‘7องค์กร’ ลงนาม MOU จัดมุมนมแม่ในที่ทำงาน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'7องค์กร' ลงนาม MOU จัดมุมนมแม่ในที่ทำงาน thaihealth


เมื่อลูกน้อยเกิดมา เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมต้องการเห็นพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ของลูก ซึ่งสิ่งแรกที่ลูกควรได้รับคือ "นมแม่" เพราะทำให้เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ มีภูมิต้านทานและลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ และเสริมสร้างพัฒนาการสติปัญญาสมอง ไอคิว อีคิว ให้แก่เด็กได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้ดื่มนมจากอกแม่อีกด้วย


ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามที่จะสนับสนุนให้คุณแม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง แม้จะเลยกำหนดวันลาคลอดไปแล้ว ด้วยการเตรียมน้ำนมในสถานที่ประกอบการที่ทำงานอยู่ได้


ล่าสุด มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ  ระหว่างกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, สภาการพยา บาล, องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบกิจ การมีสวัสดิการมุมนมแม่ และมีนโยบายที่อนุญาตให้พนักงานหญิงมีเวลาพักเพื่อบีบเก็บน้ำนมได้ อันเป็นสวัสดิการสำคัญที่จะช่วยให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง


'7องค์กร' ลงนาม MOU จัดมุมนมแม่ในที่ทำงาน thaihealthโดยมีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธาน จัดขึ้นที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุง เทพฯ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา


ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2555 พบว่ามารดาไทยที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน มีเพียงร้อยละ 12.3 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก  สาเหตุสำคัญมาจากการที่มารดาไทยต้องทำงานนอกบ้าน ในขณะที่สภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานไม่เอื้อต่อการบีบเก็บน้ำนม ดังนั้นกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จึงริเริ่มทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบการกิจการ ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน สามารถผลักดันให้เกิดมุมนมแม่ในสถานประกอบการกิจการ จำนวน 1,026 แห่ง โดยมีต้นแบบมุมนมแม่ จำนวน 47 แห่งใน 17 จังหวัด และมีศูนย์เรียนรู้จำนวน 5 แห่งใน 3 จังหวัดที่สามารถเป็นแหล่งศึกษาดูงานและทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานประกอบกิจการใหม่ๆ ที่สนใจดำเนินการในเรื่องนี้ จากการเก็บข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในบริษัทที่เข้าร่วมโครงการสร้างงานดี ชีวีมีสุข ด้วยนมแม่ จำนวน 17 แห่ง พนักงานให้ข้อมูล 885 คน พบว่ามีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนถึงร้อยละ 27.9 ในปี 2559


นางพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการถือเป็นความท้าทาย เพราะประเทศไทยมีสถานประกอบกิจการถึง 400,000 แห่ง จึงต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้ผู้หญิงวัยทำงานมีโอกาสได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ในอัตราที่สูงขึ้น


"การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จัดได้ว่าเป็นการรวมพลังของทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนกลไกการสนับสนุน และส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้หญิงวัยทำงาน และคุณภาพชีวิตของเด็กแรกเกิด อันจะนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศอย่างยั่งยืนและเกิดเป็นรูปธรรมในระยะยาว" อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกล่าว


แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทั้ง 7 องค์กรที่มาร่วมลงนามความ'7องค์กร' ลงนาม MOU จัดมุมนมแม่ในที่ทำงาน thaihealthร่วมมือในวันนี้ ต่างเล็งเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะจะนำไปสู่การพัฒนาเด็กซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ แต่ละองค์กรจะให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และดำเนินการ เช่น สภาการพยาบาล จะช่วยพัฒนาศักยภาพพยาบาลวิชาชีพในสถานประกอบกิจการ และ  สสส. จะช่วยประสานกับองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่


นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า นมแม่เป็นอาหารชั้นยอดที่มีคุณค่ามากที่สุดต่อการพัฒนาทางร่างกายและสมองของทารก โดยที่ไม่มีอาหารอื่นใดจะเทียบเคียงได้ เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ แม่ที่ต้องไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นที่โรงงานหรือสำนักงาน ต้องมีเวลาและมีมุมนมแม่ที่ทำให้พวกเธอสามารถมาบีบเก็บน้ำนมในระหว่างวันได้


"เรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกภาคส่วนของสังคมที่จะต้องมาร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนให้แม่ที่ต้องไปทำงานสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีที่สุดให้แก่เด็กๆ ของเรา ครอบครัวของเรา และประเทศของเรา" ผู้แทนองค์การยูนิเซฟกล่าว


ด้วยประโยชน์ของนมแม่ดังที่กล่าวมา จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต่างๆ ควรจะสนับสนุนให้มีมุมเป็นสัดเป็นส่วนสำหรับพนักงานหญิงสามารถบีบเก็บน้ำนมและนำไปให้ลูกน้อยได้


'7องค์กร' ลงนาม MOU จัดมุมนมแม่ในที่ทำงาน thaihealth


นมแม่ดีที่สุด


องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า นมแม่ คืออาหารที่ดีที่สุด มีคุณค่าทั้งด้านโภชนาการและภูมิต้านทานโรคที่ธรรมชาติมอบให้แม่เพื่อเลี้ยงดูลูกเพื่อให้เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ตามหลักสิทธิมนุษยชนเด็กจะได้รับการคุ้มครองเลี้ยงดูด้านอาหารและสุขภาพอย่างเหมาะสม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิทธิอันชอบธรรมของทั้งแม่และลูก องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ทารกควรได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และได้รับนมแม่ต่อเนื่อง ควบคู่กับอาหารเสริมที่ปลอดภัย มีคุณค่าและเหมาะกับอายุ ตั้งแต่เดือนที่ 6 จนลูกอายุ 2 ขวบ หรือนานกว่านั้น


องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization) ประกาศใช้อนุสัญญาฉบับที่ 183 ค.ศ.2000 สาระสำคัญ คือ ข้อ 1 ลูกจ้างมีสิทธิลาคลอดได้ไม่น้อยกว่า 14 สัปดาห์ โดยได้รับสิทธิประโยชน์เป็นตัวเงินตามกฎหมายภายในประเทศกำหนด


ข้อ 2 ลูกจ้างหญิงต้องได้รับสิทธิที่จะพักเพื่อให้นมบุตรวันละครั้งหรือมากกว่านั้น หรือลดชั่วโมงการทำงานในแต่ละวันเพื่อให้นมบุตร และข้อ 3 ระยะเวลาพักหรือลดชั่วโมงการทำงานในแต่ละวันหรือให้นมบุตร ตลอดความถี่และความยาวนานจะกำหนดตามกฎหมายและแนวปฏิบัติของประเทศ ระยะเวลาพักนับเป็นเวลาทำงานและจ่ายค่าตอบแทนตามปกติด้วย


อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาฉบับนี้ แต่กระทรวงแรงงานได้ส่งเสริมแนะนำสถานประกอบกิจการ จัดให้มีสถานที่สำหรับมุมนมแม่อย่างเป็นสัดส่วนเฉพาะในสถานประกอบกิจการ เพื่อสนับสนุนให้แรงงานสตรีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ด้วยการผลักดันให้เกิดมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ.

Shares:
QR Code :
QR Code