7 โรคประจัญบาน พิฆาตชีวิตผู้บริหาร
ชี้! เหตุเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน
วูบ ล้มครื้นทั้งยืน อาการเหล่านี้ไม่ใช่เพียงจะเกิดขึ้นกับผู้บริหารของประเทศในยุครัฐบาลนี้ กับนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น
ในอดีตเมื่อไม่นานนี้เท่าที่จำได้ในยุครัฐบาลขิงแก่ที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ อาการวูบนี้ก็เกิดขึ้นกับรองนายกรัฐมนตรีและในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นของมนุษย์ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ก็คนหนึ่งถัดไป
แต่ถ้าใครระลึกได้ไปในอดีตได้นานกว่านั้นก็อาจทำให้คิดได้ว่ามีหลายต่อหลายท่านที่วูบคางาน คาห้องประชุม ครม. หรือคารัฐสภากันมา จนโรควูบจะกลายเป็นโรคประจำตัวของรัฐมนตรีไปแล้ว!!!
ไม่เพียงแต่โรควูบเท่านั้น ยังมีโรคพ้องเพื่อนอื่นๆ ที่ตามมาด้วยเช่นกัน เพราะปัจจัยเสี่ยงส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ที่ต้องนั่งประชุมนานๆ สังสรรค์ยามค่ำคืนและมีเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ ยิ่งปราศจากการออกกำลังกาย และรับประทานอาหารไม่เหมาะสมยิ่งเสี่ยงต่อภาวะโรคมากยิ่งขึ้น
ต้องยอมรับว่า ไม่เพียงแต่ผู้บริหารเท่านั้น ลูกจ้างธรรมดา ประชาชนกินข้าวแกงหากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแล้ว ก็ไม่ต่างอะไรจากผู้บริหารที่มีโรควูบและคณะมาเบียดเบียน
ก่อนอื่นมารู้จักกับโรควูบให้ดีเสียก่อน ซึ่ง โรควูบ ที่ตอนนี้นับว่าเป็นโรคยอดฮิตของผู้บริหารไปแล้วนั้น มีที่มาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ อาการวูบเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอทำให้สูญเสียการทรงตัวชั่วคราวจึงล้มลง แต่ไม่ใช่อาการโรคหัวใจ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “เป็นลมทั่วไป” อาจเกิดจากความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอยืนหรือนั่งนานเกินไป
ส่วนสาเหตุอีกกลุ่มคือ อาการวูบจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และหลอดเลือดอุดตัน ทำให้ล้มลงได้ ถ้าเป็นในขณะที่นอนอยู่ก็อาจไหลตายได้ หากเกิดอาการรุนแรง เพราะลิ่มเลือดอุดตันบริเวณเส้นเลือดที่ตีบ จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน ถึงขั้นหัวใจวาย ช็อก หรือหยุดเต้น ทำให้เสียชีวิตกะทันหันได้!!!
ถัดมาเป็นโรคสหายที่ตามๆ กันมากับโรควูบคือ โรคหลอดเลือดสมองเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นโรคที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตเป็นลำดับต้นๆ ของคนไทย โดยโรคนี้แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ โรคสมองขาดเลือด เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน และโรคเลือดออกในสมอง เกิดจากหลอดเลือดสมองแตก
ความรุนแรงและอาการของโรคเกี่ยวข้องกับบริเวณที่สมองขาดเลือด และความกว้างของส่วนที่ขาดเลือดอาจทำให้มีอาการชา อัมพฤกษ์ หรืออัมพาต ถ้ารุนแรงมากอาจเสียชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองก็มีหลายปัจจัย โดย โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ที่เป็นโรคอันตรายรองจากโรควูบ เพราะเกิดจากการตีบและแข็งตัวของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งในระยะแรกอาจไม่พบอาการผิดปกติ กระทั่งเส้นเลือดตีบมากขึ้นจึงเริ่มปรากฏอาการปวด จุกแน่นที่หน้าอก หากเป็นมากทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน อาการเจ็บหน้าอกจะทวีความรุนแรงมากขึ้นถึงขั้นหัวใจวาย ช็อกหรือหยุดเต้น ทำให้เสียชีวิตกะทันหันได้!!!
นอกจากนี้ยังมีโรคยอดฮิตไม่แพ้กันอย่าง โรคความดันโลหิตสูง
ทุกวันนี้ประชากรวัยผู้ใหญ่มากกว่า 20% ทั่วโลก กำลังเผชิญกับความทุกข์จากโรคความดันเลือดสูง ซึ่งปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากพันธุกรรมและวัยที่สูงขึ้น เจ้าความดันที่พุ่งกระฉูดนั่นเองทำให้เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจขาดเลือด และหัวใจล้มเหลว
โรคเบาหวาน เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด และเส้นเลือดตีบในสมอง ทั้งยังเป็นสาเหตุหลักที่ต้องสูญเสียอวัยวะ
ตามมาด้วยโรคแพ็คเก็ตคือโรคเบาหวาน เกิดจากระบบการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ โดยร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้อย่างเต็มที่ เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือมีภาวะการณ์ดื้อต่ออินซูลิน ผลที่ตามมาคือ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ มากเกินกว่าที่ท่อไตจะดูดซึมกลับได้ ร่างกายจึงขับน้ำตาลออกไปในปัสสาวะ หลายคนมักเข้าใจว่าเบาหวานเกิดจากกรรมพันธุ์เพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้ว ผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุง กลับเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานได้เช่นกัน
และ โรคอ้วนลงพุง คงไม่ต้องอธิบายกันมาก เพราะขณะนี้คนไทยกว่า 29% กำลังเผชิญต่อโรคอ้วนลงพุง!!! ผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุง จึงมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด เพราะคนที่อ้วนลงพุงจะมีไขมันสะสมในช่องท้องปริมาณมาก ยิ่งรอบพุงมากเท่าไหร่ ยิ่งสะสมในช่องท้องมากเท่านั้น ไขมันที่สะสมนี้จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับ มีผลให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเกิดเป็นภาวะ “อ้วนลงพุง”
จะทราบได้อย่างไรว่าอ้วนลงพุงแล้ว ก็สามารถนำดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสองหากใครมีค่าอยู่ระหว่าง 18.5-24.9 กิโลกรัม/ตารางเมตร ถือว่าปกติ แต่ถ้าใครมีค่ามากกว่า ก็มีความภาวะเสี่ยงเช่นกัน
สุดท้ายคงเป็นความเครียด ทำให้เกิดโรคเครียดและผลของความเครียด ทำให้สมองเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย
ดังนั้นก่อนอื่นต้องจัดการกับความเครียดก่อน ด้วยการอย่าเข้าหาความเครียด ต้องมีวิธีรับรู้ความเครียด และรับรู้อย่างเป็นระบบ นั่นคือปัญหาอยู่ที่ไหน ก็แก้ที่นั่น และหาวิธีบำบัดความเครียด เช่น ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่เหมาะสม และตรวจสุขภาพเป็นระยะ
ส่วนการดูแลสุขภาพไม่ให้ป่วยเป็นโรคมิตรสหายโรคเรื้อรังเหล่านี้จะต้องจัดระบบงานที่เหมาะสม โดยระยะเวลาการทำงานต้องไม่ควรทำมากกว่า 48 ชั่วโมง/สัปดาห์ มีเวลาพักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจเฝ้าระวังทางสุขภาพเป็นประจำ
สุขภาพดีไม่มีขาย ใครอยากได้ต้องทำเอง มีเงินซื้อไม่ได้ เป็นผู้บริหารหรือลูกจ้างธรรมดา ก็สามารถสร้างสุขภาพที่ดีได้เท่าเทียมกัน
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update : 01-09-51