7 จุดเสี่ยง พบเชื้อโรคในห้องน้ำ
ที่มา : MGR Online
แฟ้มภาพ
สธ.รณรงค์ "ล้างส้วม" สถานที่ท่องเที่ยว-สาธารณะ พร้อมกันทั่วประเทศ 1-7 เม.ย. เน้น 7 จุดเสี่ยงอันตรายพบเชื้อโรคบ่อย พร้อมส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกวิธี รองรับการเดินทางท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี จะมีชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวหรือกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก สธ.ได้ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันรณรงค์ล้างส้วมพร้อมกัน…รับวันสงกรานต์ และพัฒนาส้วมสาธารณะในสถานที่ท่องเที่ยวและที่สาธารณะ ให้สะอาด ได้มาตรฐาน เพียงพอให้บริการ โดยเชิญชวนเจ้าของสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศทำความสะอาดส้วมพร้อมกัน ในวันที่ 1 – 7 เม.ย. เพื่อให้ผู้เดินทางใช้บริการส้วมสาธารณะอย่างมีความสุข ปลอดภัย
โดยเน้นใน 7 จุดเสี่ยงอันตราย ที่พบตรวจเชื้อโรค ได้แก่ ที่จับสายฉีดน้ำ พบเชื้อโรคมากสุดถึงร้อยละ 85 บริเวณพื้นห้องส้วม ที่รองนั่งโถส้วม ที่กดโถส้วมและโถปัสสาวะ ที่เปิดก๊อกอ่างล้างมือ และกลอนประตูหรือลูกบิด รวมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกวิธีคือ ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ ไม่ทิ้งวัสดุลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม
“ผลสำรวจของกรมอนามัย พบว่า ส้วมสาธารณะที่ประชาชนเลือกใช้บริการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ส้วมห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 87 ส้วมปั๊มน้ำมันร้อยละ 73 สถานที่ท่องเที่ยวร้อยละ 59 แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการใช้ส้วมขณะเดินทางท่องเที่ยว จึงต้องพัฒนาส้วมให้ได้มาตรฐาน ซึ่ง สธ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาส้วมสาธารณะไทย 12 ประเภท ให้ผ่านมาตรฐานแฮส (HAS) คือ สะอาด (Health) เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) พบว่า มีส้วมสาธารณะผ่านเกณฑ์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 71 ในปี 2558 โดยส้วมสาธารณะในแหล่งท่องเที่ยวผ่านเกณฑ์ร้อยละ 74” รมว.สธ. กล่าว
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น สธ. จึงร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ พัฒนาให้ส้วมสาธารณะใน 12 เมืองต้องห้ามพลาด และ 12 เมืองต้องห้ามพลาด พลัส (เมืองคู่แฝด) ได้มาตรฐาน HAS… Happy Toilet เช่นกัน นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ปรับปรุงส้วมในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของจังหวัดผ่านมาตรฐาน HAS…Happy Toilet อย่างน้อย 3 แห่ง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของจังหวัดและประเทศ รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทพัฒนาส้วมไทยในอนาคต รองรับสังคมผู้สูงอายุที่คาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 หรือ 14.5 ล้านคนในปี 2568 มุ่งเน้นให้สถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สาธารณะต่าง ๆ มีส้วมผู้พิการพร้อมใช้งาน มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกตามกฎหมายกำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุและผู้พิการอย่างทั่วถึง
ด้าน นางกอบกาญจน์ สุริยสัตย์ วัฒนวรางกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงพยายามสร้างเครือข่ายกับองค์กรภาครัฐ เอกชน และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้มีห้องน้ำสาธารณะที่สะอาด ได้มาตรฐานในแหล่งท่องเที่ยว ทั้งมาตรฐาน HAS ของ สธ. และห้องน้ำสาธารณะสะอาดเพื่อการท่องเที่ยว (WCOK) ของกระทรวง ซึ่งปีที่ผ่านมา มีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมโครงการถึง 784 องค์กร และมีห้องน้ำผ่านเกณฑ์ถึง 151,952 ห้อง ในปี 2559 ตั้งเป้าความร่วมมือเพิ่มอีกร้อยละ 5 ในเครือข่ายห้องน้ำสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยว พร้อมกันนี้ ยังจัดอบรมสัมมนาใน 12 เมืองต้องห้าม…พลาด 12 เมืองต้องห้าม…พลาด Plus และเขตพัฒนาการท่องเที่ยว รวมผู้อบรม 1,500 คน ทั้งหลักสูตรการบริหารจัดการภาพลักษณ์ห้องน้ำเพื่อการท่องเที่ยว และหลักสูตรการเป็นเจ้าบ้านที่ดีเพื่อรองรับการท่องเที่ยวอาเซียน