7.8 ล้านเด็กไทยอยู่ในครอบครัวยากจน! สสส.-สศช. ผนึกภาคี ดัน “ชุมชนนำ” แก้ปัญหาสุขภาวะเด็ก-ครอบครัวทั่วประเทศ
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
ปี 67 ไทยพบ เด็ก-เยาวชน 7.8 ล้านคน อาศัยอยู่ในครอบครัวรายได้น้อย ต่ำกว่าเส้นความยากจน ส่งผลกระทบต่อการศึกษา-พัฒนาการเด็ก สสส.-สศช.-ภาคีเชิงยุทธศาสตร์-ภาคีระดับพื้นที่ “ขับเคลื่อนนโยบายระบบสนับสนุนเด็ก-ครอบครัว” ด้วยแนวคิด “ชุมชนนำ” หนุนแก้ระเบียบ-กฎหมาย เอื้อให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมใช้งบประมาณ ขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสังคมเด็ก-เยาวชน-ครอบครัวมีสุขภาวะดี
เวลา 13.00 น. วันที่ 8 พ.ค. 2568 ที่โรงแรมเดอะ ระวีกัลยา แบงค็อก กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และภาคีเครือข่ายครอบครัวยิ้ม จัดเวทีเชิงนโยบาย “การขับเคลื่อนกลไกและนโยบายของระบบสนับสนุนเด็กและครอบครัวระดับพื้นที่แบบชุมชนนำ” เพื่อร่วมกันถอดบทเรียนการทำงานด้านการพัฒนาระบบสนับสนุนเด็กและครอบครัวในระดับพื้นที่ สู่การขับเคลื่อนนโยบายด้านเด็กและครอบครัวระดับประเทศ ภายใต้แนวคิด “ชุมชนนำ”
น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สศช. เห็นความสำคัญในการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ และพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการมีและการเลี้ยงดูบุตร เพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (พ.ศ. 2565-2580) ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาประชากรไปสู่การ “เกิดดี อยู่ดี และแก่ดี” ที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการพัฒนาเด็กที่มีคุณภาพ ผลักดันนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว พัฒนาระบบหนุนการวางนโยบายเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว และร่วมกับ สสส. สนับสนุนการพัฒนาครอบครัวและเด็กผ่านแนวคิดชุมชนนำ
“การประชุมสนทนาเชิงนโยบายในวันนี้ จึงเป็นโอกาสให้ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ร่วมกับ สศช. และ สสส. ได้เชื่อมร้อยการทำงานและหารือแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายของระบบสนับสนุนเด็กและครอบครัว ด้วยแนวคิด ‘ชุมชนนำ’ เพื่อเกิดการบูรณาการทรัพยากร กลไกการทำงาน บุคลากร และฐานข้อมูลให้สอดคล้องและเกื้อหนุนกัน พร้อมวิเคราะห์ความท้าทายและอุปสรรคเชิงระบบที่เป็นข้อจำกัดด้านการขยายผล นำไปสู่การหนุนเสริมชุมชนและภาคประชาสังคม ให้สามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเด็กและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน และครอบคลุมในทุกมิติ” น.ส.วรวรรณ กล่าว
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สสส.) กล่าวว่า ไทยกำลังเผชิญปัญหาเด็กเกิดน้อย จากเกิดใหม่ปีละหลักล้านคน เหลือเพียงปีละ 5 แสนคน ส่วนใหญ่เกิดในครอบครัวรายได้น้อย จากรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ปี 2567 โดย สสส. และศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) พบว่า เด็กและเยาวชน 7.8 ล้านคน อาศัยอยู่กับครอบครัวในภาคเกษตรที่มีรายได้ไม่แน่นอน และมีรายได้ไม่ถึง 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจน กระทบต่อการศึกษาและพัฒนาการของเด็ก ครอบครัวจึงต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุนในการเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพ รวมถึงกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและทักษะต่างๆ สสส. จึงร่วมกับ สคช. ภาคีเชิงยุทธศาสตร์ และเครือข่ายครอบครัวยิ้ม พัฒนาแนวทางห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab) ในพื้นที่รังสรรค์นวัตกรรมทางนโยบาย (Policy Sandbox) 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ลำปาง กาฬสินธุ์ และตรัง ด้วยแนวคิด “ชุมชนนำ” เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสร้างนิเวศรอบตัวเด็ก บูรณาการภารกิจหน่วยงานและกลไกสำคัญในระดับพื้นที่ ร่วมออกแบบห้องปฏิบัติการเชื่อมโยงนโยบายในมิติทางการศึกษา สุขภาพ และสวัสดิการทางสังคม รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย สนับสนุนให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและครอบครัว เฝ้าระวังความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและครอบครัว ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาวะของเด็กทุกช่วงวัย
“สสส. พร้อมสนับสนุนให้ สศช. นำแนวคิดและบทเรียนการทำงานต่างๆ ไปพัฒนาเป็นนโยบายระดับประเทศ ที่มุ่งสร้างระบบนิเวศการเลี้ยงดูเด็กและครอบครัวที่ยั่งยืน ผ่านแนวทางการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ 1.ปรับบทบาทการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ จากผู้ควบคุมและสั่งการเป็นผู้สนับสนุน ให้ชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจในนโยบายและโครงการที่เหมาะกับพื้นที่ของพื้นที่ของตนเอง 2.หนุนการพัฒนา Sandbox ขับเคลื่อนงานด้านเด็กและครอบครัวตามบริบทพื้นที่ 3.เชื่อมโยงกลไกระดับตำบลและจังหวัด เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4.ปรับปรุงกฎหมาย/ระเบียบการใช้งบประมาณ เนื่องจากการทำงานแบบชุมชนนำต้องการการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐในลักษณะที่ยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป” น.ส.ณัฐยา กล่าว
นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้อำนวยการศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลจากการขับเคลื่อนงานในพื้นที่นำร่อง จ.ลำปาง เกิดกระบวนการทำงานคุ้มครองเด็กระดับตำบลในระดับพื้นที่และจังหวัดอย่างไร้รอยต่อ โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นหน่วยงานหลักเชื่อมโยงการทำงาน จ.ตรัง เกิดโมเดล Policy Sandbox ที่มุ่งพัฒนาแผนการทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ บูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานท้องถิ่น ภาคเอกชน และเครือข่ายอาสาสมัครในจังหวัด จ.กาฬสินธุ์ เกิดการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสหวิชาชีพในการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและครอบครัวระดับจังหวัด พร้อมยกระดับเป็นพี่เลี้ยงต้นแบบ ขยายผลการดำเนินงานในระดับตำบล
นางนัฏญา วรชินา ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กล่าวว่า สค. พร้อมสนับสนุน สศช. และ สสส. ขับเคลื่อนพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชน ให้เป็นพื้นที่สำหรับครอบครัวมาทำกิจกรรมและใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน มีแนวทางการทำงาน 5 ด้าน 1.พัฒนาแนวทางการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) แบบชุมชนนำ โดยให้ชุมชนร่วมกำหนดทิศทางและกิจกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ 2.อบรมทีมวิทยากรด้านครอบครัวระดับจังหวัด ให้สามารถถ่ายทอดแนวคิดชุมชนนำ สนับสนุนการขับเคลื่อน ศพค. ได้อย่างต่อเนื่อง 3.สนับสนุนงบประมาณพัฒนาศักยภาพทีม ศพค. เพื่อให้ทีมวิทยากรที่ผ่านการอบรม เป็นพี่เลี้ยงร่วมพัฒนาแผนงานและกระบวนการเรียนรู้กับ ศพค. ที่สนใจเข้าร่วม 4.สนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนแก่ ศพค. ที่มีความพร้อม เพื่อดำเนินกิจกรรมตามแนวทางชุมชนนำ 5.ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของพื้นที่ และเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อยกระดับการทำงานอย่างยั่งยืน
นางสาววราภา สยังกูล ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานบ้านพักเด็กและครอบครัว กองคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กล่าวว่า การทำงานของ ดย. ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะการทำงานกับเด็กเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบนิเวศรอบตัวเด็ก ได้แก่ ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และสังคม ผ่านแนวทางที่เรียกว่า “การคุ้มครองเด็กเชิงระบบ” โดยแนวคิด “ชุมชนนำ” ของ สสส. ถือเป็นการเปลี่ยนแนวทางการทำงานของหน่วยงานภาครัฐจากระบบสั่งการจากบนลงล่าง (top-down) มาเป็นการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนมีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ช่วยให้ชุมชนเห็นคุณค่าของตนเองและเกิดการมีส่วนร่วมจริงจัง ส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวเปราะบาง ผ่านกลไกการเยี่ยมบ้าน ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ ทำให้เกิดนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ ดย. เตรียมปรับแนวทางการทำงาน ในปี 2569 เพื่อหนุนให้จังหวัดเกิดระบบการทำงานที่มาจากชุมชน 3 ด้านสำคัญ 1.ปรับตัวชี้วัดจาก “ปริมาณงาน” เป็น “คุณภาพของกระบวนการ” 2.สนับสนุนให้จังหวัดกำหนดตัวชี้วัดร่วมกับชุมชน 3.สร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วม (Learning Space) ที่ทำให้เจ้าหน้าที่เห็นคุณค่าของการฟังเสียงจากชุมชนมากขึ้น