสนาสร้างแรงบันดาลใจ เพิ่มสุขภาวะทางปัญญาให้สังคมไทย
นางมรกต ศรีแสงนาม ประธานโครงการเอตทัคคะและพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนา เล่าถึงที่มาของการจัดงานในครั้งนี้ว่า เริ่มต้นที่ความตั้งใจทำงานเผยแผ่ด้านการปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน มีสโลแกนว่า "ยุวพุทธบ้านแห่งธรรม สร้างคน สร้างที่ใจ" ดังนั้น เมื่อครบรอบ 70 ปี จึงจัดงาน "เอตทัคคะและพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนา" ธรรมบรรยายประวัติและปฏิปทาพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนา ซึ่งจะจัดทั้งหมด 9 ครั้ง ตลอดปี 2563
สำหรับ "เอตทัคคะ" หมายถึง ผู้ยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่งเป็นพิเศษ เป็นตำแหน่งที่พระพุทธเจ้าได้ประทานแต่งตั้งให้พระสาวกของพระองค์ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ทั้งหมด 74 ท่าน ทางโครงการได้คัดเลือกเอตทัคคะ 9 ท่าน มาบรรยายประวัติ เกร็ดชีวิตและวิธีการสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติของพระอริยสาวก
"ทุกวันนี้การที่เยาวชนจะก้าวเข้ามาสู่เรื่องราวของธรรมะนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีความสนใจ และไม่มีแรงจูงใจ แม้กระทั่งประวัติและเรื่องราว หรือข้อธรรมในด้านพระพุทธศาสนา ก็จะเรียนรู้จากในตำรา แต่ไม่มีการเชื่อมโยงกับชีวิตจริง ทางยุวพุทธ อยากให้มีต้นแบบให้เด็กๆ ได้เห็นว่า คนเราเมื่อพัฒนา ต้องพัฒนาทั้งกายและใจ พัฒนาทั้งข้างในและข้างนอก การพัฒนาข้างในเป็นการปลูกฝังสิ่งดีๆ โดยนำประวัติของ เอตทัคคะแต่ละองค์มาเรียนรู้ ซึ่งแต่ละองค์ก็ดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับเราแต่ทุกท่านดำเนินชีวิตและพิสูจน์ว่า ข้อธรรมที่พระพุทธเจ้าชี้แนะและบอกให้ดำเนินชีวิตด้วยทางสายกลางนั้นทำอย่างไร"
"ถ้าเยาวชนได้ฟังสิ่งเหล่านี้ผ่านเรื่องราวที่สนุก ผ่านประวัติ ของพระเถระ พระเถรี อุบาสก อุบาสิกา จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจ มาเรียนรู้ธรรมะมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น พระราหุล แม้จะเป็นพระโอรสของพระพุทธเจ้า แต่เมื่อมาบวช ก็วางตัวอย่างนอบน้อม ใฝ่เรียน ใฝ่รู้ ลักษณะอย่างนี้เป็นสิ่งที่อยากให้เยาวชนได้ซึมซับบทบาทที่เหมาะสมถูกต้อง
ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ ยุวพุทธมีโครงการที่ให้เยาวชน ได้เข้ามาเรียนรู้ธรรมะได้ตั้งแต่ 7 ขวบ รวมถึงมีโครงการครอบครัวคุณธรรม และโครงการสำหรับเด็กที่เรียนในโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งเป็นการเรียนธรรมะ 2 ภาษา ต้องการให้เด็กมีสัมมาทิฐิ หรือมีแนวคิดที่ถูกต้อง มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม ส่วนตัวดิฉันเองทำงานตรงนี้มานานกว่า 30 ปี และเท่าที่ทำงานมา พบว่า เด็กที่เข้าร่วมได้รู้ การดูแลสติของ ตัวเอง กล้าแสดงออก และควบคุมตัวเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และเมื่อมีเครือข่ายอย่าง สสส.เข้ามาร่วม ก็ทำให้สามารถขยายเรื่องเหล่านี้ไปในวงกว้างมากขึ้น" นางมรกตกล่าว
ด้าน นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวเสริมว่า เป็นที่น่ายินดีที่ทางยุวพุทธิกสมาคม ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ด้านศาสนา ทางกรมการ ศาสนาเองก็ให้การสนับสนุนในหลายเรื่อง เพื่อให้เห็นความสำคัญ โดยเฉพาะการขยายไปสู่เด็กและเยาวชน โดยเปิดโอกาสให้องค์กรทางศาสนาทุกแห่งเสนอโครงการเข้ามาเพื่อพิจารณาสนับสนุนงบประมาณและช่วยประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้เห็นถึงความสำคัญในการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา ไม่ใช่เฉพาะศาสนาพุทธเท่านั้น แต่รวมถึงศาสนาอื่นๆ ด้วย ทั้งคริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู ทำให้สังคม ประชาชน และเยาวชนมีความเข้าใจและมีความ คุ้นเคยกับกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ มากขึ้น
"ปี 2563 นี้ การจัดกิจกรรมทางศาสนาจะมุ่งไปที่เยาวชนมากขึ้นเริ่มตั้งแต่อายุ 13 ปี และจะเริ่มเก็บสถิติ เพื่อเป็นข้อมูล สาเหตุที่เริ่มกับเด็กกลุ่มนี้เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเผยแพร่ข้อมูล ขับเคลื่อนส่งต่อการเรียนรู้ให้มีความเข้าใจในระดับที่โตขึ้น ส่วนเด็กในช่วงวัยที่น้อยลงจะส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจเป็นตัวอย่างให้กับเด็กอื่นๆ ที่เข้าร่วม เหมือนกับเป็นยุวทูต ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านธรรมะต่อไป" นายกิตติพันธ์กล่าว
ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวได้พาบุตรหลานร่วมกิจกรรมเรียนรู้ สนุกไปกับพุทธประวัติของ "เอตทัคคะ" เพื่อนำไปปรับใช้เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ชีวิตอย่างมีสติในอนาคต