7 หน่วยงานเซ็นเอ็มโอยูดูแลแรงงานนอกระบบ
กระทรวงแรงงาน ร่วมกับ 6 หน่วยงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อการส่งเสริมป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ
แฟ้มภาพ
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ กระทรวงแรงงาน ร่วมกับ 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อการส่งเสริมป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่โรงแรมปริ้นพาเลซ
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) จะเข้าไปให้ความรู้กับแรงงานนอกระบบที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ในการดูแลสุขภาพอนามัย และความปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดโรคและอุบัติเหตุจากการทำงาน โดยเฉพาะในเรื่องของสภาพแวดล้อมในการทำงานและการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง อีกทั้ง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะร่วมกับ สปสช.กำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดในการตรวจสุขภาพสำหรับแรงงานในกลุ่มอาชีพเสี่ยงและสำหรับอายุของแรงงานที่แตกต่างกัน เนื่องจากช่วงอายุมีความเสี่ยงเกิดโรคไม่เท่ากัน
ด้าน ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส.แถลงว่า ได้ร่วมมือกับเอกชนเข้าไปสนับสนุนโครงการนวัตกรรมส่งเสริมป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพ เช่น เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในโรงงาน เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรที่มีงานทำ 38.4 ล้านคน มีแรงงานนอกระบบกว่า 22.1 ล้านคน และยังพบว่าแรงงานกลุ่มนี้มีปัญหาโรคจากการประกอบอาชีพ โครงการนี้จึงนำร่องเพื่อพัฒนาระบบและการดูแลสุขภาพจากระดับนโยบายสู่ระดับปฏิบัติ ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค โดยแบ่งการดำเนินงาน 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ดำเนินการในแรงงานนอกระบบกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรที่มีความเสี่ยงต่อสารพิษกำจัดศัตรูพืช กลุ่มแกะสลักหินเสี่ยงปอดฝุ่นหิน กลุ่มคนเก็บและคัดแยกขยะ กลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ และกลุ่มตัดเย็บผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้าที่เสี่ยงต่อฝุ่นฝ้ายโดยมีเป้าหมาย 620,000 ราย ระยะที่ 2 จะขยายให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญทุกกลุ่มที่มีประมาณ 10.5 ล้านคน ภายในปี 2563 และระยะที่ 3 จะขยายการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและบริการอาชีวอนามัยที่มีคุณภาพในแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพที่มีกว่า 22.1 ล้านคน ภายในปี 2564
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ